posttoday

กูรูโลกร้อนแนะภาคประชาสังคมต่อสู้เชิงรุกเน้นเจรจาตรง “กลุ่มทุน”หยุดทำลายสิ่งแวดล้อม

21 พฤษภาคม 2562

ผู้เชี่ยวชาญโลกร้อน แนะแนววิธีต่อสู้ภาคประชาสังคม หากลไกเชิงนโยบาย นำเสนอโมเดลรูปธรรม เลิกพึ่งหรือคัดค้านภาครัฐที่ติดขัดระเบียบข้อกฎหมายล่าช้า เน้นเจรจาต่อรองกดดัน “กลุ่มทุน” โดยตรงให้หยุดทำลายล้างสิ่งแวดล้อม

ผู้เชี่ยวชาญโลกร้อน แนะแนววิธีต่อสู้ภาคประชาสังคม หากลไกเชิงนโยบาย นำเสนอโมเดลรูปธรรม เลิกพึ่งหรือคัดค้านภาครัฐที่ติดขัดระเบียบข้อกฎหมายล่าช้า เน้นเจรจาต่อรองกดดัน “กลุ่มทุน” โดยตรงให้หยุดทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. การประชุมพัฒนาบทบาทและความรู้ภาคประชาชน สู่การตัดสินใจที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม จ.พิษณุโลก จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กับคณะกรรมการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดย นายวีรวัฒน์ ปภุสสโร อดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวในหัวข้อ ความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกับองค์การด้านสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือตอนล่าง ว่าแนวทางการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมหรือสภาวะโลกร้อน ภาคประชาชนต้องเน้นหาแนวทางหรือกลไกเชิงการจัดการเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต ที่สำคัญต้องมองในเชิงนโยบายและเป็นการนำเสนอรูปแบบที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ที่สำคัญต้องไม่พึ่งระบบราชการที่ติดขัดกฎระเบียบและข้อกฎหมายซึ่งไม่ใช่ช่องทางที่ภาคประชาสังคมพึ่งพิงได้ ดังนั้นที่ผ่านมาจึงเห็นแนวทางการต่อสู้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เริ่มเห็นปรากฎการรณ์การปรับตัวเปลี่ยนแปลง ด้วยการเจรจาพูดคุยตรงระหว่างคู่ขัดแย้งระหว่างภาคประชาชนกับกลุ่มทุนเพื่อให้หยุดยั้งการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในพื้นที่ภาคใต้ หรือ ปัญหาการปลูกข้าวโพด หรือปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะการเจรจากดดันภาคราชการไม่ได้ผลอีกต่อไป

“การเคลื่อนไหวภาคประชาชน นั่งสุมหัว จัดฝึกอบรม จัดประชุมสัมมนา สรุปบทเรียน ยื่นข้อเรียกร้อง และ ชุมนุมประท้วง คงไม่เพียงพอ เราต้องหาวิธีการใหม่ๆในการเคลื่อนไหว ด้วยการเดินเชิงนโยบาย มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เลิกพึ่งระบบราชการ ไม่เน้นรณรงค์สร้างกระแสเพียงวูบวาบ แต่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา” นายวีรวัฒน์ กล่าว

นายวีรวัฒน์ กล่าวว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือ ปัญหาโลกร้อน ต้องมียุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ปัญหาขยะ ต้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน เพราะไทยติดอันดับประเทศมหาเศรษฐีขยะอันดับ 5 ของโลก หรือ ปัญหาหมอกควัน หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สารพิษหรือโลหะหนักจากโรงงานอุตสาหกรรม จึงทำให้ปีนี้องค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ยกให้วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย.ปีนี้ เน้นวาระเรื่องอากาศเป็นพิเศษ เพราะเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกไปแล้ว ด้วยสโลแกนต้องหาวิธีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง และ หยุดหมอกควันและอากาศพิษเพื่อสิ่งแวดล้อมให้ได้

นายวีรวัฒน์ กล่าวว่าแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีเป้าหมาย และเดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ แผนแม่บทสภาพัฒน์ 5 ปี และเปลี่ยนไปตามตามนโยบายรัฐบาล แต่ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ชาติ และ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ เอสดีจี ที่มุ่งเน้นการเติบโตและการพัฒนาต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น วันนี้เราน่าจะได้บทเรียนแล้วว่าการทุ่มงบประมาณสร้างถนนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ไม่อาจแก้ปัญหารถติดได้ ถนน หรือ รถไฟฟ้า กลับไปลดพื้นที่สีเขียวให้น้อยลงเข้าไปอีก ตัวอย่างประเทศที่น่าเอาแบบอย่าง คือ เมืองหนึ่งของบราซิล ที่ท้องถิ่นและประชาชน คัดค้านนโยบายการสร้างทางด่วนเพื่อปัญหาจราจร แต่ชาวเมืองเห็นชอบ ปิดถนนห้ามรถวิ่ง 4 มุมเมือง และ ทำทางเดินสาธารณะให้เด็กทำกิจกรรม และพื้นที่สีเขียว การจราจรมีแค่ 3 ช่องทาง คือ ทางเข้าเมือง ทางออกเมือง และ ทางรถสาธารณะ พร้อมกับจัดผังเมืองใหม่ด้วยการซื้อที่ดิน 3 พันไร่นอกเมืองเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย และ เขตนิคม อุตสาหกรรม

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา PM2.5 ต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การก่อสร้างต้องปิดกั้นมิดชิดบริเวณไซด์ก่อสร้าง หรือ ทุกตึกสูงต้องมีระบบสปริงเกอร์ โดยเฉพาะนโยบายผังเมืองแต่ละจังหวัด ต้องกำหนดแนวทางการพัฒนาผังเมืองของตัวเองจะไปในทิศทางใดโดยยึดระบบนิเวศน์และสภาพภูมิประเทศเป็นตัวตั้ง เช่น เมืองแห่งการศึกษา เมืองแห่งการท่องเที่ยว หรือเมืองแห่งอุตสาหกรรม อย่าทำเหมือน กทม. หาดใหญ่ หรือ เชียงใหม่ ที่ผังเมืองเลียนแบบกันโดยไม่คำนึกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง

นายวีรวัฒน์ กล่าวว่าปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มเห็นความสำคัญของเป้าหมาย Green เช่น เมืองสีเขียว การสร้างเมืองให้เป็นเมืองอยู่ดี ประชาชนมีสุข และ ผู้บรหิารมีธรรมาภิบาล หรือ อุทยานสีเขียว กรีนโฮเทล มีการปลูกผักสวนครัว ลดขยะ บำบัดน้ำเสีย หรือ ออฟฟิคสีเขียว เน้นการมีระบบประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ลดขยะ พร้อมจัดให้มีกิจกรรมด้านดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ หมู่บ้าน Zero Waste หรือแม้แต่ วัดสีเขียว เป็นต้น

“การแก้ปัญหาต่างๆ ต้องเริ่มต้นจากแก้ปัญหาตัวเองให้ได้ก่อน ก่อนจะไปแก้ปัญหาให้คนอื่นๆ ลองคิดดูโรงแรมหรูๆรวยๆ ยังปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ หรือ การคัดแยกที่บ้าน รู้หรือไม่ ขยะทั้งประเทศ 60% เป็นขยะอินทรีย์ ที่เหลือขยะทั่วไปที่รีไซเคิลได้ ดังนั้นต้องเน้นการจัดการขยะอินทรีย์ที่บ้านเป็นอันดับแรก พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดขยะถุงพลาสติกทำได้เพียงเท่านี้เราก็ลดขยะได้แล้ว”นายวีรวัฒน์ กล่าว