posttoday

ปสม.1 ระดมสมองหาทางออกปัญหาการสร้างศาสนสถาน

25 กรกฎาคม 2562

สถาบันพระปกเกล้าจัดเสวนาหาทางออกปัญหาการสร้างศาสนสถาน หลังพบมีปัญหาการสร้างมัสยิดในชุมชนพุทธใน จ.น่าน นักวิชาการชี้กฎหมายไม่ใช่ทางออก ต้องพูดคุยใช้เวลา และยอมรับจากชุมชน

สถาบันพระปกเกล้าจัดเสวนาหาทางออกปัญหาการสร้างศาสนสถาน หลังพบมีปัญหาการสร้างมัสยิดในชุมชนพุทธใน จ.น่าน นักวิชาการชี้กฎหมายไม่ใช่ทางออก ต้องพูดคุยใช้เวลา และยอมรับจากชุมชน

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 1 (ปสม.1) สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดสนทนากลุ่ม เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่อง “ดุลยภาพระหว่างสิทธิมนุษยชนกับสิทธิชุมชน: กรณีศึกษาการสร้างศาสนสถาน” โดยมี ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.ผกาวดี สุพรรณจิตวนา ประธานศูนย์ศึกษาสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งและสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมอภิปราย ณ สถาบันพระปกเกล้า

ปสม.1 ระดมสมองหาทางออกปัญหาการสร้างศาสนสถาน

น.อ.หญิง ดร.ชญาดา เข็มเพชร นักศึกษา ปสม.1 กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่สิทธิมนุษยชนถูกขับเคลื่อนมานานมากกว่า เราได้คำนึงถึงสองสิทธิจึงได้ศึกษาเรื่องการสร้างศาสนสถานในพหุวัฒนธรรมเพื่อนำเสนอแนวทางถึงการอยู่ร่วมกันได้ โดยยกกรณีศึกษาการสร้างศาสนสถานในพื้นที่ จ.น่าน ซึ่งมีกรณีขัดแย้งระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม เนื่องจากชาวพุทธในพื้นที่ต่อต้าน เราจึงจำเป็นต้องหาข้อสรุปเพื่อหาทางออก

ดร.ผกาวดี กล่าวว่า ต้องร่วมกันหาทางออกและหาจุดสมดุลที่ทำให้ความแตกต่างอยู่ร่วมกันได้ ตนศึกษาเรื่องนี้มา 3-4 ปีโดยเฉพาะในภาคเหนือ โดยพูดคุยกับทั้งศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธว่าทำไมชาวบ้านถึงต่อต้านการสร้างมัสยิด ซึ่งจากการศึกษาในประเทศไทยและงานวิจัยต่างประเทศพบตรงกันว่า การสร้างความพึ่งพากันทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการพึ่งพากันในสังคม จะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันเกิดขึ้นได้อย่างถาวร

ทั้งนี้ วิวาทะประเด็นแรกคือคนไทยมีสิทธิที่จะสร้างศาสนสถานทุกศาสนาได้ตามกฎหมาย แต่ชุมชนดั้งเดิมจะยอมให้สร้างหรือไม่เป็นประเด็นที่สำคัญ เรื่องของพระราชบัญญัติการก่อสร้างอาคาร จะมีการผ่อนผันใช้เป็นศาสนสถานยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต แสดงว่าชาวบ้านที่ต้องการสร้างศาสนสถานก็ทำเรื่องไปตามกฎหมาย แต่ไม่ต้องไปขออนุญาตชุมชนหรือไม่ต้องขออนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเหมือนกันทุกศาสนา เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวบ้านจึงเกิดคำถามว่าทำไมไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และในที่สุดก็เกิดการต่อต้านการสร้างมัสยิดเหมือนที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ของ จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตนได้เข้าไปทำการศึกษ

ด้าน นางประกายรัตน์ กล่าวว่า มีการร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นนี้มาที่คณะกรรมการสิทธิฯจำนวนมากทั่วประเทศ ทั้งการสร้างวัดและสร้างมัสยิด ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯก็ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยจนบางคดีไปถึงศาลปกครองและบางคดีก็ไปสู่ศาลยุติธรรม เห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการได้พูดคุยและทำความเข้าใจกันหากยึดเรื่องสิทธิเพียงอย่างเดียว อาจจะเกิดปัญหา ที่สำคัญไม่ควรบังคับให้ชุมชนยอมรับ บางเจรจาให้เกิดการยอมรับต้องใช้เวลาในการพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ด้าน ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ความขัดแย้งลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น ยังเกิดขึ้นมากในยุโรป ในความเป็นจริงไทยจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ดีประเทศหนึ่งของโลก ทั้งนี้สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนไม่ได้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สิทธิมนุษยชนคือเสรีภาพในความเชื่อ แต่การปฏิบัติตามความเชื่อมีข้อจำกัดต้องตั้งประเด็นว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร การสร้างศาสนสถานมีข้อยกเว้นทางกฎหมายเป็นมิติที่เปิดกว้าง แต่ก็ควรได้รับความเห็นชอบจากชุมชนด้วย แนวทางปฏิบัติของรัฐในกรณีที่เกิดตวามขัดแย้ง รัฐไม่ควรใช้อำนาจเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่รับเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชน

ทั้งนี้ ในเวทีเสวนายังได้เชิญผู้นำศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ และชาวบ้านในพื้นที่ จ.น่าน มาร่วมเวทีด้วยพร้อมกับแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยกลุ่มนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้ากำลังรวบรวมรายละเอียด เพื่อเสนอต่อหลักสูตรเพื่อหาข้อสรุปเป็นทางออกของความขัดแย้งต่อไป