posttoday

ตรวจกัญชาของกลาง 18 ตัน สกัดใช้ทางการแพทย์ได้แค่ 7 ก.ก.

06 มิถุนายน 2562

เผยผลตรวจกัญชาของกลาง 18 ตัน พบสารปนเปื้อนจำนวนมาก สามารถนำมาสกัดใช้ทางการแพทย์ได้เพียง 7 ก.ก.เท่านั้น เตรียมนำไปใช้ทางการแพทย์และวิจัย

เผยผลตรวจกัญชาของกลาง 18 ตัน พบสารปนเปื้อนจำนวนมาก สามารถนำมาสกัดใช้ทางการแพทย์ได้เพียง 7 ก.ก.เท่านั้น เตรียมนำไปใช้ทางการแพทย์และวิจัย

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการป.ป.ส. พร้อมด้วย นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการตรวจพิสูจน์หาสารปนเปื้อนในกัญชาของกลางกว่า 22 ตัน ก่อนนำไปสกัดน้ำมันกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และเพื่อการศึกษาวิจัย

ตรวจกัญชาของกลาง 18 ตัน สกัดใช้ทางการแพทย์ได้แค่ 7 ก.ก.

นายนิยม กล่าวว่า ได้ประสานหน่วยจับกุมให้ชะลอการเผาทำลายกัญชาของกลาง เพื่อขอคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อนจากกัญชาของกลางรวม 43 คดี หนัก 22,000 กิโลกรัม หรือ 22 ตัน ห้วงเวลาจับกุมตั้งแต่เดือนต.ค. ปี 2561 ถึงมี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดรับเข้ามาตรวจสอบ18,000 กิโลกรัม หรือ 18 ตัน ผลการตรวจหาสารเคมีเบื้องต้นพบว่า มีกัญชา 2 ตันสามารถนำไปใช้วิจัยและพัฒนาได้ แต่มีเพียง 7 กิโลกรัมที่นำไปใช้สกัดทางการแพทย์ได้ ภายในช่วงกลางเดือนมิ.ย.นี้ เตรียมพิจารณาแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาล 3 แห่ง และมหาวิทยาลัยอีก 8 แห่ง นำไปใช้ประโยชน์ในการวิจัยและพัฒนา โดยห้ามไม่ให้บริษัทต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวเด็ดขาด

ทั้งนี้ กัญชาที่เหลืออีก 16 ตัน มียาฆ่าแมลงและโลหะหนักปนเปื้อนเกินมาตรฐานไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงเตรียมนำไปทำลายต่อไป ยืนยันว่ากัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ขอเตือนประชาชนให้ระวังการใช้สารสกัดกัญชาจากตลาดมืดที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากแพทย์ หากมีข้อสงสัยในการใช้ประโยชน์จากกัญชา สามารถติดต่อขอรับข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐเองเพื่อให้ได้รับกัญชาที่มีคุณภาพและไม่ผิดกฎหมาย

นพ.พิเชฐ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ใช้มาตรฐานในการตรวจตัวอย่างกัญชาทั้ง 38 ตัวอย่าง ตามระบบสากล เพื่อหาสารเคมีและสารปนเปื้อน แบ่งการตรวจเป็น 2 แบบ คือ มาตรฐานทั่วไปตามประกาศของ อย. ซึ่งใช้หาสารกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ เพื่อหายาฆ่าแมลง และตรวจหาโลหะหนักเช่น แคดเมียม ที่มีผลกระทบต่อกระดูก สารหนู ที่มีผลต่อทางเดินอาหาร รวมถึงปรอท และตะกั่ว ที่มีส่วนให้เกิดมะเร็ง พบว่าทั้ง 38 ตัวอย่าง ไม่ผ่านมาตรฐาน

สำหรับ การตรวจตามมาตรฐานตำรายาสมุนไพรไทยพบเพียง 1 ตัวอย่างจากทั้งหมดที่นำมาตรวจ มีค่าแคดเมียมไม่เกินมาตรฐาน ส่วนผู้ที่ถือครองกัญชา สามารถส่งตรวจหาสารปนเปื้อนได้ แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เริ่มที่ 2,000-12,000 บาท ตามชนิดการตรวจ ส่วนกัญชา 7 กิโลกรัมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์มางการแพทย์ได้นั้น ต้องมาตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ ไม่ให้เกิดผลกระทบกับร่างกาย