posttoday

ยธ.เผย 5 คดีไม่เข้าข่ายใช้บัตรประชารัฐขอเงินกองทุนฯประกันตัว

25 สิงหาคม 2562

"สมศักดิ์"เผย 5 คดียกเว้นไม่เข้าเงื่อนไขใช้บัตรประชารัฐขอเงินกองทุนยุติธรรมประกันตัว ด้านราชทัณฑ์ชี้แก้นักโทษล้นคุกได้ ส่วนต้องติดกำไลอีเอ็มหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจศาล

"สมศักดิ์"เผย 5 คดียกเว้นไม่เข้าเงื่อนไขใช้บัตรประชารัฐขอเงินกองทุนยุติธรรมประกันตัว ด้านราชทัณฑ์ชี้แก้นักโทษล้นคุกได้ ส่วนต้องติดกำไลอีเอ็มหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจศาล

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.62 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม (ยธ.) เปิดเผยถึงการนำเงินกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือผู้ต้องขังที่ยากจนให้ได้รับการประกันตัวว่า ญาติผู้ต้องขังที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรประชารัฐ) และได้รับความเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมในการประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ โดยมีเงื่อนไขคือ จะต้องเป็นผู้ต้องขังที่มีฐานะยากจน และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ยกเว้น คดีฉ้อโกงประชาชนที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก คดีความมั่นคง คดีค้ามุนษย์ คดียาเสพติด และ คดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือคดีสำคัญที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมได้ทันที เพราะเข้าหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือ แต่การได้รับหรือไม่ได้รับการประกันตัวเป็นดุลพินิจของศาลยุติธรรม ส่วนงบประมาณขณะนี้ยังมีเหลืออยู่ แต่หากไม่เพียงพอก็สามารถของบจากรัฐบาลเพิ่มได้

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ต้องขังบางคนไม่มีเงินประกันตัวก็ถูกขัง ไม่มีอิสรภาพ รัฐเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ต้องขังต่อคนต่อปีสูงถึง 21,000 บาท หากมีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (กำไลอีเอ็ม)มาใช้กับผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ เนื่องจากมีต้นทุนเพียงหมื่นกว่าบาท หากบริหารจัดการดีก็ถือว่าคุ้มค่ากว่า เพราะสามารถลดต้นทุนลงได้เกือบหนึ่งเท่า

ขณะที่พ.ต.อ ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า โดยหลักการในการแก้ปัญหานักโทษล้นคุก โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ต้องขังที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และยังอยู่ระหว่างการฝังขังของศาล อัยการ หรือในชั้นศาลฎีกา ตามรัฐธรรมนูญยังถือว่าคนเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากมีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยนำเงินกองทุนยุติธรรมมาวางประกันเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังยากจน เพื่อลดปัญหาความแอดอัดของผู้ต้องขังระหว่าง ก็สามารถทำได้และถือเป็นความคิดที่ดี สำหรับการนำเงินกองทุนยุติธรรมจำนวน 300 ล้านบาทมาใช้ในการประกันตัวผู้ต้องขังยากไร้ที่อยู่ในเงื่อนไช จะช่วยผู้ต้องขังได้จำนวนมาก

พ.ต.อ ณรัชต์ กล่าวอีกว่า สำหรับการสำรวจผู้ต้องขังยากจนระหว่างสู้คดีว่าปัจจุบันมีจำนวนเท่าใดนั้นทางเรือนจำมีตัวเลขอยู่แล้ว ส่วนหลังจากหากมีการใช้เงินกองทุนยุติ ธรรมออกมาสู้คดีแล้วจำเป็นจะต้องใส่กำไลอีเอ็มหรืออุปกรณ์ติดตามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล บางรายที่เป็นคดีหนักๆอาจจะต้องใส่ แต่สำหรับคดีลหุโทษก็อาจไม่ต้องใส่ เชื่อว่าศาลคงต้องพิจารณาความหนักเบาของโทษในผู้ต้องหาแต่ละรายด้วย