posttoday

สรุปคำพิพากษาคดีหวย30ล้าน หลักฐานไม่ตรงข้อเท็จจริง

04 มิถุนายน 2562

สรุปคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ครูปรีชายื่นฟ้องหมวดจรูญในข้อหายักยอกสลากรางวัลที่1มูลค่า 30 ล้านบาท หลังหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

สรุปคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ครูปรีชายื่นฟ้องหมวดจรูญในข้อหายักยอกสลากรางวัลที่1มูลค่า 30 ล้านบาท หลังหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 62 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่ นายปรีชา ใคร่ครวญ หรือครูปรีชา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ร้อยตำรวจโทจรูญ วิมูล หรือหมวดจรูญ อดีตข้าราชการตำรวจ ข้อหายักยอกทรัพย์ รับของโจร จากกรณีการอ้างสิทธิเป็นเจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาล รางวัลที่ 1 งวดประจำวันที่ 1 พ.ย. 2560 หมายเลข 533726 จำนวน 1 ชุด 5 ใบ เป็นเงิน จำนวน 30 ล้านบาท

ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้อ่านคำพิพากษา จำนวน 71 หน้า ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ โดยสรุปใจความสำคัญของคำพิพากษาได้ดังนี้

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 วันเวลาใดไม่ปรากฏ ชัด จำเลยมีเจตนาทุจริตเก็บเอาสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดที่ 41 ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ชุดที่ 04, 0 7, 1 4, 1 5, และ 2 2, เลข 533726 จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ซื้อมาจากนางสาวรัตนาพร สุภาทิพย์ ที่ตลาดเรดซิตี้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 รวม 4 ชุดในราคา 2,200 บาท หลังรับสลากกินแบ่งรัฐบาลจากนางสาวรัตนาพร โจทก์นำมาเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อแล้วเดินซื้อของภายในตลาด เมื่อกลับถึงบ้านโจทก์พบว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลเลข 533726 รวม 5 ฉบับหายไป

ต่อมาผลการออกรางวัล เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 60 ปรากฏว่ารางวัลที่ 1 คือเลข 533726 โดยในระหว่างวันเวลาที่จำเลยเก็บสลากกินแบ่งรัฐบาลของโจทก์ไปไว้ในครอบครอง จำเลยเบียดบังเอาสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้ง 5 ฉบับ ที่มีมูลค่าเงินรางวัล 30 ล้านบาทไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต

จำเลยรับสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวไว้โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย เหตุรับของโจรเกิดที่ ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เกี่ยวเนื่องกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 357, ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหายักยอกสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่ 1 ซึ่งโจทก์ทำหายหรือรับสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิด ฐานยักยอกทรัพย์สินหาย จึงต้องวินิจฉัยก่อนว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่ 1 เป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ทำหาย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก

สำหรับความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดแล้ว เห็นได้ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ชุดที่ถูกรางวัลที่ 1 ดังกล่าว คงมีเพียงพยานบุคคลที่อ้างว่าเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายเท่านั้น แต่ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนคำเบิกความของพยานบุคคล

อีกทั้งคำเบิกความของพยานบุคคลดังกล่าวก็มีข้อพิรุธและขัดแย้งกันเองในหลายประการ ทั้งเรื่องความสามารถของพยานแต่ละคนในการจดจำเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล การโทรศัพท์ติดต่อนัดหมายให้ไปรับสลากกินแบ่งรัฐบาล ระหว่างโจทก์กับนางสาวรัตนาพร การแจ้งความหลังทราบผลการออกรางวัล และที่สำคัญคำเบิกความของบุคคลที่โจทก์นำสืบ ล้วนขัดแย้งกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ และพื้นที่การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560

เมื่อพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จำเลยนำสืบหักล้างแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจากนางสาวรัตนาพร ที่ตลาดเรดซิตี้ ในวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2560 โดยไม่ได้เดินทางไปตลาดเรดซิตี้ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 แต่โจทก์กลับใช้วิธีนำสืบโดยหยิบยกเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2560 มากล่าวอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2560

เมื่อปรากฏว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัล ที่ 1 ยังวางขายอยู่บนแผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาลของนางสาวพัชริดา ในวันที่ 30 ตุลาคม 2560 แต่โจทย์ไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจาก นางสาวรัตนาพร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2560

แสดงว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลที่โจทก์ซื้อไปจากนางสาวรัตนาพร ไม่ใช่สลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่หนึ่ง แต่เมื่อทราบผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 นางสาวรัตนาพร เห็นภาพถ่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลบนแผงขายของนางสาวพัชริดา ซึ่งนางสาวพัชริดาถ่ายรูปไว้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ปรากฏภาพสลากกินแบ่งรัฐบาลเลข 533726 อยู่บนแผง

นางสาวรัตนาพร จึงคิดว่าตนเองซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวไปจาก นางสาวพัชริดา แล้วนำไปขายต่อให้โจทก์ นางสาวรัตนาพร จึงไปบอกโจทย์ว่าถูกรางวัลที่หนึ่ง ในครั้งแรกโจทก์ก็ยืนยันว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลที่โจทก์มีเลข 3 ตัวหน้า ไม่ตรงกับรางวัลที่ 1

แต่เมื่อ นางสาวรัตนาพร พูดย้ำหลายครั้งว่าโจทก์ถูกรางวัลที่ 1 ทำให้โจทก์เริ่มลังเล จนในที่สุดก็เข้าใจไปด้วยอีกคนว่า ตนได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่ 1 จริง ตามที่นางสาวรัตนาพรบอก แม้ว่าขณะนั้นโจทก์ จะไม่มีสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่ 1 อยู่ในครอบครอง

จนกลายเป็นที่มาของการไปแจ้งความว่า โจทก์ทำสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่ 1 ตกหาย ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้วโจทก์ ไม่ได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวมาตั้งแต่แรก เมื่อคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่า มีการกระทำความผิดตามฟ้องเกิดขึ้นจริง แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ล้วนมีข้อพิรุธน่าสงสัย และขัดแย้งกับพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ในหลายประการตามที่กล่าวมา

ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ถูกรางวัลที่ 1 มาจากนางสาวรัตนาพร สลากกินแบ่งรัฐบาลที่จำเลยนำไปขอรับเงินรางวัล ไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณา ความอาญามาตรา 214 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง