posttoday

ผู้แทนไทยร่วมประชุมเวทีแรงงานโลกที่นครเจนีวา

19 มิถุนายน 2562

รองปลัดกระทรวงแรงงานพร้อมผู้แทนแรงงานไทยขึ้นเวทีโชว์วิสัยทัศน์ในที่ประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ย้ำรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับแรงงานทุกระดับ

รองปลัดกระทรวงแรงงานพร้อมผู้แทนแรงงานไทยขึ้นเวทีโชว์วิสัยทัศน์ในที่ประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ย้ำรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับแรงงานทุกระดับ

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เข้าร่วมประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สมัยที่ 108 โดยมีนายมานะ คุ้มกระโทก ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมด้วย ณ ห้องสมัชชาใหญ่สานักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทสวิตเซอร์แลนด์

ผู้แทนไทยร่วมประชุมเวทีแรงงานโลกที่นครเจนีวา

นายสุรเดช ได้ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 1 ศตวรรษของ ILO และขอชื่นชมผู้อานวยการใหญ่สาหรับข้อริเริ่มแห่งศตวรรษ และคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยอนาคตของงานสำหรับรายงาน “งานเพื่ออนาคตอันโชติช่วง” ที่เสนอ “วาระคนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งไทยเห็นด้วยกับวาระดังกล่าวที่ได้วางรากฐานไว้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 โดยบรรจุเป็นหลักการสาคัญครั้งแรกในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และได้สานต่อมาจนปัจจุบัน โดยยุทธศาสตร์ชาติได้เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 หรือฉบับปัจจุบัน และกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ20 ปี ค.ศ.2017 -2036 เพื่อขับเคลื่อนประเทศและเตรียมประชาชนเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่และเข้มแข็งของยุคไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้ ไทยเห็นด้วยว่า “วาระคนเป็นศูนย์กลาง” ควรอยู่บนหลักการ3 เสา ได้แก่ การลงทุนด้านศักยภาพคน,กฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับงาน และงานที่มีคุณค่าและยั่งยืน ว่าเป็นกุญแจที่สาคัญของการเดินทางสู่อนาคตของงานที่เป็นธรรมและเท่าเทียม นอกจากนี้ความเป็นหุ้นส่วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ คือหัวใจของความพยายามทั้งมวลเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายสุรเดช กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมกำลังแรงงานให้มีทักษะ มีการพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือ โดยจัดการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต และให้หลักประกันว่ามีการพัฒนาฝีมือแรงงานจริงและทุกคนเข้าถึงได้ อีกทั้งยังมีมาตรการจูงใจด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมและการศึกษา ผู้ประกอบการสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ถึงร้อยละ200 หรือสองเท่าเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรมและการศึกษาของพนักงาน

สำหรับ กฎระเบียบเกี่ยวกับงาน เมื่อเรามองย้อนหลังไป 1 ปี รัฐบาลไทยได้พัฒนาสิทธิในการทางาน
ส่งเสริมผลิตภาพและการประกอบการรวมทั้งโอกาสในการมีงานทำแก่ทุกคน ขยายประโยชน์ทดแทนด้านประกันสังคม และดำเนินการด้านการคุ้มครองทางสังคมแก่ทุกคน อันให้หลักประกันได้ว่าสถานประกอบการทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและปกป้องสิทธิแรงงาน

นายสุรเดช กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2562 ไทยได้มอบสัตยาบันสารการให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยงานประมง เป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว ยิ่งกว่านั้น เราได้พยายามอย่างจริงจังในการปรับปรุงกฎหมายของประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญา
ของ ILO อันแสดงถึงความตั้งใจที่แท้จริงในการยกระดับการอนุวัติการของการคุ้มครองแรงงานสู่มาตรฐานระหว่างประเทศ เมื่อเดือนพ.ค.ปีนี้ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง อันแสดงถึงความแน่วแน่ในการคุ้มครองแรงงานทุกคนในภาคประมง ขณะที่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน เพื่อขยายขอบเขตการคุ้มครองสู่แรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบ ได้แก่ เกษตร ป่าไม้ ประมง และปศุสัตว์

นอกจากนั้น ประเทศไทยมุ่งมั่นในการนำวาระ ค.ศ. 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปฏิบัติโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 8 เราได้จัดการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์เพื่อดำเนินแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ระยะ 3 ปี ระหว่างการจัดงานถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมงทั่วโลกเพื่อฉลองอายุครบรอบ 100 ปีของ ILO และโอกาสเดียวกันได้จัดการประชุมเจรจาไตรภาคีระดับชาติเพื่อเผยแพร่รายงาน “Work for a brighter future” และได้รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

อีกทั้ง ประเทศไทยให้ความสาคัญกับเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึง 3 เสาหลัก ตามหลักการสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) ได้แก่ ความคุ้มครอง ความเคารพ และการเยียวยา เพื่อสนับสนุน 3 เสาหลักดังกล่าว ประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะชี้นำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตามหลักการของ UNGP โดยขอย้ำว่า รัฐบาลไทยได้เร่งรัดการดำเนินการเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของสัญญาประชาคม เราสัญญาว่า จะร่วมมืออย่างเต็มที่กับ ILO และทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศนับแต่วันนี้เพื่อการเดินทางต่อไปข้างหน้าสู่อนาคตของงานที่โชติช่วงขึ้นแก่ทุกคน

ด้านนายมานะ คุ้มกระโทก ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ILO ในนามผู้แทนแรงงานของประเทศไทยขอร่วมแสดงความยินดีกับสมาชิกคนอื่นของ ILO ตนต้องการแบ่งปันมุมมองว่า งานหลายประเภทที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในไม่ช้า แรงงานจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองเพื่อตอบสนองยุคใหม่ของทักษะในอนาคตและเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น Big Data, Internet of Things (IoT), AI, งาน 3D ในปัจจุบันบริษัทมีความต้องการลดจำนวนลูกจ้างให้น้อยลง เพราะนำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ยังมีงานอีกหลายประเภทที่ไม่สามารถแทนที่แรงงานด้วยเทคโนโลยีได้ เช่น งานฝีมือหรือผลิตภัณฑ์ต้องทำด้วยมือ ซึ่งยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งชื่นชมงานสร้างสรรค์มากกว่าการผลิต ในฐานะแรงงานมีมุมมองต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการในการรับมือกับหลาย ๆ ด้านที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การว่างงานในประเทศ การสร้างงานและอื่น ๆ ยิ่งกว่านั้นมาตรการเหล่านี้จะต้องยั่งยืนและปลอดภัยสำหรับแรงงานทุกคน