posttoday

คำตอบจาก "ทนาย" แบบไหนเรียกว่า "รถของกลางในคดี"

22 เมษายน 2562

ไขคำตอบจากทนายความ "รถอยู่โรงพัก" แบบไหนเป็นของกลางในคดี ที่จะได้รับความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ  

ไขคำตอบจากทนายความ "รถอยู่โรงพัก" แบบไหนเป็นของกลางในคดี ที่จะได้รับความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ  

**********************

ล้อหาย ปั๊มเบรกถูกถอด ท่อโดนตัด ฯลฯ ทั้งๆ ที่รถถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปไว้ที่โรงพัก กลายเป็นประเด็นร้อนของเมืองไทยที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้งหนึ่ง โดยในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ขโมยอะไหล่รถในพื้นที่สถานีตำรวจได้แล้ว และได้ระบุเหตุการณ์ดังกล่าวว่าไม่ใช่รถของกลางในคดีเหตุไม่มีคู่กรณี จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย 

ท่ามกลางสังคมตั้งคำถามและสงสัยถึงคดีแบบไหนที่เกิดกับรถ แล้วรถจะกลายเป็นของกลางในคดีที่ได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างดีจากทางราชการได้อย่างไร หากเกิดเหตุรถชนบาดเจ็บนอนโรงหมอ รถอยู่โรงพักต้องแยกร่างเฝ้ารถเพื่อให้รถปลอดภัยใช่หรือไม่     

ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้มาไขคำตอบให้กระจ่างกับ โพสต์ทูเดย์ ดังนี้

คำตอบจาก "ทนาย" แบบไหนเรียกว่า "รถของกลางในคดี"

"ถูกเจ้าหน้าที่ยึด" คือ รถของกลางในคดี 

ทนายเกิดผล แก้วเกิด อธิบายถึงรายละเอียด “รถของกลางในคดี” จะเกิดขึ้นได้คือ 1.รถมีคดีอาญาทุกประเภทติดกับรถ 2.รถเป็นทรัพย์ได้มาจากการกระทำความผิด โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีคู่กรณีเสมอไป

“รถที่ขโมยมา รถที่ถูกปล้นทรัพย์มาหรือรถที่ถูกชิงทรัพย์มา รถที่ใช้ในการหลบหนีเจ้าพนักงาน หรือว่าไปเจอซากโครงรถจอดอยู่ ไม่รู้ใครเป็นเจ้าของ สงสัยว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นก็ยึดเอาไว้ก่อน หรือเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนแล้วแต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับผิดจนเกิดมีข้อพิพาทหรือโต้แย้งกันเกิดขึ้น รถดังกล่าวเหล่านี้จะเข้าสู่กระบวนการเป็นรถของกลางในคดีทันที”

ดังนั้นบางกรณีที่ไม่เกิดการยึดรถเพราะไม่ต้องพิสูจน์หลักฐาน บางกรณีที่ยึดคือการยึดเพื่อพิสูจน์หลักฐาน โดยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ชี้ว่า รถจะเป็นของกลางในคดีได้นั้นขึ้นอยู่กับบริบทของข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้นว่าเจ้าพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องยึดไว้เป็นของกลางหรือไม่ และจะถูกจัดให้อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจในการยึดรถเป็นของกลาง

นำมาด้วยเหตุซึ่งหน้าก็ต้องดูแล

ทนายเกิดผล บอกแม้ว่า “รถของกลางในคดี”  จะถูกระบุอย่างชัดเจนในข้อของการมีคดีอาญาเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นหน้าที่เจ้าพนักหน้าที่ต้องดูแล แต่อย่างไรก็ตามหากเจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถมาไม่ว่าด้วยเพราะเหตุผลใด อาทิ รถที่เกิดอุบัติเหตุมาไว้ยังพื้นที่ดูแลอย่างสถานีตำรวจเพื่อไม่ให้กีดขวางทางจราจร ถือยึดโดยหน้าที่หากนำมาเก็บไว้นับเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลโดยปริยาย 

ถึงไม่ใช่หน้าที่โดยตรงตั้งแต่เริ่มต้น แต่ก็เป็นหน้าที่โดยปริยายเพราะเอาทรัพย์สินคนอื่นมาก็ต้องรับผิดชอบ เมื่อนำมาไว้ซึ่งการดแลการครอบครองก็มีหน้าที่ต้องดูแล รักษาอย่างระมัดระวังเยี่ยงเจ้าของทรัพย์หรือปุถุชนทั่วไป จะอ้างว่าไม่ใช้ทรัพย์ของกลางที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลไม่ได้ ปล่อยปะละเลยหรือทิ้งขวางไม่ได้”

จากกรณีข่าวที่เกิดกระแสประชาชนสงสัยเกี่ยวกับรถของกลางในคดี ทนายเกิดผล เสริมว่า หากเกิดผู้ขับรถคันดังกล่าวล้มเอง ไม่มีคู่กรณีแสดงความไม่มีใครกระทำผิดอาญา เจ้าหน้าที่นำรถมาเพื่อไม่ให้เกิดการกีดขวางทางจราจร รถคันดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นรถของกลางในคดี แต่เป็นรถที่เจ้าหน้าที่นำโดยไม่หน้าที่โดยตรงซึ่งจำเป็นต้องดูแลรักษาไม่ต่างกัน

คำตอบจาก "ทนาย" แบบไหนเรียกว่า "รถของกลางในคดี"

ฟ้องได้ใน 1 ปี ต้องมีหลักฐานการเป็นเจ้าของ

หากเกิดทรัยพ์สินเสียและสูญหายในระหว่างทั้ง 2 กรณี ทนายเกิดผล ชี้แจงว่าเจ้าทุกข์สามารถเรียกร้องค่าเสียหายกับทางเจ้าหน้าที่ได้ โดยสามารถเรียกร้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้โดยตรงเป็นจำเลย โดยมีอายุความ 1 ปี และมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.หลักฐานของเจ้าพนักงาน ซึ่งหากยึดโดยอำนาจจะมีหนังสือยึดรถโดยเป็นรูปแบบเดียวกับการยึดของกลางในคดีทั่วๆ ไป ให้นำหลักฐานสิ่งนี้แสดง ส่วนในกรณีที่นำรถมาด้วยภาระหน้าที่ซึ่งหน้าสามารถใช้รูปถ่ายของทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิหรือรูปถ่ายของเจ้าหน้าที่ร้อยเวรที่ถ่ายไว้เป็นหลักฐานนำมาเป็นหลักฐานได้เช่นเดียวกัน

2.หลักฐานผู้ครอบครองหรือเป็นเจ้าของรถ เช่น เล่มทะเบียนรถ ใบจดแจ้งทะเบียนรถ ส่วนกรณีเช่าซื้อก็ใช้สัญญาการเช่าซื้อ นำมาแสดง

3.ใบแจ้งราคาหรือประเมินราคาความเสียหายของสิ่งที่หายไปว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งในจุดนี้สำคัญที่หากเป็นรถแต่งควรที่จะเก็บใบเสร็จในการแต่งรถทุกครั้งเพื่อเป็นสิ่งยืนยัน