posttoday

เปิดผลโพลชี้ 5พฤติกรรมสุดยี้ช่วงสงกรานต์ เผยวัยรุ่น48.7%ถูกคุกคามทางเพศ

09 เมษายน 2562

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเผยผลโพลชี้ 5 พฤติกรรมสุดยี้ช่วงสงกรานต์ พบคนอายุ 12-25ปี 48.7% ถูกลวนลามคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเผยผลโพลชี้ 5 พฤติกรรมสุดยี้ช่วงสงกรานต์ พบคนอายุ 12-25ปี 48.7% ถูกลวนลามคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 62 นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า มูลนิธิได้ลงพื้นที่ สำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์ ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 12ปี – 25ปี จำนวน 2,400 ตัวอย่างในพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑล และในต่างจังหวัดทั้ง4 ภาค โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่13-27 มี.ค. 2562 พบว่า ร้อยละ48.7 เคยถูกลวนลามคุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์

สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงและน่าเบื่อหน่าย สร้างปัญหามากในช่วงสงกรานต์ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เมาขาดสติ 2.ฉวยโอกาสลวนลามคุกคามทางเพศ 3.ทะเลาะวิวาท 4.อนาจารโป๊เปลือย 5.แว๊นซิ่ง

ส่วนปัญหาอื่นในลำดับถัดมาคือ เสียงดังอึกทึก โดนแซวพูดจาไม่ดี ใช้อุปกรณ์อันตรายเช่น เม็ดแมงลัก น้ำแข็ง ปืนแรงดันสูง บังคับให้ดื่มแอลกอฮอล์ และดักรถเพื่อรีดไถเงินข่มขู่

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ คือ ร้อยละ 32.9มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ20.4 การการบังคับใช้กฎหมาย ร้อยละ 19 คึกคะนอง ร้อยละ15.3 ค่านิยมผิดๆ และ12.4 ไม่รู้จักเคารพให้เกียรติผู้อื่น เมื่อถามว่า สงกรานต์ปีนี้จะดื่มเหล้าหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกินครึ่ง ร้อยละ 59.1ระบุว่า ไม่ดื่ม อีกทั้งร้อยละ 89.6 เห็นด้วยว่าควรจัดพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำปลอดเหล้า และร้อยละ73.5เห็นด้วยว่าควรงดจำหน่ายสุราในวันที่13เม.ย.

“นอกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญแล้ว รากฐานของปัญหายังมาจากระบบคิดเป็นชายเป็นใหญ่ ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ การที่เด็ก เยาวชน ไม่ถูกสอนให้รู้ถึงการเคารพในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น การเรียนรู้เสรีภาพอย่างมีขอบเขต ดังนั้นความคิดความเชื่อที่ผิดๆว่าสงกรานต์คือช่วงเวลาทองของการฉวยโอกาสจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าเทศกาลใดหรือผู้เสียหายจะแต่งตัวแบบไหน เราก็ไม่มีสิทธิไปละเมิดเขา ตรงนี้คือจุดสำคัญ การกล่าวโทษเรื่องการแต่งตัว เป็นการโยนปัญหาทั้งหมดให้ผู้หญิง แล้วละเลยผู้ก่อเหตุ คนทำความผิดที่ยังคงลอยนวล จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง” นายจะเด็จ กล่าว

ด้านพ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)กล่าวว่าปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อาทิ การคุกคามทางเพศ จับก้นจับหน้าอก อวัยวะเพศ กระทำอนาจารผู้อื่น โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การอนาจารซึ่งหมายถึงกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล เปลือย เปิดเผยร่างกาย หรือลามก โทษปรับไม่เกิน 500 บาท

การเมาประพฤติตนวุ่นวายในที่สาธารณะ โทษปรับไม่เกิน 5,000บาท

ส่วนความผิดเกี่ยวตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551ก็มีอยู่หลายมาตราเช่น ห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20ปี หรือข่ายให้คนเมาครองสติไม่ได้ โทษจำคุกไม่เกิน 1ปีปรับไม่เกิน 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ห้ามดื่มบนรถขณะรถอยู่บนทาง วิ่งหรือจอดบนถนน โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การห้ามขายบนทาง ถนน ไหล่ทาง,ห้ามจัดส่งเสริมการขายลด แลก แจกแถม ก็มีโทษเท่ากัน

ส่วนพระราชบัญญัติจราจร พ.ศ. 2522กรณีเมาแล้วขับ โทษจำคุกไม่เกิน 1ปี ปรับ 5,000-20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น