posttoday

กสม.ปลื้มรมว.สธ.-รมช.กษ.ประกาศจุดยืนยกเลิก"พาราควอต"

16 สิงหาคม 2562

เลขาธิการกสม.ปลื้มรมว.สธ.-รมช.กษ.ประกาศจุดยืนยกเลิก"พาราควอต"ชงข้อเสนอแนะการคุ้มครองสิทธิในการมีสุขภาพดีของประชาชน

เลขาธิการกสม.ปลื้มรมว.สธ.-รมช.กษ.ประกาศจุดยืนยกเลิก"พาราควอต"ชงข้อเสนอแนะการคุ้มครองสิทธิในการมีสุขภาพดีของประชาชน

นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว. สธ.) และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช. กษ.)ประกาศสนับสนุนการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ภายในปี 62 ว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารในรัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งการใช้สารเคมีทั้ง ๓ ชนิด ในภาคการเกษตรมีความเกี่ยวพันโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยและวิถีชีวิตของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัย และมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี

ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนในประเด็นการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตราย เช่น พาราควอต
ต่อคณะรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย แล้ว โดยเสนอให้กำหนดให้พาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 18 คือ ห้ามมิให้ มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง

นายโสพล กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความชัดเจนในการห้ามใช้สารเคมีพาราควอต เช่น สหภาพยุโรป ศาลแห่งสหภาพยุโรปมีคำสั่งยกเลิกการใช้พาราควอต เนื่องจากข้อกังวลด้านสุขภาพและการประเมินความปลอดภัยในสารเคมี ส่วนสหรัฐอเมริกา มีการฟ้องร้องเป็นคดีเกี่ยวเนื่องกับอันตรายต่อสุขภาพที่สืบเนื่องจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีส่วนประกอบของพาราควอต และศาลพิพากษาให้บริษัทที่ผลิตและจำหน่ายสารเคมีดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายเนื่องด้วยพยานหลักฐานชี้ชัดว่าปัญหาสุขภาพเกิดจากสารเคมี ทางการเกษตรดังกล่าวจริง ในทวีปเอเชีย ประเทศที่ห้ามใช้แล้ว เช่น กัมพูชา จีน คูเวต ลาว เกาหลีใต้ ศรีลังกา ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศที่จำกัดการใช้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว แต่เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลในขณะนี้ ได้ประกาศจุดยืนในการยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิด

“แม้ปัจจุบันยังมีข้อโต้แย้งและไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่น พาราควอต เป็นอันตรายต่อชีวิตหรือไม่ แต่ในมุมสิทธิมนุษยชนแล้ว สิทธิการมีชีวิตอยู่และการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การดำเนินการใดที่จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงและเอื้อให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพและได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ถือเป็นการดำเนินการที่รัฐสมควรกระทำ ดังนั้น สำนักงาน กสม. จึงขอสนับสนุนการยกเลิกการใช้สารเคมีที่อาจเป็นอันตรายดังกล่าว และขอแสดงความชื่นชมต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีนโยบายชัดเจนในเรื่องดังกล่าว โดยหวังว่ารัฐบาลจะได้นำข้อเสนอแนะของ กสม. ไปพิจารณาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นายโสพล กล่าว