posttoday

ใครว่า ‘หนังสือตายแล้ว’ แนวคิดใหม่เทศกาลหนังสือ

30 มีนาคม 2562

เริ่มกันไปแล้วกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47

เริ่มกันไปแล้วกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 โดยจะจัดไปถึงวันที่ 7 เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่จะจัดกันที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อนจะปิดซ่อมแซมปรับปรุง

สำหรับตลาดหนังสือเล่มโดยรวมในแต่ละปี ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท งานสัปดาห์หนังสือฯ กับงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติแต่ละครั้ง (ครั้งละ 2 สัปดาห์ ในเดือนมี.ค.และเดือน ต.ค.) จะมียอดขายหนังสือเล่มรวมกันราว 300-400 ล้านบาท หรือปีละราว600-800 ล้านบาท ประมาณ 5% ของตลาด
รวมทั้งหมด ถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ตลาดหนังสือเล่มมีเงินสะพัดมากที่สุดช่วงหนึ่งของปีหลายสำนักพิมพ์มีกำไรเป็นหลักล้านบาท จากการขายหนังสือในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 2 สัปดาห์นี้

ปัจจุบันสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในสังคม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมหนังสือ เทศกาลหนังสือก็ถึงเวลาปรับตัวและแปรเปลี่ยน ในรอบ 2-3 ปีหลัง มีความพยายามที่จะจัดเทศกาลหนังสือที่แหวกออกไปจากงานสัปดาห์หนังสือฯ และงานมหกรรมหนังสือฯ ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ประจำปี มาสำรวจถึงมุมมองความแปรเปลี่ยนตรงนี้กัน

ความแปรเปลี่ยนของเทศกาลหนังสือในไทย

ใครว่า ‘หนังสือตายแล้ว’ แนวคิดใหม่เทศกาลหนังสือ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมหนังสือได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาสังคมแห่งปัญญา เสริมสร้างศักยภาพ และต่อยอดองค์ความรู้ผ่านการอ่าน

ผลวิจัย “พฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทย” ที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ECON CHULA) และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) เมื่อปี2558 เผยถึงพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทย โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลผู้บริโภคทั่วประเทศ ในประเด็นพฤติกรรมการอ่านหนังสือ พฤติกรรมการเลือกซื้อหนังสือ รวมถึงวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการซื้อหนังสือ และผลกระทบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ต E-book/Digital Content ที่มีผลต่อการอ่านหนังสือเล่มของคนไทยอีกด้วย

คนไทยที่อ่านหนังสือจะซื้อหนังสือเฉลี่ยปีละ 4 เล่ม โดยคนกลุ่มที่ซื้อหนังสือมากที่สุดคือคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปีซื้อเฉลี่ยปีละ 9 เล่ม รองลงมาคือคนที่อายุ 21-30 ปีซื้อเฉลี่ยปีละ 6 เล่ม และค่อยๆ ลดจำนวนลงในคนที่มีอายุมากขึ้น จนกระทั่งคนที่มีอายุมากกว่า 61 ปีขึ้นไปจะกลับมาซื้อเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 4 เล่ม/ปี

หากหนังสือที่เกิดการซื้อได้รับการอ่านครบทุกเล่มก็ยังถือได้ว่า การอ่านของคนไทยเมื่อนับเป็นจำนวนเล่มอยู่ในระดับที่ต่ำมากและเป็นที่น่าสนใจว่าที่เด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 9 เล่มนั้น จำนวน 4 เล่มเป็นการ์ตูน/นิยายภาพ และอีก 3 เล่มเป็นคู่มือเตรียมสอบ

ส่วนงานสัปดาห์หนังสือฯ งานมหกรรมหนังสือฯ กับการซื้อหนังสือในร้านหนังสือของคนไทย หากพิจารณาสัดส่วนของผู้ที่เคยไปในแต่ละจังหวัด พบว่า คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีจำนวนผู้ที่เคยไปงานน้อยที่สุด โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7 ของผู้ที่อ่านหนังสือ ขณะที่ในต่างจังหวัดนั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 แต่หากเทียบเป็นจำนวนคน คนกรุงเทพฯ มีจำนวนคนที่ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือ/งานมหกรรมหนังสือสูงกว่าต่างจังหวัดมาก ทั้งนี้เพราะตลาดหนังสือในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้นใหญ่กว่าในต่างจังหวัดหลายเท่า

เมื่อพิจารณาความถี่ในการเข้าร้านหนังสือและความถี่ในการซื้อหนังสือ จำแนกตามพฤติกรรมที่ว่าเคยหรือไม่เคยไปงานเทศกาลหนังสือ พบว่า คนที่ซื้อหนังสือในร้านหนังสือมีแนวโน้มจะเป็นคนที่ไปงานเทศกาลหนังสือ แต่คนที่ไปงานเทศกาลหนังสือมีทั้งคนที่เคยและไม่เคยเดินเข้าร้านหนังสือเลย กล่าวคือ งานเทศกาลหนังสือต่างๆ จะมีตลาดครอบคลุมผู้ซื้อที่กว้างกว่าการขายหนังสือในร้านหนังสือทั่วไป

โอกาสและมุมมองใหม่ โมเดล “ความรัก ความรู้ ความสุข”

ใครว่า ‘หนังสือตายแล้ว’ แนวคิดใหม่เทศกาลหนังสือ

อนุรุทธ์ วรรณพิณ ผู้จัดงานเทศกาลหนังสือ LIT Fest และผู้บริหารเว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ readery.co ได้ขยายภาพให้เห็นถึงความแปรเปลี่ยนในมุมมองของเขาผ่านการขายหนังสือออนไลน์และจัดงานเทศกาลหนังสือโมเดลใหม่ว่า ไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่

“ต้องยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็เปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าร้านหนังสือออนไลน์ผมไม่ได้เติบโตจากตรงนั้น จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากการสังเกตพฤติกรรม ซึ่งเป็นธรรมชาติของเราอยู่แล้ว เพราะเราชอบอ่านหนังสือ ก็คอยดูว่าคนอื่นเขาอ่านอะไรกัน วิธีอ่านเขาเป็นอย่างไร

ร้านหนังสือออนไลน์ มันเริ่มมาจากการที่พวกเราชอบอ่านหนังสือมากๆ เริ่มจากเป็นคนอ่านธรรมดาๆ ก่อน เล่มนี้เราชอบก็อย่าให้คนอื่นอ่านด้วย ก็เริ่มจากการเปิดเพจแนะนำหนังสือ พอสำนักพิมพ์ต่างๆ เห็นว่าเราชอบหนังสือของเขา ก็มาฝากขายเริ่มจากเล็กๆ จากแค่ประมาณ 2-3 ปก เป็นจุดเริ่มต้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว”

ด้วยวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ผูกติดอยู่กับสมาร์ทโฟน โลกออนไลน์ และโซเชียลเน็ตเวิร์ก อนุรุทธ์ ชี้ว่าร้านหนังสือออนไลน์ของเขามันก็ค่อยๆ เติบโตด้วยตัวเอง

“ตอนนี้มีเกือบ 1 หมื่นปก เริ่มมาจากความชอบล้วนๆ ไม่ได้มองช่องทางด้านการตลาดใดๆ ทั้งสิ้น แนะนำได้ถ้ามีคนสนใจธุรกิจออนไลน์ ให้เริ่มจากสิ่งที่ชอบเลยถึงมันจะมีรายละเอียดอยู่ แต่การทำสิ่งที่ชอบจะพาเราไปจุดที่ประสบความสำเร็จ และมีความสุขในระหว่างทางที่ทำงานด้วย”

อนุรุทธ์ เฉลยถึงกุญแจที่เปิดถึงความสำเร็จว่า ความสุขเป็นหนึ่งในคุณค่าของรีเดอรี ซึ่งมี 3 อย่างด้วยกัน นั่นคือ 1.ความรัก2.ความรู้ และ 3.ความสุข

“คือเราเปิดร้านขายหนังสือออนไลน์ก็ต้องมีความสุขทุกวัน มันสะท้อนกับยอดขายด้วยนะ วันไหนที่เรามีความสุขมากๆ ยอดขายวันนั้นก็จะดี วันไหนที่เราค่อนข้างเครียด ยอดขายจะไม่ดี เป็นอัตราส่วนคู่ขนานกัน อย่างเราจะทำโปรหนังสือเล่มนี้เราต้องชอบหนังสือเล่มนี้จริงๆ ก่อน อย่างเวิร์ดดิ้งมันจะออกมาเวลาชอบหนังสือเล่มไหน ซึ่งจะส่งต่อได้”

การเริ่มต้นเทศกาลหนังสือแนวไลฟ์สไตล์แบบใหม่ รวบรวมวิถีชีวิตของคนร่วมสมัยให้มารวมกันที่เดียว เทศกาลหนังสือ LIT Fest เมื่อกลางเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมาอนุรุทธ์ เล่าต่อว่า

ใครว่า ‘หนังสือตายแล้ว’ แนวคิดใหม่เทศกาลหนังสือ

“จุดเริ่มต้นเป็นอย่างนี้ เริ่มมาจากเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ที่มีการพูดกันว่า หนังสือตายแล้ว ซึ่งตอนนั้นพวกเรากำลังสนุกกับการขายหนังสือออนไลน์อยู่ เพื่อนๆ นักเขียนและนักอ่านในกลุ่มก็กำลังคึกคักกันอยู่ เรายังไม่ตายนะ เราก็กำลังสนุกกับการทำหนังสือมากๆ ปี 2561 ที่ผ่านมามีปกหนังสือดีๆ สวยๆ ทั้งนั้นเลย

หนังสือขายดีมาก พ็อพพิวลาร์ ฟิกชั่น ก็ขายดีมาก แล้วมายาคติหนังสือตายแล้วมันมาจากไหนกันนี่ แต่ก็ช่างมันเถอะ ซึ่งในขณะเดียวกันพวกเราก็อยากจะบอกให้รับรู้ว่าพวกเรากำลังสนุกกับการทำหนังสือนะ เราก็รวมกันทั้งร้านหนังสือ สำนักพิมพ์นักเขียน นักอ่านด้วย มาทำอะไรสักอย่างหนึ่งกันไหม ก็เลยเกิดเทศกาลหนังสือนี้ขึ้นมา”

การเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองที่เกี่ยวกับการจัดงานเทศกาลหนังสืออย่างสิ้นเชิงจากแบบก่อนที่มุ่งเน้นการขายหนังสือให้ยอดขายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อแปรเป็นตัวเงินสดและมีกำไรสูงสุด อนุรุทธ์ บอกว่า เปลี่ยนหมด ไม่มุ่งเน้นการขายหนังสืออย่างเดียว แต่มุ่งความสนุกความสุขของผู้มาร่วมงานก่อน

“หนังสือขายได้ไม่ได้ค่อยว่ากันทีหลัง มีทฤษฎีหนึ่งที่ว่ากันตอนต้น ก็คือถ้าเรามีความสุข ยอดขายมันจะดี แต่สรุปตอนปิดงาน ยอดขายของแต่ละบูธสูงมากๆ อย่างที่ตัวผมเองก็คิดไม่ถึง ก็เลยตอกย้ำเรื่องความสุขความสนุกทำอะไรก็ให้สุดขีดเสียก่อน

ความรู้ ความรัก ความสุข มันสำคัญทั้งนั้นเลย สำหรับทุกอย่างเลย เพราะเราจะขายหนังสือเราก็ต้องรักหนังสือ หรือลักษณะความรู้ต้องทำในสิ่งที่รู้จริง รู้เรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์ก”

บทสรุปของงานเทศกาลหนังสือ LIT Fest อนุรุทธ์ ย้ำว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายและจะจัดอย่างต่อเนื่อง

“จริงๆ แล้วเราเลยกรอบคำว่าประจำปีไปแล้ว จะมีซีซั่น 2 อีกเมื่อไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปเจาะจงขนาดนั้นว่าเป็นประจำปี และอาจจะเป็นอีเวนต์หรือไมโครเฟสติวัลเล็กๆ ไม่จำเพาะกรุงเทพฯ อาจจะเกิดที่น่าน เชียงใหม่ มันขยายขอบเขตไปต่างจังหวัดได้ สามารถไปร่วมทำงานกับร้านหนังสือในจังหวัดต่างๆ ได้หมดเลย

เราเอาไลฟ์สไตล์ของคนอ่านเป็นที่ตั้ง และหนึ่งในผู้ก่อการครั้งนี้ก็เป็นผู้อ่านด้วย มีเพจหนังสือต่างๆ และคนอ่านส่งเสียงสะท้อนมาว่าอยากให้มีงานอย่างนี้ สิ่งที่มันต่างไปจากงานอื่นๆ ที่เป็นงานหนังสือปกติก็คือ เรามักจะลืมคนอ่าน ไม่มีคนอ่านอยู่ในกระบวนการจัดงาน นักอ่านอยู่ที่ไหน เราคิดว่านักอ่านเป็นเสียงสะท้อนที่ดีมากคำว่านักอ่านรวมถึงเราทุกคน นักเขียนก็เป็นนักอ่านด้วย เจ้าของร้านหนังสือก็เป็นคนอ่าน เลยทำให้เกิดมุมมองใหม่”

อนุรุทธ์ มองว่า ผู้อ่านไม่ใช่ผู้บริโภคอย่างเดียว กลายมาเป็นผู้มีส่วนร่วมและกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมหนังสือด้วย

ใครว่า ‘หนังสือตายแล้ว’ แนวคิดใหม่เทศกาลหนังสือ

“เป็นคนร่วมกำหนดธุรกิจหนังสือเองด้วย การจัดให้นักเขียนมาเขียนหรือพิมพ์ดีดตามที่ผู้อ่านเล่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นการทลายกำแพงระหว่างคนเขียนกับคนอ่าน ไม่ใช่พลังจากนักเขียนเท่านั้น นักอ่านก็ให้พลังกับนักเขียนเยอะมาก ตอนแรกเราก็คิดไม่ถึง

พฤติกรรมของคนอ่านไม่ได้เปลี่ยนไป แต่การมีส่วนร่วมการเชื่อมต่อกับคนอ่านจะมีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมของโลก ธรรมชาติต้องการให้เราเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนอย่างไรต่างหาก ในโลกใบนี้หลอกกันไม่ได้

เขาจะมีกลุ่มก้อนหรือกรุ๊ปหรือมีเพจที่เขารวมตัวกันแข็งแรง คนอ่านเขาจะรู้ทันทีเลยว่า หลอกขายของนะ ไม่ใช่อ่านจริงๆ สิ่งนี้ชัดเจนมากในโซเชียลเน็ตเวิร์ก จะรู้ได้เลยว่า คนนี้เป็นพวกเดียวกันหรือเปล่าวิธีการเปลี่ยนแปลงมันง่ายมากเลยนะ เพียงแต่เราทำในสิ่งที่เรารัก แค่นั้นเอง ตรงไหนที่เราไม่ชอบก็ไม่ต้องทำ”

ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในวงการหนังสือในเมืองไทย อนุรุทธ์ แจงว่ามีมิติใหม่ๆ เกิดขึ้นหรือมีทางเลือกให้คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น

“จริงๆ ปีนี้เป็นปีแรก มีหลายไอเดียที่เราไม่กล้าทำ พูดตรงๆ ความฝันก็คืออยากเชื่อมต่อนักเขียนอาวุโส อย่างคุณ ว.วินิจฉัยกุล คุณทมยันตี นักเขียนรุ่นเก่าทั้งหลาย เพราะเรารู้ว่ามีนักอ่านที่ยังรักพวกเขาอยู่จำนวนมาก ให้นักเขียนเหล่านั้นมารับพลังเหล่านี้จากนักอ่าน หรือคนอ่านรุ่นใหม่เองก็มีโอกาสมาได้เจอกับนักเขียนรุ่นเก่า อนาคตเราอยากเชื่อมต่อทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน แสดงออกถึงความรักหนังสือให้ได้

ในแง่ธุรกิจทำให้เดินและเติบโตไปได้ เป็นไปได้แน่นอนในการรวมคนที่ชอบหรือรักอะไรบางอย่างร่วมกัน ทำให้มีพลังและพลังตรงนี้จะทำให้รู้สึกดีกับสปอนเซอร์ที่จะเข้ามาสนับสนุนได้ง่าย ซึ่งจะเป็นชุมชนของคนที่รักหนังสือจริงๆ

ตัวเราเองตอนออกไปขอสปอนเซอร์ก็เลือกสปอนเซอร์ที่รักหนังสือจริงๆ เราไม่ได้ต้องการเงินของเขาเท่านั้นแต่เราต้องการแพสชั่นในหนังสือของเขาด้วยเหมือนกัน แล้วมันมีจริงๆ ที่รักหนังสือจริงๆ มีอยู่จำนวนมาก”

สำหรับอนุรุทธ์ เขามองที่อุดมคติหรือความฝัน แล้วลุยไปเลย ส่วนโมเดลธุรกิจค่อยว่ากันทีหลัง ต้องมาจากความรู้ ความรักแล้วความสุข สำคัญทั้ง 3 อย่าง

“นักอ่านที่สำคัญที่สุดในกลไกนี้ยกระดับขึ้นมาจากผู้บริโภคให้เป็นผู้มีส่วนร่วม อยากให้ทุกคนสู้ๆ ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เราเชื่อว่าธุรกิจหนังสือที่ปลี่ยนแปลงไป เราทำทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้แต่เราทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเรารัก เป็นตัวเราเองให้มากที่สุด อย่างอ่านหนังสือก็เลือกเรื่องที่เราชอบเราอยากอ่าน แล้วค่อยๆ นำพาเราไปขยายขอบเขตให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนเพื่อนๆ ที่อยู่ในวงการหนังสือมันมีโอกาสทางธุรกิจอยู่เต็มไปหมดเลยมีคนอ่านที่ชอบหนังสือเรามากๆ อยู่เต็มไปหมดเลย เพียงแต่ก่อนยุคอินเทอร์เน็ตเขาไม่รู้ ปัจจุบันโลกมีการเชื่อมต่อกันทำให้เรารู้จักกันทั้งฝ่ายคนทำหนังสือ ทั้งสำนักพิมพ์นักเขียน และคนอ่านได้พบปะกัน ผมเชื่อว่าพลังของเครือข่ายการเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้จะทำให้วงการหนังสือเติบโตขึ้นอีกมากๆ มีอีเวนต์เจ๋งๆ ของวงการหนังสืออีกเยอะมากที่น่าตื่นเต้น”