posttoday

อย.เร่งหาน้ำมันกัญชามาใช้รักษาผู้ป่วยให้เพียงพอต่อความต้องการ

23 พฤษภาคม 2562

อย.เตรียมสำรองน้ำมันกัญชามาใช้รักษาผู้ป่วยในช่วงรอยต่อที่ยังไม่สามารถผลิตใช้ได้เอง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งเอาจากกัญชาของกลางปปส. และรับบริจาค

อย.เตรียมสำรองน้ำมันกัญชามาใช้รักษาผู้ป่วยในช่วงรอยต่อที่ยังไม่สามารถผลิตใช้ได้เอง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งเอาจากกัญชาของกลางปปส. และรับบริจาค

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าจากข้อมูลการที่มีผู้มาแจ้งครอบครองตอนนี้เบ็ดเสร็จประมาณ 2.2 หมื่นราย ในจำนวนนี้มี 2.1 หมื่นรายที่แจ้งว่าเป็นผู้ป่วย หรือคิดเป็นร้อยละ 90 แต่ในจำนวนที่แจ้งว่าเป็นผู้ป่วยนั้น เราคิดว่าเป็นโรคที่จำเป็นต้องใช้กัญชาจริงมีไม่ถึงร้อยราย แต่ถ้ารวมกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ที่มีการอนุญาตก็มีราวๆ 2-3 พันคน ซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้ยังมีการถือครองน้ำมันกัญชากันอยู่ประมาณ 3 เดือน อาจจะมีบางส่วนที่มีน้ำมันกัญชาไม่พอ ก็มีการวางระบบให้เข้าไปปรึกษาแพทย์ในพื้นที่

ทั้งนี้ คนที่ติดกัญชาเราก็ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่ต้องให้การรักษาเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทางอย.ก็ได้หามาตรการในการจัดหาน้ำมันกัญชามาใช้ในระยะรอยต่อ ที่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตน้ำมันกัญชาได้เอง หรือมีไม่เพียงพอ ซึ่งมีหลายมาตรการ แต่การนำเข้าน้ำมันกัญชาจากเมืองนอกนั้นไม่ใช่มาตรการแรกที่จะทำ แต่มาตรการที่จะทำเป็นอันกับแรกเลยคือ นำเอากัญชาของกลางจาก ป.ป.ส. กว่า 30 ตัน ที่ยังไม่ได้มีการคัดเกรด ส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่ามีการปนเปื้อนโลหะหนัก หรือยาฆ่าแมลงต่างๆ หรือไม่ หากไม่มี หรืออยู่ในระดับที่รับได้ ก็จะให้หน่วยงานที่มีความสามารถนำไปสกัดออกมาใช้ ซึ่งก็ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นหน่วยงานใด

สำหรับ มาตรการต่อมาจะรับบริจาคน้ำมันกัญชามาจำนวนหนึ่ง และยังมีรายงานจากต่างจังหวัดว่ามีน้ำมันกัญชาของกลางอีกจำนวนหนึ่งอยู่เหมือนกัน แต่ต้องตรวจสอบความปลอดภัยเช่นกัน ดังนั้นทั้ง 2 มาตรการนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ คาดว่า ผลจะออกมาภายในเดือน พ.ค.นี้ หาดทั้ง 2 ส่วนนี้ใช้ได้ก็คิดว่าน่าจำมีน้ำมันกัญชาที่ได้จากในประเทศเพียงพอ โดยไม่ต้องมีการนำเข้า

“ก่อนหน้านี้ ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เคยนำกัญชาของกลางมาตรวจแล้วพบการปนเปื้อนโลหะหนัก และสารเคมีต่าง ๆ ในปริมาณที่เป็นอันตราย จนไม่สามารถเอามาผลิตได้ รอบนี้ถ้าตรวจแล้วใช้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้า แต่ถ้าตรวจแล้วใช้ไม่ได้ ก็อาจจะใช้แนวทางนำเข้า ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะให้องค์การเภสัชกรรม หรือ สภากาชาดไทยเป็นผู้นำเข้า เพราะ 2 หน่วยงานนี้ เป็นหน่วยงานที่มีการนำเข้ายาจำเป็น ยากำพร้าต่างๆ มาใช้ในประเทศอยู่แล้ว เมื่อไหร่ที่สามารถผลิตได้เองในเมืองไทยก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้า ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้ไทยเราสามารถผลิตได้เองอย่างเพียงพอ” นพ.สุรโชค กล่าว