posttoday

ศวปถ.แนะลงโทษ"เมาขับชนคนตาย"ตามเจตนารมย์กฎหมาย

14 เมษายน 2562

ศวปถ.แนะลงโทษ"เมาขับชนคนตาย"ตามสมควรที่กฎหมายกำหนดถือเป็นพฤติกรรมขับขี่ที่อันตรายและต้องประชาสัมพันธ์เพื่อไม่ให้ประชาชนฝ่าฝืน

ศวปถ.แนะลงโทษ"เมาขับชนคนตาย"ตามสมควรที่กฎหมายกำหนดถือเป็นพฤติกรรมขับขี่ที่อันตรายและต้องประชาสัมพันธ์เพื่อไม่ให้ประชาชนฝ่าฝืน

จากกรณีนักธุรกิจเสี่ยเบนซ์ก่อเหตุเมาแล้วขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิตสองราย คือพ.ต.ท. จตุพร งามสุวิชชากุล รอง ผกก. (สอบสวน) กองกำกับการ 2 กองปราบปราม และนางนุชนาถ งามสุวิชชากุล ภรรยา ส่วนนางสาวพิญาภา งามสุวิชชากุล ลูกสาว ได้รับบาดเจ็บสาหัส ล่าสุดศาลไม่เห็นด้วย กรณีเมาขับรถชนมีคนตาย โดนข้อหาเจตนาฆ่า พนักงานสอบสวน สน.ศาลาแดง ฝากขังแจ้งข้อหาแล้ว แต่ศาลจังหวัดตลิ่งชันสั่งให้กลับไปพิจารณาใหม่ สรุปแจ้งข้อหายังคงเป็นขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 2 แสนบาท

นพ.ธนะพงศ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) กล่าวว่า ข้อหา "เมาขับชนคนตาย" ซึ่งมีบทลงโทษ ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทและจำคุกไม่เกิน 10 ปี แต่ที่ผ่านมา เกือบทั้งหมด ศาลจะลงโทษปรับ จำคุก แต่เมื่อจำเลยสารภาพ โทษจะลดกึ่งหนึ่ง ดังนั้นโทษจำคุก เท่ากับรอลงอาญา

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า แม้เจตนารมย์ของกฎหมาย โดยเฉพาะในทางสากลจะถือว่า "เมาขับชนคนตาย" เป็นพฤติกรรมขับขี่ที่อันตราย criminal intent มีโทษหนักมากกว่าคดีประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เช่น ญี่ปุ่น ลงโทษจำคุกสูงสุด 15-20ปี (มีการจำคุกเกือบทุกราย) ในขณะที่บ้านเรา "เมาขับชนคนตาย" จะถือเป็น ฐานความผิดเช่นเดียวกับ กฎหมายอาญา ม.291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทำให้การพิจารณาลงโทษถูกมองว่าเป็นเพียงความ "ประมาท" จึงรอลงอาญา

“จริงๆ แล้วกฎหมายที่มีอยู่ ถ้ากระบวนการตุลาการได้มีการลงโทษ ตามสมควรที่กฎหมายกำหนด (ไม่รอลงอาญาเป็นส่วนใหญ่) และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้เจตนารมณ์ของกฏหมาย เพื่อไม่ฝ่าฝืนและเห็นว่าเป็นเพียงโทษประมาท ไม่มีใครติดคุก ก็ไม่ต้องประสบกับปัญหา ศาลไม่รับฟ้อง และความลำบากของ พนักงานสืบสวนสอบสวน ที่ต้องพยายามแจ้งข้อหาแรงจนอาจจะขัดกับหลักกฎหมายที่มีอยู่”นพ.ธนะพงศ์ กล่าว