posttoday

รู้จัก "เพลงรบ กิติคุณดิลก" ล่ามผู้ถ่ายทอดบทเพลงผ่านภาษามือ

19 พฤษภาคม 2562

รู้จักกับ “เพลงรบ กิติคุณดิลก” คนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เลือกเส้นทางอาชีพในการเป็น "ล่ามภาษามือ" ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ และเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหาของบทเพลงให้กับผู้พิการทางหูได้รับรู้

รู้จักกับ “เพลงรบ กิติคุณดิลก” คนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เลือกเส้นทางอาชีพในการเป็น "ล่ามภาษามือ" ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ และเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหาของบทเพลงให้กับผู้พิการทางหูได้รับรู้

****************************

โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล  

“เพลงรบ กิติคุณดิลก”  ล่ามภาษามือข่าวช่อง 7 HD และเรียกได้ว่าเป็นล่ามภาษามือเพลงคนแรกๆ ในเมืองไทย เขาถ่ายทอดเนื้อหาของบทเพลงต่างๆที่ออกอากาศผ่านหน้าจอโทรทัศน์ผ่านภาษามือเพื่อให้ผู้พิการทางหูได้เข้าใจมาอย่างต่อเนื่อง 

ภาพของล่ามภาษามือโทรทัศน์เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชายหนุ่มเลือกเดินบนเส้นทางอาชีพนี้ เขาตั้งปณิธานเอาไว้ว่า อาชีพของเขาต้องสามารถสร้างเงินเลี้ยงชีพและต้องสร้าง “ประโยชน์” ควบคู่กันไปด้วย 

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของล่ามภาษามือหนุ่มคนนี้....

 

รู้จัก "เพลงรบ กิติคุณดิลก" ล่ามผู้ถ่ายทอดบทเพลงผ่านภาษามือ

มากกว่าเงินคือประโยชน์

อาจจะแตกต่างไปจากเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่เมื่อถามถึงอาชีพในอนาคต ไม่น้อยเลือกที่จะเพื่อต่อฝันหรือเติมสุขแก่ตัวเองและครอบครัว หรือไม่ก็มุ่งสร้างฐานะมั่นคงกับอาชีพที่มีแววรุ่งจากสภาพบ้านเมือง แต่ไม่ใช่กับ ‘เพลงรบ’ แนวคิดของเขาเลือกหมุดหมายที่จะทำเงินด้วยและต้องสร้าง “ประโยชน์” ด้วย

“เราไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน แต่ไม่ใช่ไม่รับเงิน เงินที่ได้รับจากการทำงานถ้ามันเกิดการส่งต่อด้วยมันก็ยิ่งดี” คนหนุ่มเปิดถึงเส้นทางการเป็นล่ามภาษามือด้วยความขมักเขม้น เช่นเดียวกับชีวิตที่เมื่อเห็นล่ามภาษามือในโทรทัศน์เขาจึงไม่รีรอที่จะเข้ามาสู่การเรียนทางด้านสายสาขานี้

“เราผ่านตาจากทีวีเห็นจอมีคนเป็นล่าม เราทึ่งในความสามารถเขา คนอ่านบทข่าวแล้วก็สามารถแปลออกมาได้ตามคำพูด เราก็เกิดความสนใจตรงนั้นขึ้นมา”

แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วย ณ ตอนนั้นที่เรียนล่ามในระบบหลักสูตรวิชาหูหนวกศึกษาจริงๆ มีเพียง ‘วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เดียวในอาเซียน การเรียนภาษามือที่อื่นๆ เป็นเพียงหลักสูตรพิเศษที่สอนด้านของภาษามือความพิการทั่วไป

“โทรเข้าไปถามทางคณะรับคนปกติเรียนไหม เขาบอกว่ารับ แต่ปิดรับไม่แล้ว และหลักสูตรนี้5 ปีจะปิดรับสักทีหนึ่ง” เพลงรบเผย

แต่คนจะคิดดี ทำดี ย่อมต้องได้ดี เพลงรบเล่าว่าได้เข้าเรียนในส่วนของการรับเพิ่มอีกจำนวน 33 คน จากในส่วนรอบแรกทั้งหมด 12 คน

“ก่อนจะวางสาย เขาให้ข้อมูลเพิ่มว่า ต้องดูยอดคนว่าเรทที่รับได้เพียงพอไหม ถ้าไม่เพียงพอก็จะรับเพิ่ม ก็ได้จนได้ คือที่เราอยากจะเข้าศึกษาตรงนี้ให้ได้ เพราะผมมองว่ามันน่าจะได้บุญ เราเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่มีทำผิดบาปมาเยอะ ที่นี้จะเป็นคณะที่เกิดเราเรียน เราน่าจะทำประโยชน์ได้มากขึ้น”

รู้จัก "เพลงรบ กิติคุณดิลก" ล่ามผู้ถ่ายทอดบทเพลงผ่านภาษามือ

ครึ่งล้านคนพิการ

สถิติสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยพบว่า ผู้พิการทางการได้ยินในทะเบียน มีจำนวน 2,041,159 คน เพลงรบบอกว่าเส้นทางอาชีพล่ามนั้นนับว่าเปิดกว้างเป็นอย่างมากสำหรับจบออกมาแล้วจะสร้างประโยชน์ได้อย่างที่เขาตั้งธง

โดยล่ามภาษามือมีแบ่งออกได้ 2 ส่วน ประเภทที่ 1 ล่ามภาษามือที่เป็นคนปกติ ประเภทที่ 2 ล่ามที่เป็นคนหูหนวก ซึ่งในลักษณะนี้ก็จะมีล่ามมือภาษาถิ่น ได้แก่ ภาษามืออีสาน ภาษามือใต้ และภาษามือเหนือ เป็นต้น ที่ขยายออกมา 

“ปัจจุบันที่เราเห็นในทีวีภาษามือที่ใช้จะเป็นภาษามือกลาง แต่ในกรณีที่เราต้องไปให้บริการผู้พิการในภูมิภาค เราอาจจะไม่คุ้นชินคำศัพท์เขา ศัพท์ต่างกัน ถ้าเราไม่รู้คำศัพท์คำนี้เราจะแปลไม่ได้  ก็จะมีคนหูหนวกที่เขารู้ทั้ง 2 ภาษา คือภาษาถิ่นกับภาษามือกลาง เป็นคนแปลให้เราอีกทีหนึ่งว่าคนนี้กำลังสื่อสารแบบนี้อยู่”

เช่น คำว่า ‘กลัว’  ในภาษาถิ่นก็จะมีการแสดงอักษรนำก่อนซึ่งอาจจะมีการไปซ้อนท่าของภาษามือกลางอย่างคำที่บอกว่า เกรงใจ เมื่อประกอบกับจอแสดงภาษาที่เล็ก ยิ่งทำสังเกตยาก ไม่ต่างไปจากคนปกติดูละครแล้วปิดเสียง

ส่วนในรายละเอียดที่ย่อยลงมาสำหรับอาชีพล่ามภาษามือ นอกจากการเป็นล่ามสื่อสารทางโทรทัศน์ด้านงานข่าว งานประชุมหรือสัมมนาต่างๆ ยังมีล่ามในทางกฎหมาย ล่ามในการแพทย์ อีกด้วยที่เพิ่มเติมเข้ามาให้เพียงพอกับกลุ่มคนพิการในสังคมบ้านเรา

“ล่ามภาษามือเป็นการแปลให้กับคนพิการตามความจำเป็นและความต้องการ ความจำเป็นก็คือความจำเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมี การพบแพทย์ แจ้งความ การขึ้นโรงขึ้นศาล ล่ามภาษามือในศาล ก็คือล่ามทำภาษามือได้ดีเป็นที่ยอมรับของคนหูหนวกและจบนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ศาลจะมีหนังสือคำสั่งแต่งตั้งให้คนนี้เป็นล่ามประจำศาล ล่ามทางการแพทย์ก็เช่นเดียวกัน คนที่ไปเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับศัพท์ทางด้านการแพทย์”

ทั้งนี้ทั้งนั้นในส่วนของการรับรู้การสื่อสารผ่านภาษามือยังมีปัจจัยที่กำหนดสำคัญคือ ‘การศึกษา’ ที่จะเข้ามาเป็นตัวกำหนด เป็นต้นว่าระดับประถม มัธยมหรือปริญญาตรี คลังคำศัพท์คนพิการจะทราบก็มีขีดจำกัด ภาษามือกลางจึงไม่สามารถทำความเข้าใจได้ 100 %  เมื่อบวกรวมกับผู้จำนวนพิการ พื้นที่ภาษาถิ่น และความจำเป็นพื้นฐาน ทำให้อาชีพ ‘ล่ามภาษามือ’ ยังไม่มีเพียงพอต่อความต้องการอีกมาก  

“และตอนนี้มีเทคโนโลยีหลายอย่างพยายามทำขึ้นมาในเรื่องของผู้พิการทางการได้ยิน เช่น แอพพลิเคชั่นหรือตัวอักษรที่เป็นแคปชั่นต่างๆ ที่มีวงเล็บข้างบอกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่าง เสียงลม เสียงฝนตก เพื่อที่เขาได้ช่วยเพิ่มความเข้าใจและอรรถรส เป็นสิ่งที่ดีที่เสริม แต่อย่าลืมว่าเขาต้องดูภาพและต้องอ่านประกอบ ล่ามก็เป็นตัวแปรขยายออกด้วยเช่นเดียวกัน” 

รู้จัก "เพลงรบ กิติคุณดิลก" ล่ามผู้ถ่ายทอดบทเพลงผ่านภาษามือ

ไม่น้อยกว่าแพทย์ ฐานะ “ล่ามภาษามือ”

“ถ้าเราสนใจที่จะไปเรียนเราต้องถามตัวเองก่อนว่าเราจะอดทนกับการอยู่ร่วมกับคนพิการได้ไหม” เพลงรบกล่าว หลังลัดเลาะจุดเริ่มต้นและรูปแบบของเส้นทางการเป็นล่าม ก่อนจะบอกสิ่งหนึ่งที่ไม่ต่างไปจากงานด้านอื่นๆ ของการเป็นล่าม ‘หัวใจ’ ที่จะช่วยทำให้ไปได้ไกลในเส้นทางสายนี้ต้องคำนึงถึงอะไรบ้างและคนจะเป็นล่ามได้ต้องมีอะไร 

“นอกจากฝ่าฝันในการแอดมิชชั่น สิ่งแรกที่ต้องให้ความสนใจเลยคือการอยู่ร่วมกับคนพิการ พี่น้องเราจะมีเจตคติที่มีต่อเราและเรามีต่อเขาไม่เหมือนกัน ซึ่งต้องปรับต้องจูนกัน ถ้าคุณอยู่กับเขาตรงนี้ได้ คุณก็สามารถทำงานด้านนี้ได้ อันดับที่สองคือการเรียนใหม่ตั้งแต่ต้น คุณจะต้องเริ่มเรียน ก. ข. ค. ไม้เอก ไม้โท การผสมคำใหม่ทั้งหมดเหมือนเด็กอนุบาล ต้องเรียนใหม่เพื่อรับรู้มาให้เป็นภาพเพราะหลักไวยากรณ์ทางภาษามือกับภาษาพูดไม่เหมือนกัน”

ภาษาพูดจะเริ่มเรียงประโยคจากประธาน-กิริยา-กรรม แต่ภาษามือ กรรม-กริยา- ประทาน เช่นคำว่า ปากกาวางอยู่บนโต๊ะ ภาษามือจะเริ่มจาก โต๊ะปากกาวาง เพราะว่าถ้าไม่มีโต๊ะ ปากกาจะตกทันที นี้คือภาษาภาพของภาษามือ

“ต่อมาในด้านการทำงานก็จะมีเรื่องของการถ่ายทอดอารมณ์ สีหน้าท่าทาง การพลิกหันฝ่ามือ คือองค์ประกอบที่สำคัญ สีหน้าเป็นตัวบ่งบอกลักษณะ เล็ก ใหญ่  คนตกตึกตาย แต่ว่าผู้ประกาศบอกว่ากระแทก เราก็ต้องกระแทกลงไป ตามจังหวะเขาให้ได้  ลุงตู่พูดแถลงโหดมา ล่ามก็ต้องแปลโหดไป ลุงพูดซับซ้อนก็ต้องซับซ้อน ทำไม ถามทำไม ทำไม เราก็ต้องถามทำไมๆ”

เพลงรบบอกว่านี้คือสิ่งที่ต้องแลกด้วยผลตอบแทนเงินรายได้ที่สูงไม่ได้ต่างจากอาชีพแพทย์เลยทีเดียว โดยขั้นรายได้ตกอยู่ที่ 600-3,000 บาทต่อชั่วโมง เด็กจบใหม่ทำงานตามเกณฑ์ของล่ามที่ไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวันจะมีเงินไม่น้อยกว่า 3,600 บาทต่อ 

“ทั้งหมดทั้งมวลคือ ใจ ใจรักทำให้มีการรับผิดชอบที่ตามมา การเป็นล่ามนอนน้อยก็ไม่ได้ไม่มีสติการแปรรวน แม้ผู้ประกาศอ่านชัดมาก เราฟังอาจจะเพี้ยนเพราะสมองเราไม่ทำงาน ก็ต้องมีระบบการจัดการตัวเองที่ดี ซึ่งทั้งหมดพูดกว้างๆ ได้ง่ายๆ ว่า ใจต้องรักจริงๆ”

รู้จัก "เพลงรบ กิติคุณดิลก" ล่ามผู้ถ่ายทอดบทเพลงผ่านภาษามือ

กล้าและมั่นใจ ไม่มีอะไรทำไม่ได้

7 ปี บนถนนการเป็นล่ามภาษามือ เพลงรบได้พิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจทว่าท่ามกลางความสำเร็จนั้นเขาบอกว่ายังต้องพยายามขึ้นไปอีก

“เราก็พลาด มีผิด จำศัพท์ผิด” เขาบอก

“ไม่มีใครจบออกมาเกียรตินิยมอันดับ 1 ออกมาแต่คุณไม่กล้าที่จะทำมันก็ไม่มีผลงาน  ล่ามภาษามือถ้าคุณไม่กล้ายืนหน้าเวทีเพื่อแปลภาษามือ คุณก็เป็นล่ามที่ดีไม่ได้ ล่ามต้องมีคือความกล้า ความมั่นใจ ถามว่ามีแปลผิดไหม ทุกอาชีพมันมีการพลาด อยู่ที่ว่าพลาดแล้วเราจะเอามาปรับปรุงแก้ไข หรือพลาดแล้วเราจะหยุดมัน”
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่มีคอนเทนต์ต่างๆ เกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ล่ามภาษามือจะต้องเพิ่มเติมความสามารถ อย่างที่เพลงรบกล้าที่จะแปลภาษามือเป็นเพลงของวงไอดอลยอดฮิต BNK-48 ศิลปินที่ไม่มีใครไม่รู้จัก จากเพลง ‘เธอคือเมโลดี้’ ผ่านรายการ ‘สนามข่าว’ ทางต้นสังกัดช่อง 7  ทำให้คนในวงการดนตรีหันกลับมาให้ความสำคัญกับล่ามภาษามือผู้สื่อสารถึงคนหูหนวกที่รักดนตรีในยุคที่โลกดนตรีหลายประเทศเริ่มมีล่ามภาษามือในโชว์ต่างๆ มากขึ้น

“ดีกว่าเรานั่งเฉยๆ เพราะเราตั้งหมุดชีวิตมาอย่างนี้แล้ว เราต้องพยายามแปลในสิ่งที่เรารับมาให้ได้มากที่สุด แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ 100 % แต่ใน 2 ชั่วโมงตามกฎข้อกำหนดการแปลภาษามือจะมีกรอบเวลาในการปฏิบัติงาน ไม่สามารถลากยาวคนเดียวได้เกิน 2 ชั่วโมง เราทำให้เขารับรู้เรื่องราวเหล่านั้นไปกับพวกเราๆ ด้วยได้ยังไงบ้าง อันนี้คือการแปลในโทรทัศน์”

“แต่ถ้าแปลนอกสถานที่แปลบนเวทีคอนเสิร์ต” เพลงรบบอกว่า แนวเพลงแร็พที่ว่าแน่ๆ ยังต้องแพ้ราบคราบ ข่าวบันเทิงที่ผู้ประกาศใส่มุกตลกแทรกขึ้นนอกบทหากเป็นประชุมสัมมนายังทิ้งได้ไม่ถึงช่วงตัว

“ยากหรือง่ายตรงนรี้ถ้าเราได้รู้ทำการบ้านก่อนมันไม่ยาก รู้คำศัพท์ในประโยคเพลงเขาพูดว่าอะไรแค่นั้นเอง จำได้ เข้าใจก็แปลได้ ส่วนการใส่จังหวะมันอยู่ที่แต่ละคน ใครจะใส่จังหวะใด ถ้าไม่ติดจอเล็กวาดมือวาดไม้แล้วหลุดกรอบคนดูมองไม่เห็นว่าแปลอะไรยิ่งง่าย อย่างคอนเสิร์ตเราเต้นไปกับศิลปินเลย ร้องโย่วๆ มาก็แปลเป็นคำศัพท์ตามท่าทาง”
อย่างไรก็ตามขอบเขตของการแปลก็ยังต้องคงไว้ เพราะเหนือสิ่งอื่นใดคือการสื่อสารที่ถูกต้อง

“การแปลภาษามือก็จะมีหน่วยตรวจสอบว่าแปลถูกดหรือผิด ผิดคุณไม่สามารถต่อใบอนุญาตการแปลภาษามือต่อไปจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เป็นผู้ตรวจสอบ”

“เพราะโจทย์ของชีวิตเราคือทำประโยชน์ได้มากขึ้น” เขากล่าวทิ้งท้าย

และนี่ก็คือเรื่องราวชายผู้ชื่อ ‘เพลงรบ กิติคุณดิลก’ ผู้ลบโลกไร้เสียงแกผู้พิการทางการได้ยินให้กลับมามีเมโลดี้ชีวิตที่กังวานในสังคมไทย

รู้จัก "เพลงรบ กิติคุณดิลก" ล่ามผู้ถ่ายทอดบทเพลงผ่านภาษามือ