posttoday

61 ยังเก๋า! “โย่ง เชิญยิ้ม” ชายผู้ไม่เคยปล่อยให้ไฟมอดไปจากชีวิต

12 มิถุนายน 2562

หมดไฟทำงาน? แวะลองอ่านเรื่องราว “น้าโย่ง เชิญยิ้ม” ดาวตลกวันเก๋าในวัย 61 ปี จำอวดเศรษฐีผู้นี้มีเคล็ดลับต่อยอดชีวิตดีๆ ให้เอาไปใช้สร้างตัว

หมดไฟทำงาน? แวะลองอ่านเรื่องราว “น้าโย่ง เชิญยิ้ม” ดาวตลกวันเก๋าในวัย 61 ปี จำอวดเศรษฐีผู้นี้มีเคล็ดลับต่อยอดชีวิตดีๆ ให้เอาไปใช้สร้างตัว

***************************

โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล

ภาวะหมดไฟในการทำงานกลายเป็นความสนใจของผู้คนหลังองค์กรอนามัยโลกประกาศเป็นหรือ ‘โรคเบิร์นเอาต์’ (burnout) ที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ ซึ่งเกิดจากการสั่งสมความเครียดของทำงานมาเป็นระยะเวลานานทำให้ รู้สึกหมดพลัง เหนื่อยล้า รู้สึกว่าจิตใจมีทัศนคติแง่ลบในงานและประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

เป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ในการทำวิจัยภาวะโรคหมดไฟนอกจากผลร้ายของสุดท้ายที่ตัวผู้ป่วยต้องออกจากงานที่นอกจากสูญเสียผลทางด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ ยังส่งผลต่อจิตใจผู้ป่วยพัฒนาอาการกลายเป็นโรคซึมเศร้า

ทว่าเราสามารถดูแลตัวเองได้ก่อนที่จะป่วยหมดไฟ นี่คือคำยืนยันจาก  “พิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา” หรือ “น้าโย่ง เชิญยิ้ม” ดาวตลก อดีตลิเกและนักฉ่อยเพลงชื่อดัง วัย 61 ปี ที่วันนี้แม้จะก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ แต่ก็ยังดำเนินชีวิตแบบสุดแอคทีฟราวกับวัยรุ่น

61 ยังเก๋า! “โย่ง เชิญยิ้ม” ชายผู้ไม่เคยปล่อยให้ไฟมอดไปจากชีวิต

คำตอบที่ 'ใช่' มาจากคำถามที่ถูก

“50 กว่าปี บนเส้นทางการแสดงตลอดจนถึง ณ วันนี้ ที่กำลังมีคอนเสิร์ตใหญ่คุณพระช่วย วันที่ 9-12 เดือนสิงหาคมหน้านี้ มันเกิดจากจุดเริ่มต้นที่ชอบที่สะสมตั้งแต่เด็กที่ได้ทำให้ใครมีความสุขหรือมีรอยยิ้มบนหน้าเขาและพอเขายิ้มหรือหัวเราะ มันตอบเราแล้วว่าเขามีความสุขเมื่อเราเห็นเขามีความสุข เราก็มีความสุขด้วย มันก็เลยเป็นอยากจะสร้างแบบนี้ตลอด” ตลกรุ่นใหญ่ในวัย 61 ปี ต้อนรับด้วยคำกล่าวอย่างคนเข้าใจโลกและจากการผ่านคืนวันชีวิตเรี่ยดินสู่ดาวบนฟ้าและยังคงจรัสแสง

“คือพอเราเริ่มในสิ่งที่ตรงกับตัวมันก็จะมีอะไรอื่นๆ เพิ่มเข้ามาไม่หยุดและไม่ทำให้เราเบื่อหรือหมดไฟ” เขาบอก และเล่าต่อทันทีถึงไฟที่ว่าได้พัดให้ลุกขึ้น ณ จ.พิษณุโลก อ.วังทอง ต.ชัยนาม หมู่บ้านบึงพร้าว ที่อดีตลูกชาวนาโตมากับตะกร้าสานและรวงข้าวท่ามกลางเสียงเพลงฉ่อยก่อนเป็นตลกดังเบอร์ต้นเมืองไทย

“ตั้งแต่เล็กติดหูติดตาชาวนาตลอดมา ยังเดินไม่ได้ก็นั่งในกระบุงแม่เวลาแม่หาบข้าวไปให้พ่อที่นา อีกข้างหนึ่งเป็นเราส่วนอีกข้างเป็นกับข้าว แดดออกก็เอาผ้าชาวม้ามัดผูกกับสายกระบุงให้บังแดด เห็นอย่างนี้มาตลอด เหงื่อข้างหลังแม่ขี้เกลือที่มันเกาะข้างหลังที่หาบเรา หมดงานพ่อก็มีร้องรำบ้างให้ได้ยินเพราะเป็นคนทำขวัญนาคมาก่อน บางทีก็ได้ยินเพลงฉ่อยจากป้านกหวีด เหมือนมันมีเชื้อชอบสนุกสนานในตัวเป็นถ่าน มันก็ค่อยๆ คุไฟขึ้น จากเสียงของพวกเขา”

2 ปีกับงานเพลงฉ่อยความบันเทิงอย่างลิเกก็เข้ามาทายทัก เด็กชายโย่งไม่รีรอที่จะเคาะประตูเข้าไปเปิดโลกด้วยเหตุผลใจที่รักและเขาก็ได้รับการฝึกฝนจากครูติ่งบรมครูลิเกคณะ ‘หอมหวนเล็ก’ ที่มีชื่อเสียงลือลั่นทางภาคเหนือสมใจแม้รายได้จะน้อยก็ตามที

“คิดอย่างเดียวเมื่อไหร่จะมืดๆ จะได้เปิดวิกลิเก มันมีความสุขตลอดต่อให้อดอยากไม่ว่าขอให้ได้แสดง ณ ตอนนั้นไม่ได้หวังจะมีทรัพย์สมบัติมีกะตังค์ จำได้เลยที่ตลาดกำแพงเพชร ไปเล่นลิเกหิวข้าวจนมือสั่น กินแต่น้ำเปล่าบนรถคณะรอจนถึงบ้านเจ้าภาพถึงจะได้กินข้าว ถ้าจะให้เปรียบเทียบชีวิตมันก็มีลู่ทางเสมอถ้าไม่หยุดนิ่งถ้าที่จะทำในฝันนั้นให้มีไฟตลอด”

61 ยังเก๋า! “โย่ง เชิญยิ้ม” ชายผู้ไม่เคยปล่อยให้ไฟมอดไปจากชีวิต

ไฟที่ราบรื่นนำมาซึ่งชื่อเสียงและเงินทองในเวลาอันสั้น แต่ถ้าเจอปัญหาก็ต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยา เพราะปัญหานั้นมีเกิดจาก ‘ตัวเรา’ และ ‘ผู้อื่น’ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและหน้าที่การงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้าโย่งก็เช่นกันที่โดนคืนวันที่โดนปัญหากระหนำ แต่ตลกชื่อดังก็ไม่ได้หงายหน้าล้มพับ

“ตอนนั้นภรรยาให้ญาติกู้ยืมนำบ้านของแม่ไปจำนอง เราก็คิดวนเรื่องหนี้อยู่ในหัวตลอดจนสุดท้ายเขามาไถ่ให้ แต่ช่วงนั้นที่เป็นหนี้ตอนเล่นลิเกก็ยังคิด กลายเป็นสะสมอารมณ์ จนทะเลาะกับภรรยาอยู่หลังโรงลิเก ทะเลาะกันถึงกับลงไม่ลงมือ แต่ขณะที่ภรรยาออกจากฉากรอคิวถกกระโปรงเดินวิ่งเข้ามาเตะเสยหน้า เสร็จแล้วเขาก็ออกไปเล่นต่อ แล้วเราก็ต้องออกไปเจอเขาในฉากต่อไปที่พระเอกนางเอกจีบกันหน้าเวที ตัวโจ๊กหญิงและชายจะต้องเกี้ยว มีบทจูบกันด้วยตามเนื้อเรื่องก็ต้องเล่นตาม และตลกลิเกเวลาจูบต้องทาลิปสติกหนาๆ เพื่อไปป้ายแก้มให้มันเละให้มันฮา ทีนี้พอเล่นหยอกล้อหน้าเวทีจบ เข้าหลังฉากปัญหามันก็เบาลง นั้นคือวิธีแก้

“ทีนี้พอมีปัญหาส่วนตัวถ้ามีเราจะข้ามไปก่อนเพราะมีปัญหายิ่งไปเข้ามุมอับมันจะมองแคบแค่เท่ากล่องลัง แต่ถ้ามองกว้างมันน่าจะปัญหาที่เราคิดเบาบางได้ ลองดูอย่างอื่นบาง ดูให้ทั่วๆ มีปัญหาเราจะไม่พยายามมองจุดเดียว เปลี่ยนทำอะไรบ้างแก้ไม่ได้ก็อย่ารีบแก้มันจะพังล้มไปหมดแบบโดมิโน ข้ามไปผลักอันอื่นให้ล้มไปก่อน แล้วค่อยๆ ไปหาพลังจากที่อื่นมาไอ้นั้นก่อน ไปเติมความสุข หาความสุขอย่างอื่น ทำอย่างอื่นไอ้ตรงนี้ตั้งไว้ก่อน เดี๋ยวมันมีพลังมาแก้เอง”

61 ยังเก๋า! “โย่ง เชิญยิ้ม” ชายผู้ไม่เคยปล่อยให้ไฟมอดไปจากชีวิต

เจ๋งในฉบับเรา...อย่าสนใจคนอื่น

วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2529 โย่งในวัย 27 ย่าง 28 ปี เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยทิ้งชื่อเสียงตัวโจ๊กลิเกนามสกุลดัง “ศักดิ์นรินทร์ ดาวร้าย” ผู้ที่เป็นทั้งหัวหน้าคณะและพี่เขยไว้เบื้องหลังสู่การท้าท้ายบทบาทใหม่ในฐานะ ‘ตลก’

“อย่างที่บอกเราชอบการสร้างความสุข พอเห็นในทีวีเห็นในคณะลูกทุ่งมีเล่นจำอวด เราก็อยากเป็นแบบนั้นบ้าง อยากเป็นถึงขั้นเก็บเอาไปนอนฝันว่าได้เล่นกับคณะเชิญยิ้ม ทีนี้พอเพื่อนพี่ศักดิ์นรินทร์ ดาวร้าย ย้ายลิเกจากกรุงเทพมาเล่นด้วยเขาก็แนะนำเราให้คณะตลกต่างๆ ที่เขารู้จัก แนะนำให้เรื่อยๆ คณะนี้ไม่รับ ก็มาคณะนี้ ก็ได้คณะน่ารัก จำปี สีเดียว (แอนนา ชวนชื่น) รับเข้าเล่น”

แต่การมาไม่ใช่เพียงปรับภาพลักษณ์บ้านนอกในการสวมกางเกงม้าขายาวสีดำ เสื้อสีเหลืองดอกคูณ ให้ไม่น้อยหน้าคนเมืองสมัยนั้นแล้วเข้ากับทุกๆ คนได้ดีในหน้าที่การงาน บนเวทีการแสดงเองโย่งก็ต้องปรับและเปลี่ยนไม่น้อยให้ไฟเลียติดถ่านก้อนอื่นต่อ

“เคยเล่นลิเกตัวโจ๊ก มีตัวโกงปูมุกให้ พระเอกปูให้เราเพราะมีโจ๊กคนเดียว แต่ขึ้นไปบทตลกมันตลกทุกตัว ทีนี้จังหวะการเล่นมันก็ผิดกับโรงลิเก ต้องมาปรับใหม่ เรียนรู้ไหม ก-ฮ มันอาจจะ ฮ-ก สลับกันหมดเลย จังหวะการเล่นก็ต้องปรับ ก็เรียนรู้เอา ก็ต้องปรับตามงานเรา งานเรารัก แต่มันก็จะมีคนประเภทเราอยากทำงานนี้ แต่พอมีงานทำแล้วไม่อยากทำงาน คนแบบนี้เยอะ”

โดยการที่จะแตกต่างของโย่งคือการกอดความภาคภูมิใจ เขาบอกว่าเราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เราต้องภูมิใจกับสิ่งที่เราทำหรือต่อให้ไม่ใช่งานที่รัก ก็ต้องรักในงานที่ทำ เพราะว่ามันเป็นงาน งานทุกอย่างมีคุณค่าในตัวเองหมด แม้จริงๆ ที่บางงานดูสวยหรูกว่า ทำแล้วดูโก้ แต่คิดดีๆ มันก็คือการสร้างเงิน อาชีพเราก็อาชีพ อาชีพเขาก็อาชีพ แต่เราไม่รู้หรอกให้คิดคนที่ต้องแต่งตัวเนี๊ยบอาจจะเป็นหนี้มากกว่าเราก็ได้ เรามีความสุขเท่าที่เรามีก็เท่านั้น อย่างตลกตอนนั้นก็ดูมีชื่อเสียง แต่กว่าจะผ่านถึงจุดนั้นนอนตอกแคร่ ตีประตูฝาไม้ระแนงกั้นห้องเช่า ที่นอนเอาผ้าปูรอง

“วิธีที่ทำให้ไฟมันไม่หมด ไม่ใช่ว่าทำแค่นี้แล้วพอไง เดือนหน้าจะเปิดสอนตีกรับเพลงขอทาน ต่อจากทอล์คโชว์เดี่ยว แล้วก็ร้องเพลง คือต่อให้มันไม่โด่งดังไม่เป็นไร แต่การทำไม่หยุดนิ่ง ทำอยู่เรื่อยมันจะแตกยอดของมันไปเอง ตอนนี้พอเสร็จงานก็เข้าห้องดนตรี มีเครื่องเล่นเยอะมาก เล่นก็ไม่เก่งหรือเป็นหมด แต่มันได้เอาไปผสมผสานกับการแสดงเราได้

“จาน ช้อน ชาม เป็นดนตรีไปหมด มันรู้ว่าเป็นดนตรีบำบัดหรือเปล่าแต่รู้สึกชีวิตมันซังกะตาย เป่าทรัมเป็ตแป๊ดๆ ถ้ามันสุขใจเราก็โอเคแล้ว อยากจะเก่งไปว่ากันอีกทีหนึ่ง อันนี้เก่งของเรา เก่งของเขาแค่ไหนก็ของเขา เราเป่าดังได้ก็เก่งแล้ว ทำไปมันก็สนุกสนานมีความสุข มันอาจจะเป็นการไม่ให้ไฟมอดสำหรับเรา คนอื่นชอบก็ไปหาที่ชอบทำเท่านั้น”

61 ยังเก๋า! “โย่ง เชิญยิ้ม” ชายผู้ไม่เคยปล่อยให้ไฟมอดไปจากชีวิต

เก่า-ใหม่ เก๋าจะตายใครก็เรียกว่า 'พิเศษ'

1 ปี กับคณะตลก เสน่ห์ในการสร้างเสียงหัวเราะค่อยๆ เฉิดฉาย วาจาคารมขันไม่เป็นสองรองใครจากพื้นฐานเพลงฉ่อยและลิเกที่เน้นดำเนินตามท้องเรื่องแบบเดียวกับเล่นตลก จนเด่น ดอกประดู่, ยาว อยุธยา, ยอด นครนายก และดุ๊ยดุ่ย ดอกกระโดน เมื่อมารวมตัวกัน โย่งจึงตัวเลือกหนึ่งในชื่อ ‘เด่น รวมดาว’ ก่อนที่ 2 ปี ให้หลังถัดไปจะแยกฉายเดี่ยวในนาม ‘โย่ง พิษณุโลก’

“เราอยากแสดงในแบบฉบับของเรา ตอนทำคณะเองก็ดีเลย คนตอบรับกันมากและได้รับการสนับสนุนทางพี่โน้ต เชิญยิ้ม พี่เป็ด เชิญยิ้ม พี่ดี๋ ดอกมะดัน พี่เด่น ดอกประดู่ ให้งานแทนบางอะไรบ้าง เรียกไปเล่นออกโทรทัศน์ อัดเทป จนร่วมกิจกรรมกับเขามากๆ ก็ขอเขามาเปลี่ยนเป็นเชิญยิ้ม เพราะคนจำผิดถูกจำเราเป็นพี่ยาว อยุธยา”

การก้าวที่จะเป็นตัวเองในวันนั้นเพียงไม่กี่ปีถัดมาก็ส่งผลออกดอกเกิดเป็นทอล์คโชว์แรก โดยตลกที่ผันตัวจับไมค์พูดและเป็นคนแรกของวงการตลกไทยที่ประสบความสำเร็จมหาศาลทั้งการนำเพลงฉ่อยวัฒนธรรมไทยในอดีตกลับมา กระทั่งบทเพลง ‘ดูมันทำ’ และธุรกิจ อาทิ น้ำพริกเผาตาโย่งที่เป็นที่ติดอกติดใจรสลิ้นคนไทย และหมูยอตาโย่งซึ่งเป็นการค้าแบรนด์ล่าสุดจากผู้ชายคนนี้เพียงคนเดียว

“เราหยิบเติมในสิ่งที่เราทำได้ ไม่รู้จักในฐานนะตลก ก็รู้จักในฐานะเพลงฉ่อย ทอล์คโชว์ เจ้าของน้ำพริกเผา เจ้าของหมูยอ สรุปมันมีทางของมันไป มีหลายทาง มันไม่ได้มีทางเดียว สิ่งที่เราต้องทำก็คือการเอาเก่าผสมใหม่ เอาสิ่งที่เรารักและสิ่งที่เราเป็นผูกเข้าด้วยกัน คือการมาของฉ่อยที่ต่อยอดออกมาเป็นตัวจุดประกายเพลงต่ออีก ก็เพราะตำราที่เรียนเพลงฉ่อยมามันหายหมด เราก็ต้องเอามุกตลกที่เป็นเราเข้าไปใส่ มันก็เลยกลายเป็นประยุกต์ พูดก็พูดชีวิตมันก็ประยุกต์ได้เหมือนกัน ตำราชีวิตไม่มี ชีวิตมันก็ไม่มีตำรา ก็ต้องเอาเรื่องข้างหน้ามาใส่ ไม่ออกเดินก็ไม่เจอ ยิ่งหมดไฟก็ยิ่งมอดดับ กลายเป็นโรคซึมเศร้าอย่างที่ว่า ก็อยู่ที่เราทำทั้งหมด”

61 ยังเก๋า! “โย่ง เชิญยิ้ม” ชายผู้ไม่เคยปล่อยให้ไฟมอดไปจากชีวิต

61 ยังเก๋า! “โย่ง เชิญยิ้ม” ชายผู้ไม่เคยปล่อยให้ไฟมอดไปจากชีวิต