posttoday

อันไหนกินดี-ไม่ดี! เปิด “อาหารและเครื่องดื่ม” ที่ผู้ป่วยซึมเศร้าควรรู้

18 มิถุนายน 2562

โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ระบุอาหาร 5 กลุ่ม 2 น้ำสมุนไพร กินแล้วอารมณ์ดีต้านโรคซึมเศร้า แนะเลี่ยงของหวานจัด ไส้กรอก ถั่วปากอ้า ชา กาแฟ น้ำอัดลม อาจทำปฏิกิริยาขวางการดูดซึมยารักษา

โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาระบุอาหาร 5 กลุ่ม 2 น้ำสมุนไพร กินแล้วอารมณ์ดีต้านโรคซึมเศร้า แนะเลี่ยงของหวานจัด ไส้กรอก ถั่วปากอ้า ชา กาแฟ น้ำอัดลม อาจทำปฏิกิริยาขวางการดูดซึมยารักษา

นพ. กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา รายงานว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วประเทศมีประมาณ 1.4 ล้านคน โดยเฉพาะ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์และจ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ 66 ขณะที่จำนวนที่เหลือประมาณร้อยละ 30-40 เป็นผู้ที่มีอาการซึมเศร้าที่ยังไม่เข้ารักษาตัว ขอให้รีบไปรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อหายจากความทรมาน

และทั้งนี้ยังได้ให้ฝ่ายเชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจิตเวชฯ วิเคราะห์ประเภทอาหารที่เป็น ‘ผลดี’ และเป็น ‘ผลเสีย’ ต่อโรคซึมเศร้าและยาที่ใช้รักษา เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะฟื้นฟูอยู่ที่บ้านและขณะนี้มีการโฆษณาอาหารต่างๆ ผ่านทางสื่อจำนวนมาก อาหารบางอย่างอาจมีสารที่มีผลขัดขวางกับฤทธิ์ยารักษาโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งโรงพยาบาลจิตเวชฯ ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากเพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนใดๆ ซ้ำเติมผู้ป่วยอีก

นางจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการและหัวหน้ากลุ่มงานโภชนาการประจำโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า อาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรรับประทานเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพยารักษาของแพทย์ยิ่งขึ้น มี 5 กลุ่มและเครื่องดื่มอีก 2 ชนิด โดยอาหาร 5 กลุ่มประกอบด้วย

1. โอเมก้า 3 ได้แก่ เนื้อปลาต่างๆ อาทิ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ทูน่า ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวายเนื้อขาว เป็นต้น

2.ไข่ มีกรดอะมิโนที่สำคัญ โดยเฉพาะทริปโตเฟน(Tryptophan) และไทโรซีน (Tyrosine) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยสารทริปโตเฟนจะช่วยสร้างสารซีโรโทนิน (Serotonin)ทำให้อารมณ์ดี และยังเปลี่ยนให้เป็นเมลาโทนิน (Melatonin)ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

3.กลุ่มกล้วยจะมีแร่ธาตุโพแทสเซียมและมีสารทริปโตเฟน ช่วยบรรเทาให้ความดันโลหิตกลับสู่ภาวะสงบ ลดการเกิดภาวะเครียดและวิตกกังวล

4.กลุ่มคาร์โบไฮเดรทเชิงซ้อน อาทิ ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น จะช่วยสร้างสารซีโรโทนินในสมอง ช่วยให้ผ่อนคลาย และ

5. กลุ่มเห็ดทุกชนิด จะมีธาตุเซเลเนียม(Celenium )สูง ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุขลดอารมณ์ขุ่นมัวได้

ส่วนเครื่องดื่มที่เป็นผลดีกับอารมณ์คือเครื่องดื่มสมุนไพรซึ่งได้แก่ 'น้ำอัญชัน' เพราะในดอกอัญชันจะมีสารแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์กระตุ้นความจำ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความกังวลและช่วยให้นอนหลับ และ 'น้ำลำไย' ที่มีสาร 2 ชนิดคือกรดแกลลิก (Gallic acid) ทำให้อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และสารกาบาช่วยผ่อนคลายความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

อันไหนกินดี-ไม่ดี! เปิด “อาหารและเครื่องดื่ม” ที่ผู้ป่วยซึมเศร้าควรรู้

ขณะที่กลุ่มอาหารที่ผู้ป่วยซึมเศร้า ‘ห้ามรับประทาน’ เนื่องจากจะซ้ำเติมอาการป่วยหรือขัดขวางการดูดซึมยาที่รักษามี 2 ประเภทและเครื่องดื่มอีก 3 ชนิด โดยได้แก่

อาหารที่มีน้ำตาลสูง หวานจัด เนื่องจากอาหารที่มีน้ำตาลสูง ร่างกายจะดูดซึมได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด หากเผชิญเป็นประจำอาจจะนำมาสู่อาการหดหู่ซึมเศร้าได้

อาหารประเภทไส้กรอก และถั่วปากอ้า ซึ่งมีสารไทรามีนสูง สามารถทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด เช่น ยาเซเลจิลีน (Selegiline) จะส่งผลให้มีสภาวะความดันโลหิตสูงได้

ชา-กาแฟ เนื่องจากมีปริมาณคาเฟอีนสูง ทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หากดื่มเกินกว่า 2 แก้วต่อวัน จะทำให้ปริมาณคาเฟอีนในร่างกายสูง ทำให้วิตกกังวล ใจสั่นและเครียดเพิ่มขึ้น

น้ำอัดลมโดยเฉพาะน้ำอัดลมประเภทสีดำเนื่องจากมีทั้งปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลสูง รวมทั้งน้ำอัดลมประเภทสีดำและไดเอต เนื่องจากมีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้านประสาทวิทยาในต่างประเทศพบว่า กลุ่มผู้บริโภ

เครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล 4 กระป๋อง หรือ 4 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติ 3 เท่า ผู้ป่วยซึมเศร้าจึงควรเลี่ยงดื่มจะดีที่สุด

น้ำผลไม้บางชนิดเช่น น้ำในตระกูลส้ม เสาวรส น้ำองุ่นหรือเกรฟฟรุต เป็นต้น อาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษา ทำให้ตัวยาไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการรักษาเท่าที่ควร