posttoday

ศาลอุทธรณ์พิพากษา "ศิริโชค" หมิ่นทายาทโรงแรมดัง ให้รอลงอาญา2ปีปรับ1แสน

01 พฤษภาคม 2562

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ "ศิริโชค โสภา" ผิดฐานหมิ่นประมาททายาทเจ้าของโรงแรมแลนด์มาร์ค ให้รอลงอาญา 2 ปีปรับ 1 แสน ลงโฆษณาคำพิพากษาใน นสพ. 7 วัน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ "ศิริโชค โสภา" ผิดฐานหมิ่นประมาททายาทเจ้าของโรงแรมแลนด์มาร์ค ให้รอลงอาญา 2 ปีปรับ 1 แสน ลงโฆษณาคำพิพากษาใน นสพ. 7 วัน

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.62 เวลา 10.00 น.ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.3352/2558 ที่นายอนุชา สิหนาทกถากุล อายุ 60 ปี นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตระกูลดังบุตรชายของนายมนตรี เจ้าของธุรกิจโรงแรมแลนด์มาร์ค เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายศิริโชค โสภา อายุ 52 ปี อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยคดี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค.- 8 ต.ค.58 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทำนองว่า บิดาของโจทก์ เป็นคนไม่ดี ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ซึ่งทำให้โจทก์รู้สึกได้รับความเสียหาย จึงนำเรื่องมายื่นฟ้องเป็นคดีโดย นายศิริโชค จำเลย ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา วันที่ 16 พ.ย.60 เห็นว่า การที่จำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊ก ประกอบภาพถ่าย ระบุว่าแม่โดนหลอกให้ทำสัญญาเงินกู้แล้วไม่ได้รับเงิน สร้างหลักฐานเท็จมาฟ้องคดี และที่แม่ถูกจำคุกเพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอนั้น ทำให้ผู้ติดตามเฟซบุ๊กจำเลย เข้ามาแสดงความคิดเห็นตำหนิบิดาของโจทก์และครอบครัวโจทก์ว่าเป็นคนไม่ดี ได้รับความเสียหาย ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

จึงพิพากษาว่านายศิริโชค จำเลย มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 100,000 บาท พร้อมทั้งให้จำเลย ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับด้วย ได้แก่ ไทยรัฐ , เดลินิวส์ , ผู้จัดการ และเดอะเนชั่นภาคภาษาอังกฤษ เป็นเวลา 7 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และเมื่อพิเคราะห์ถึงจำเลยแล้วเป็นบุคคลสาธารณะ เคยทำประโยชน์ ไม่เคยต้องโทษมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปี

ต่อมา ฝ่ายโจทก์ยื่นอทุธรณ์ ขอให้ศาลไม่รอลงอาญาจำเลย ขณะที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ด้วยเช่นกันในประเด็นการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

ซึ่งวันนี้ นายศิริโชค ก็เดินทางมาศาลพร้อมกับครอบครัว และคณะทนาย เพื่อฟังคำพิพากษา ส่วนโจทก์มีเพียงผู้แทนรับมอบอำนาจมาศาล

โดย ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า แม้โจทก์ไม่สามารถนำสืบเรื่อง IP Address แสดงตำแหน่งจุดผู้โพสต์จากระบบคอมพิวเตอร์ได้ชัดเจน แต่สามารถนำสืบเรื่อง URL ที่สอดคล้องกับเฟซบุ๊กจำเลยได้ที่มีทั้งชื่อและภาพโปร์ไฟล์ของจำเลย และเมื่อดูข้อความที่เคยโพสต์ก็ล้วนเป็นข้อมูลภายในที่บุคคลภายในและเกี่ยวข้องจะต้องทราบเท่านั้น เช่นข้อมูลไฟดับภายในพรรคประชาธิปัตย์จนเข้าเว็บไซต์พรรคไม่ได้ ข้อมูลการตรวจสอบเรื่องต่างๆ รวมทั้งคดีความระหว่างครอบครัวโจทก์กับครอบครัวจำเลย

ส่วนที่ว่าเคยมีเหตุการณ์การปลอมเฟซบุ๊กผู้มีชื่อเสียงนั้นแต่ก็ไม่เคยปรากฏกรณีของจำเลยมาก่อน น้ำหนักพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กของตนซึ่งกล่าวพาดพิงถึงบิดาโจทก์ ผู้ตาย เกี่ยวกับเรื่องคดีกู้ยืมเงินระหว่างบิดาโจทก์ กับน.ส.เสาวรส โสภา มารดาของนายศิริโชค จำเลย ทำให้บุคคลที่ 3 เข้าใจว่า เป็นบิดาโจทก์และครอบครัวโจทก์ เป็นคนไม่ดี คนโกง คนทำผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่การติชม โดยสุจริตเพื่อป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับตนโดยชอบธรรม อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษจำเลยนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ เห็นว่าแม้การกระทำนั้นเป็นการหมิ่นประมาทฯ แต่ก็ยังสามารถเยียวยาโจทก์ด้วยด้วยการลงโฆษณา ขอโทษหรือคำพิพากษาใน หนังสือพิมพ์ได้ ขณะที่นายศิริโชค จำเลย เคยทำความดีโพสต์เรื่องการใช้รถราชการขนยาเสพติดมาก่อน ซึ่งเป็นการตรวจสอบทำประโยชน์เพื่อสังคม และต้องเสี่ยงภัยต่อขบวนการยาเสพติดด้วย ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยผิดฐานหมิ่นประมาทฯ และให้รอลงอาญา จึงชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายศิริโชค กล่าวว่า ก็พอใจกับคำพิพากษาระดับหนึ่ง ส่วนจะมีการฎีกาอีกหรือไม่ขอปรึกษากับทนายความก่อน สำหรับการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์นั้นก็ยังไม่ได้ดำเนินการเพราะที่ผ่านมาคดียังมีการอุทธรณ์อยู่ ผลคดียังไม่สิ้นสุด โดยหลังจากนั้นฝ่ายโจทก์เองยังจะฎีกาอีกหรือไม่ ก็ต้องรอดูเช่นกัน