posttoday

นักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอส รสชาติความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น

23 มีนาคม 2562

นับตั้งแต่มีการจัดตั้งโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอสตั้งแต่ปี 2505

นับตั้งแต่มีการจัดตั้งโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอสตั้งแต่ปี 2505 ปัจจุบันเอเอฟเอส ประเทศไทย (AFS Intercultural Programs) มีจำนวนศิษย์เก่าที่ได้ไปแลกเปลี่ยนกลับมาแล้วทั้งสิ้นจำนวน 21,911 คนใน 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งต่างได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากประเทศนั้นๆ กลับมาสร้างประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว สังคม ไปจนถึงระดับประเทศในทุกสาขาอาชีพที่แตกต่างกันออกไป

จากงานเสวนา AFS Thailand Forum 2019 ในหัวข้อ “มุมมองนักเรียนเก่า AFS กับการพัฒนาประเทศ” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (เอเอฟเอส ประเทศไทย) องค์กรผู้สนับสนุนให้นักเรียนไทยมีโอกาสได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมยังต่างประเทศ มีนักเรียนเก่าทั้ง 3 คน ที่ได้กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ซึ่งให้เกียรติมาร่วมงานในครั้งนี้และบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับจากการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในโครงการเอเอฟเอสต่อการมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศ

เรื่องราวของศิษย์เก่าทั้ง 3 คนนี้เป็นเพียงหนึ่งในความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจมากมายตลอด 60 ปีของเอเอฟเอสประเทศไทย กับบทบาทในการเป็นองค์กรด้านการศึกษาที่ช่วยเชื่อมร้อยความแตกต่างหลากหลายของผู้คนเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันผ่านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจและเคารพผู้อื่นในฐานะพลเมืองโลก พร้อมนำความรู้ที่ได้รับกลับมาต่อยอดในการขับเคลื่อนประเทศบ้านเกิดต่อไป

ประโยชน์ประสบการณ์ต่างแดนของ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา

นักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอส รสชาติความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น

อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยน รัฐเพนซิลเวเนียประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่นที่ 23 วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในประเด็นเกี่ยวกับการยกระดับการแข่งขันของประเทศด้วยการท่องเที่ยวว่า การเดินทางถือเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่ง

“ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังพื้นที่ไหน ในช่วงอายุใดก็ตาม เนื่องจากการเดินทางทำให้เราได้มีส่วนร่วมกับประสบการณ์ชีวิตแบบที่หาไม่ได้ในห้องเรียนหรือตำรา รวมถึงพัฒนาความสามารถในการเชื่อมความแตกต่าง ปรับตัวให้เข้ากับภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งไม่เพียงแต่เราเท่านั้นที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ครอบครัวอุปถัมภ์หรือเพื่อนๆ ก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่เรานำไปแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การมีโอกาสได้เดินทางจากการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนทำให้เราได้ทำหน้าที่เป็นทูตทางวัฒนธรรมของประเทศ โดยวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไทยนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่ต้องดำเนินการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน”

จากสถิติในปี 2561 ที่ผ่านมา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดข้อมูลให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังไทยมีจำนวน 38 ล้านคน ทั้งยังสามารถทำลายสถิติด้านการท่องเที่ยวมากมาย อาทิ เป็นปีที่มีนักท่องเที่ยวจีนมากเป็นประวัติศาสตร์กว่า 10 ล้านคน

“กล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวไทยมีการเติบโตด้านปริมาณอย่างต่อเนื่อง แต่ในเชิงคุณภาพยังต้องมีการปรับปรุงอีกมาก เช่น การซ่อมแซมระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในเมืองหลัก 10 แห่งที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจำนวน 75% ดังนั้นแล้วนโยบายเมืองรองจึงเป็นสิ่งที่กระทรวงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในภาคการท่องเที่ยว กระจายรายได้ รวมถึงลดความแออัดของชุมชนเมือง”

ชีวิตต่างแดนเด็กเอเอฟเอสของ รมว.ดิจิทัลฯ

นักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอส รสชาติความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น

สังคมอดีตนักเรียนแลกเปลี่ยน รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่นที่ 12 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในหัวข้อเทคโนโลยีดิจิทัลกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า จุดแปรผันในชีวิตของตนเองเกิดจากการได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของเอเอฟเอส ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เป็นประตูไปสู่โอกาสอื่นในชีวิตและหล่อหลอมให้มีตัวตนอย่าทุกวันนี้

“ทั้งนี้ ประสบการณ์ที่ได้จากการรับมือกับผู้คนต่างชาติและความเข้าใจในสังคมที่มีอัตลักษณ์แตกต่างไปจากตัวเราสามารถนำกลับมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ เพราะไทยต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศเพื่อให้นโยบายหรือโครงการต่างๆ ทั้งในระดับชาติและระดับโลกดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ และมอบประโยชน์ให้ประชาชนสูงสุด โดยคนในประเทศ โดยเฉพาะประชาชนรุ่นใหม่ต้องมั่นใจในศักยภาพของประเทศว่าจะสามารถก้าวไปสู่ในระดับนานาชาติและเป็นผู้เล่นสำคัญของภูมิภาคได้”

การทำงานเพื่อส่งเสริมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของกระทรวง ตลอดระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ดร.พิเชฐ ชี้ว่ามุ่งเน้นที่ 5 ด้านสำคัญ ตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ด้วยการติดตั้งอินเทอร์เน็ตขนาด 30 Mbps ครอบคลุม 7.5 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ รวมถึงโครงการอี-คอมเมิร์ซชุมชนร่วมกับไปรษณีย์ไทย

“ถัดมาเป็นการสร้างคน การสร้างนวัตกรรม การสร้างภาครัฐดิจิทัล และการสร้างระบบคุ้มครองไซเบอร์ ซึ่งในปีนี้กระทรวงมีการวางแผนจัดตั้งสำนักงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังได้เป็นเจ้าภาพและเข้าร่วมการจัดประชุมสำคัญระดับภูมิภาคอาเซียนมากมาย เช่น การประชุมเมืองอัจฉริยะประจำปี 2562 ซึ่งจะช่วยตอกย้ำการเป็นตัวขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของไทยในภูมิภาค”

แรงบันดาลใจจากประธานเอเอฟเอส

นักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอส รสชาติความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น

เด็กนักเรียนในประเทศไทย รุ่นต่อรุ่น คงไม่มีใคร ไม่เคยได้ยินชื่อ “เอเอฟเอส” และหลายคนมีความฝันที่จะเป็นนักเรียนทุนเอเอฟเอสสักครั้ง เช่นเดียวกับ สนั่น อังอุบลกุล นักเรียนทุนเอเอฟเอส รุ่นที่ 4 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการมูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทย

สนั่นเล่าย้อนถึงความรู้สึกในครั้งนั้นว่า เป็นความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้เป็นนักเรียนทุนเอเอฟเอส ได้ไปเรียนรู้ชีวิตของครอบครัวในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยไม่เสียค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ เมื่อเท้าแตะพื้นสนามบิน มีกองดุริยางค์มาประโคมเพลงเพื่อต้อนรับเข้าบ้าน ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวของชาวอเมริกันเป็นระยะเวลา 1 ปี

“ทุกวันนี้ Mom และ Dad ครอบครัวอุปถัมภ์ที่ผมไปอยู่ด้วย ยังคงมีความผูกพันกันทุกวันเกิดท่านจะต้องส่งการ์ด ส่งข้อความมาอวยพร นี่ถือเป็นสิ่งที่เอเอฟเอสแตกต่างจากองค์กรอื่นๆ”

เอเอฟเอส ย่อมาจาก American Field Service ก่อตั้งโดย A.Piatt Andrew เมื่อปี 2457 นำโดยกลุ่มชาวอเมริกัน จำนวน 15 คนขับรถพยาบาลช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสอันเป็นสมรภูมิในขณะนั้น ต่อมามีผู้เข้าร่วมมากขึ้นมีทั้งคนอเมริกันและคนฝรั่งเศส รวมทั้งสิ้น 2,500 คน และสามารถช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 5 หมื่นคนในสงคราม

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้น American Field Service ได้มีการก่อตัวอีกครั้ง ครั้งนี้มีการเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั้งในประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมถึงประเทศซีเรีย อินเดีย และเมียนมาจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม ในปี 2489Stephen Galatti ผู้ร่วมอุดมการณ์กับ A. PiattAndrew ในช่วงสงครามและเป็นประธานของเอเอฟเอสในสมัยนั้นได้ก่อตั้งกองทุน American Field Service International Scholarships เพื่อสนับสนุนโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ให้ได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อยุติต้นเหตุที่ก่อให้เกิดสงคราม ตามแนวคิดที่เชื่อว่า “สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ หากผู้คนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ได้รู้จักคุ้นเคยซึ่งกันและกัน”

องค์กรเอเอฟเอสสากลจึงได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การนำมาซึ่งสันติภาพของโลก ด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมวลมนุษย์ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแตกต่างกัน ให้มีโอกาสได้อยู่ร่วมกันในสังคมโลก ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างมิตรภาพซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและสงครามได้ ตามอุดมการณ์ของเอเอฟเอสที่ว่า “WALK TOGETHER, TALK TOGETHER”

นับจากการดำเนินการโครงการแลกเปลี่ยนครั้งแรก เอเอฟเอสได้มีการแลกเปลี่ยนนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาระหว่างประเทศเรื่อยมา จนกระทั่ง ปี 2514ได้เปลี่ยนชื่อเป็น AFS InternationalPrograms ในปี 2518 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นAFS International / InterculturalPrograms และปี 2530 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นAFS Intercultural Programs จนถึงปัจจุบัน

สนั่น เล่าต่อว่า หลังจากไปอยู่อเมริกาได้ 6 เดือน ทางเอเอฟเอสได้มีการจัดประชุม เลี้ยงต้อนรับให้นักเรียนจากหลายประเทศทั่วโลกได้มาพบปะสังสรรค์และเล่าถึงประเทศของตัวเอง ทั้งด้านวัฒนธรรมและอาหาร

“ผมเล่าถึงมวยไทย ที่วินเทอร์พาร์ค รัฐฟลอริดา มีประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น คือ ลินดอน บี. จอห์นสันมากล่าวต้อนรับ และได้พบกับคุณอาภัสราหงสกุล ในฐานะนางงามจักรวาลจากประเทศไทย ถือเป็นประสบการณ์ที่ยังติดอยู่ในความทรงจำจนถึงวันนี้ ถือเป็นคุณค่าของเอเอฟเอสที่มอบให้กับนักเรียนทุกคน”

นักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอส รสชาติความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น

ปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 60 ปี ประเทศไทยมีนักเรียนเก่าเอเอฟเอส ที่กลับมาแล้วทั้งสิ้น21,911 คน ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลกสนั่นย้ำว่าถือว่าเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งสำหรับองค์กรหนึ่งที่จะมีศิษย์เก่ามากมายเช่นนี้

“แต่สิ่งที่ยิ่งน่าชื่นชมและเป็นความภาคภูมิใจของเอเอฟเอสก็คือ การที่นักเรียนเก่าเอเอฟเอสของเรานั้นกลับมาแล้วได้นำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ตลอดช่วงเวลาที่พำนักที่ประเทศอุปถัมภ์มาทำประโยชน์ให้กับตัวเอง ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้อย่างมากมายมหาศาลในแทบจะทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านธุรกิจ การศึกษา การเมือง บันเทิง สังคม และอื่นๆ โดยอยู่ในองค์กรหรือบริษัทชั้นนำทั้งในระดับประเทศ และในระดับนานาชาติ หลายท่านได้นำความรู้ความสามารถมาช่วยพัฒนาประเทศไทย”

สนั่นขยายรายละเอียดว่า เกือบทุกรัฐบาลจะมีนักเรียนเก่าเอเอฟเอสช่วยงานในหลากหลายตำแหน่ง รัฐบาลล่าสุด มี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม นักเรียนเก่าเอเอฟเอส ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่นที่ 12 และวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา นักเรียนเก่าเอเอฟเอส ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่นที่ 23 รวมถึง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนักเรียนเก่าเอเอฟเอส รุ่นที่ 5

“ทั้งนี้ ความสำเร็จในหน้าที่การงานของนักเรียนเก่าแต่ละท่านล้วนเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเอเอฟเอส ได้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและได้สร้างสรรค์ คุณค่าให้แก่สังคม มีหลายเรื่องที่ชาวเอเอฟเอสได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนในการที่จะช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤต

ดังเช่นเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547ได้มีนักเรียนเก่าเอเอฟเอสจำนวนมากเข้าร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น เป็นล่ามให้กับนักท่องเที่ยวทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาที่สามที่หาคนสื่อสารได้ยาก แต่นักเรียนเอเอฟเอสสามารถสื่อสารได้ เช่น ภาษาสเปน ภาษาเดนนิช และภาษาในแถบยุโรปตะวันออก เป็นต้น

การที่เรามีนักเรียนเก่าเอเอฟเอสที่มีคุณภาพเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากกระบวนการ คัดเลือกที่เข้มข้น โดยที่ทางเราจะคัดสรรผู้ที่เหมาะสมมากที่สุดในแต่ละรุ่น อย่างในปีที่ผ่านมา ได้มีการรับสมัครนักเรียนรุ่นที่ 58 ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครทั่วประเทศถึง 16,200 คน

ปรากฏว่ามีนักเรียนที่สามารถสอบผ่านทั้งข้อเขียนและการสัมภาษณ์โดยกรรมการคัดเลือกให้เป็นนักเรียนตัวจริงเพียง 800กว่าคน และเป็นตัวสำรอง 2,000 กว่าคน ถือเป็นความตั้งใจของนักเรียนทุกคนที่ฝ่าฟันผ่านการทดสอบระดับประเทศเหล่านั้นมาได้ด้วยความภาคภูมิใจ” สนั่น ทิ้งท้ายด้วยความภูมิใจ