posttoday

ดูหนังอินมากก็เป็นได้! เครียดจัด-กดดันหนักต้องระวังอาการ "ไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม"

28 เมษายน 2562

รู้จักกับ "ไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม" ภัยใกล้ตัวจากภาวะความเครียดกดดัน หลังหญิงจีนรายหนึ่งเกิดอาการนี้ขณะอินกับการดูหนังดัง "Avengers: Endgame"

รู้จักกับ "ไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม" ภัยใกล้ตัวจากภาวะความเครียดกดดัน หลังหญิงจีนรายหนึ่งเกิดอาการนี้ขณะอินกับการดูหนังดัง "Avengers: Endgame"

**********************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

จากกรณีกลายเป็นที่ตื่นตระหนกหลังสาวจีนรายหนึ่งร้องไห้ไม่หยุดก่อนจะมีอาการมือเกร็งต้องรีบหามส่งโรงพยาบาลขณะดูภาพยนต์ดัง Avengers ภาค Endgame จนเป็นที่แชร์และส่งต่อในโลกออนไลน์ ถึงภาวะที่เกิดขึ้น “ไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม” หรือ “ภาวะหอบจากอารมณ์”

ซึ่งผู้ที่เกิดภาวะตึงเครียด วิตกกังวลและกดดันเป็นอย่างมาก จะเกิดอาการหายใจถี่ หายใจเร็วอย่างเห็นได้ชัดและมีลักษณะหอบ แน่นหน้าอก มึนเวียนศีรษะ ตัวชา ก่อนจะมีอาการชักเกร็งมือทั้งสองข้างเกิดจีบเกร็ง  

พ.ญ. อทิตยาพร แก้ววรรณ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก ได้มาช่วยไขสาเหตุและการป้องกันภาวะ “ไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม” หรือ “ภาวะหอบจากอารมณ์” เกิดขึ้นภาวะตึงเครียด มีปัญหามีความกดดันทางจิตใจ หรือว่ามีภาวะวิตกกังวลอย่างมาก กลไกของร่างกายก็จะทำให้เกิดอาการหายใจหอบ หายใจเร็ว ร่างกายจึงนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกเกินทำให้ร่างกายเสียสมดุล ได้แก่ 1.กระตุ้นให้เกิดการหดตัวของเส้นเลือดจึงมีอาการมึนเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม 2.เลือดเป็นด่างส่งผลให้แคลเซียมที่อยู่ในเลือดลดลงทำให้มีอาการมือจีบเกร็ง

“ไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม” ไม่ใช่โรค

พ.ญ. อทิตยาพร บอกว่า ไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม มีชื่อเรียกที่หลากหลาย อาทิ โรคหอบจากอารมณ์ ภาวะหายใจเกิน ภาวะหายใจหอบลึก เป็นภาวะทางจิตเวช ไม่ใช่โรค และมักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวแต่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต

“อาการแสดงของการหายใจไวชักเกร็งและมือจีบชั่วระยะเวลาหนึ่ง  อาการแสดงของจะหายช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการหายใจของผู้ป่วย ให้หายใจช้าๆ จะยิ่งหายไว แต่สิ่งที่ทุกๆ คนต้องคำนึงคือภาวะดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับโรคอื่นๆ ที่ร้ายแรง ซึ่งหากอาการไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม เกิดจากสาเหตุทางร่างกายอื่นๆ ร่วม ซึ่งจะมีการแสดงอาการที่คล้ายๆ กันคือหายใจถี่หอบ ตื่นตระหนก และเน้นหน้าอก เช่นโรคทางหัวใจ โรคหอบหืด แต่ภาวะนี้คนส่วนใหญ่จะแยกออกได้ยาก ก็มีความเสี่ยงสูงต่อชีวิต”

ดังนั้นถ้าคนไข้มีประวัติโรคส่วนตัว เช่นโรคหอบหืด โรคทางหัวใจ โรคลมชัก  ภาวะหัวใจขาดเลือด หรือภาวะเป็นกรดในเลือดจากเบาหวาน เมื่อเกิดอาการดังกล่าวขึ้นจึงควรที่จะรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุการเกิด

ดูหนังอินมากก็เป็นได้! เครียดจัด-กดดันหนักต้องระวังอาการ "ไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม"

รบกวนชีวิตประจำวัน พบได้ในหญิงมากกว่าชาย

พ.ญ. อทิตยาพร บอกอีกว่า ภาวะไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยอายุที่พบบ่อยที่สุดคือ ช่วงวัยรุ่นไปจนถึงช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น และปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการได้แก่ สถานการณ์ขัดแย้ง เหตุการณ์การทะเลาะ ความกดดันทางอารมณ์ ช่วงที่จะสอบ และช่วงรับน้องซึ่งเป็นช่วงที่พบมากที่สุด

“อย่างในข่าวที่เมื่อเร็วๆ นี้เราได้ยินภาวะนี้อีกครั้งก็คือผู้หญิงคนจีนดูหนังและเกิดอาการขึ้น ตรงนี้ก็เกิดขึ้นเช่นกันในลักษณะทางอารมณ์มาเต็ม เนื้อเรื่องบีบคั้นมาก ตื่นเต้นกับฉากมากในระหว่างที่ดูหนัง ซึ่งไม่เคยเจอประสบการณ์อย่างนี้ เพิ่งเกิดขึ้นมาก็จะเลยเกิดตกใจและนำไปสู่ภาวะไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม”

ทั้งนี้ทั้งนั้นภาวะไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม สามารถเกิดขึ้นกับทุกๆ ได้ รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย เมื่อเกิดอาการกำเริบส่งผลให้เครียดภาวะดังกล่าวก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าเกิดขึ้นบ่อยจนรบกวนชีวิตประจำวันทำให้ฟังก์ชันงานและความสัมพันธ์เสียคนรอบข้างเสียไปจากแต่เดิม ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้สภาวะพัฒนาไปเป็นโรคอื่นๆ ทั้งโรคตามสายโรคเครียดทางจิตเวชและร่างกายเพราะความเครียดเป็นบ่อเกิดแห่งโรค อาจจะเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ฯลฯ

ออกกำลังกาย เลิกเครียด ช่วยได้

จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กล่าวถึงวิธีการรักษาภาวะดังกล่าวสามารถทำได้ทั้งรักษาและป้องกัน โดยขณะเกิดภาวะพยายามตื่นตระหนกให้น้อยที่สุด อยู่ในที่โล่งๆ หลีกเลี่ยงการมุงของฝูงชน พยายามบอกให้คนป่วยคลายความกังวลและหายใจช้าๆ  โฟกัสที่ลมหายใจให้หายใจลมหายใจทางหน้าท้อง  อาจจะนับ1-5 เมื่อหายใจเข้าและนับ1-5 เมื่อปล่อยลมหายใจออก

“ส่วนสมัยก่อนก็เป็นวิธีอีกแบบที่ช่วยได้คือการใช้ถุงกระดาษครอบและหายใจในถุงกระดาษ เพราะพอคนป่วยเกิดภาวะขึ้นจะมีอาการตกใจและคุมตัวเองไม่ได้ การใช้ถุงครอบจะช่วยให้คาร์บอนไดออกไซด์คั่งในถุงแล้วถูกหายใจกลับเข้าไปสู่ร่างกาย แต่ไม่นิยมในปัจจุบันเนื่องจากหากไม่ทราบว่าคนป่วยมีโรคอื่นประจำตัว เช่น หัวใจขาดเลือด หรือภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ อาจจะทำให้เป็นอันตรายได้ หากยังไม่ได้พบแพทย์ตรวจเช็คมาก่อนว่าไม่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องตรงนี้จึงไม่ควรใช้ถุงกระดาษครอบแล้วหายใจช่วยผู้ป่วย”

ดูหนังอินมากก็เป็นได้! เครียดจัด-กดดันหนักต้องระวังอาการ "ไฮเปอร์เวนติเลชั่น ซินโดรม"

วิธีเบื้องต้นหลังช่วยปฐมพยาบาลในการเตือนผู้ป่วยให้หายใจเบื้องต้นตามหลักการหายใจผ่อนคลายความเครียด หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำตัวพบส่งโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ โดยแพทย์จะให้ยาในกลุ่มคลายกังวลและยากล่อมประสาทประเภทยานอนหลับ

“วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะนี้คือคิดบวก เวลาเกิดความเครียดให้เปลี่ยนเรื่องคิด  ไม่โฟกัสที่เรื่องเครียดจะช่วยให้ภาวะนี้หายไปเอง แต่ถ้าเริ่มเป็นก็เป็นอาการบ่งบอกว่าคุณมีการจัดการเรื่องความเครียดที่ไม่ดี ดังนั้นถ้าในอนาคตคุณเจอความเครียดแบบนี้อีก ก็ย่อมมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นได้ การแก้ไขที่ดีที่สุดเราจึงควรค้นหาอะไรที่ชอบทำแล้วสบายใจให้ลองทำใน 1 อาทิตย์ ใน 1วัน เพื่อผ่อนคลายความเครียดไม่ให้สะสม

“นอกจากนี้การออกกำลังกายเพราะว่าร่างกายจะเพิ่มสารเอ็นโดรฟินในสมองตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยอาทิตย์หนึ่งออกกำลังกาย 3-4 ในอาทิตย์ ครั้งละประมาณ 30 นาที นอกจากช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้ชีวิตเราผสานลงตัวในทุกอย่าง”