posttoday

ท่องเที่ยว-อพท.ผนึก จุฬาฯรุกพัฒนาท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

07 สิงหาคม 2562

กระทรวงท่องเที่ยว อพท. และจุฬาฯจับมือสร้างเครือข่ายพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ปักหมุดน่านและอันดามันพื้นที่ต้นแบบ

กระทรวงท่องเที่ยว อพท. และจุฬาฯจับมือสร้างเครือข่ายพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ปักหมุดน่านและอันดามันพื้นที่ต้นแบบ

เมื่อวันที่ 7 ส.ค.นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. และ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน “โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ท่องเที่ยว-อพท.ผนึก จุฬาฯรุกพัฒนาท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การลงนาม
ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของจุฬาฯ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่นและชุมชน โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก

ทั้งนี้ โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Development of Creative Tourism) เป็นหนึ่งในชุดโครงการแผนพัฒนาวิชาการ “สร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2” ของจุฬาฯ โดยสถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับนักวิจัยจากสหสาขาวิชาจาก 11 คณะ และสถาบัน บูรณาการศาสตร์ ความรู้และความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ประกอบด้วย ชุดโครงการที่ 1 การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดน่าน และ ชุดโครงการที่ 2 การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสังคมพหุวัฒนธรรม มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่เดือนก.พ. 2562 ถึงเดือนก.พ.2565 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน จำนวน 54.4 ล้านบาท

“การลงนามครั้งนี้ เป็นการสร้างมิติความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนบนฐานทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่มีอยู่ ยกระดับพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนพื้นฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคธุรกิจและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนและการกระจายรายได้สู่ชุมชน ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและสังคมไทย”ดร.บัณฑิตกล่าว

ท่องเที่ยว-อพท.ผนึก จุฬาฯรุกพัฒนาท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ มีความสอดคล้องกับแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยว ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งได้กำหนดแนวทางหนึ่งในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายการกระจายรายได้สู่พื้นที่เมืองรอง โดยเฉพาะการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพิ่มรายได้ให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่กระทรวงฯ จะต้องเร่งขับเคลื่อนในระยะ 5 ปีแรก

“เป้าหมายภายใต้แผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญประเด็นหนึ่ง คือ สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวพื้นที่เมืองรองเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จึงเป็นการดำเนินการพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชนอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เมืองรอง ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน เกิดเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ยังสามารถต่อยอดเป็นสินค้าที่ระลึกของชุมชน เกิดการกระจายรายได้เข้าสู่เศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ใหม่” รองปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯกล่าว

ท่องเที่ยว-อพท.ผนึก จุฬาฯรุกพัฒนาท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ด้าน นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า อพท. มีภารกิจหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น โดยมี “แผนขับเคลื่อน อพท. ระยะ 4 ปี (2562-2565)” ภายใต้วิสัยทัศน์“เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข”

อย่างไรก็ตาม อพท.มีพันธกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ 4 ประการ คือ 1.พัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2.พัฒนาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน 3.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน และ 4.บูรณาการร่วมกับทุกภาคีเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

“ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 16 ปีที่ผ่านมา อพท. ตระหนักดีว่า ชุมชนท้องถิ่นคือเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่แท้จริง และการท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ ผลประโยชน์จะต้องเกิดกับคนในชุมชน ดังนั้น การท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป”นายทวีพงษ์กล่าว

ท่องเที่ยว-อพท.ผนึก จุฬาฯรุกพัฒนาท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์