posttoday

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกายกฟ้อง “พล.ต.ท.สมคิด” เชื่อตกเป็นเป้าเมืองโดนคดี

22 มีนาคม 2562

“พล.ต.ท.สมคิด” เปิดใจขอบคุณ 3 ศาลยืนยกฟ้อง พร้อม 4 ลูกน้อง ตำรวจ คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ เชื่อตกเป็นเป้าเมืองโดนคดี

“พล.ต.ท.สมคิด” เปิดใจขอบคุณ 3 ศาลยืนยกฟ้อง พร้อม 4 ลูกน้อง ตำรวจ คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ เชื่อตกเป็นเป้าเมืองโดนคดี

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 มี.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย หมายเลขดำ อ.119/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจและอดีต ผบช.ภ.5 , พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท  ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน (ตำแหน่งปี 59) , พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี (ตำแหน่งปี 59) , พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี  และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง  ตำรวจนอกราชการ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตนและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิดทางอาญาที่ตนได้กระทำไว้ , ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดฯ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายหรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ , ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 , 289 , 309 , 310 และขอให้ศาลมีคำสั่งคืนแหวนของกลางคืน ให้แก่ทายาทของ นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ ผู้หายตัวไปด้วย

ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 12 ม.ค.53 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อประมาณปี 2530 เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลซาอุฯ ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่ กับรัฐบาลประเทศอิหร่าน ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา รวมทั้งสาเหตุที่รัฐบาลซาอุฯ ปราบปรามสลายการชุมนุมของกลุ่มประท้วงกลุ่มมุสลิม นิกายชีอะห์ ที่มาแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุฯ ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านเสียชีวิตจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นักการทูตของรัฐบาลซาอุฯ ในประเทศต่างๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค.32 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทยเสียชีวิต 1 คน เหตุเกิดที่แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯแจ้งขอร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่สถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นักการทูตอย่างเต็มที่ และแจ้งเตือนถึงกรมตำรวจในขณะนั้นและกระทรวงการต่างประเทศของไทยในเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง แต่ต่อมาวันที่ 1 ก.พ.33 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุฯอีก 2 ครั้งเสียชีวิตรวม 3 ราย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กทม. ซึ่งรัฐบาลไทยขณะนั้น สั่งการให้ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อธิบดี ตร.(ขณะนั้น) ติดตามและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้

กระทั่งวันที่ 12-15 ก.พ.33 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งห้า ซึ่งเป็นตำรวจ กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ บช.น. “สมคิด” โดยจำเลยที่ 1 มียศเป็น พ.ต.ท. ตำแหน่ง รอง ผกก. , “สรรักษ์” และ “ประภาส” จำเลยที่ 2-3 มียศ ร.ต.อ. ตำแหน่งรอง สว. , “สุรเดช” จำเลยที่ 4 ยศ ร.ต.ท. ตำแหน่ง รอง สว.และ“ประสงค์” จำเลยที่ 5 ยศ จ.ส.ต. ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ซึ่งพวกจำเลยได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามสืบสวนจับกุมคนร้ายที่ฆ่านักการทูตซาอุฯ โดยจำเลยกับพวก บังอาจร่วมกันลักพาตัว “นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่” นักธุรกิจชาวซาอุฯ ซึ่งเป็นพระญาติกษัตริย์ซาอุฯ จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯ เนื่องจากจำเลยหมด เข้าใจว่านายอัลรูไวลี่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุฯ เพราะมีความขัดแย้งกันเรื่องจัดส่งแรงงานไทย  โดยพวกจำเลย บังคับนำตัวนายอัลรูไวลี่ ไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังไว้ ที่โรงแรมฉิมพลี แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กทม. บังคับข่มขืนใจใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย และทำร้ายร่างกายโดยวิธีการต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อซักถามข้อเท็จจริง เพื่อให้นายอัลรูไวลี่ ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่านักการทูตซาอุฯ

ซึ่งพวกจำเลย มีเจตนาฆ่านายอัลรูไวลี่ จนถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อปกปิดความผิดของพวกตน ที่ร่วมกันลักพาตัวหน่วงเหนี่ยวกักขังและทำร้ายร่างกาย เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ดังกล่าว และจำเลยทั้งห้า ยังได้ร่วมกันใช้กำลังชกต่อยทำร้ายร่างกายนายอัลรูไวลี่ โดยวิธีการต่างๆ และร่วมกันใช้ปืนยิงจนถึงแก่ความตาย สมดังเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันนำศพไปเผาทำลายภายในไร่ท้องที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อปิดบังสาเหตุของการตาย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา แขวง-เขตบางกะปิ , แขวงคลองตัน เขตพระโขนง และที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เกี่ยวพันกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย.52 จำเลยทั้งห้า ได้พบกับพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้แจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนแล้ว โดยพนักงานสอบสวนได้ยึดแหวนของกลาง ของ “นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่” ที่สวมใส่อยู่ขณะเกิดเหตุ จำนวน 1 วง

ทั้งชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณา จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธต่อสู้คดีโดยตลอด โดย “ศาลชั้นต้น” มีคำพิพากษาวันที่ 31 มี.ค.57 เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก (หรือนายเกียรติกรณ์ แก้วเพชรศรี)  พยานโจทก์ปากสำคัญเข้าเบิกความต่อศาล มีเพียงบันทึกคำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชชัย เท่านั้นทั้งยังมีข้อพิรุธน่าสงสัยเกี่ยวกับแหวนทองคำของผู้ตาย พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อพิรุธน่าสงสัย ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ขณะที่ ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาวันที่ 3 พ.ค.59 เห็นว่า คำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ในชั้นดีเอสไอ ที่อ้างว่าตัวเองเป็นผู้พบเห็นนายโมฮัมหมัด ด้วยตัวเองที่โรงแรม และพบแหวนของนายโมฮัมหมัด ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งควรที่จะนำมาให้พนักงานสอบสวนในขณะนั้นแต่กลับปล่อยเวลาทิ้งไว้ถึง 5 ปีแล้วค่อยนำแหวนไปซ่อมก่อนมามอบให้พนักงานสอบสวนซึ่งอาจทำให้หลักฐานเสื่อมสลายไปได้ ขณะที่เจ้าของร้านเพชรแลละช่างซ่อมแหวน เบิกความว่าแหวนที่นำมาซ่อมนั้น ไม่มีร่องรอยไฟไหม้ ทั้งที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย อ้างว่าได้แหวนมาจากจำเลยที่ 4 ที่นำมาจากก้นถังน้ำมัน 200 ลิตรที่เผาทำลายนายโมฮัมหมัด ประกอบกับญาติของนายโมฮัมหมัดก็ไม่อาจยืนยันว่าแหวนดังกล่าวเป็นของนายโมฮัมหมัด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน ยืนว่าจำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำให้นายโมฮัมหมัดถึงแก่ความตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยเห็นพ้องด้วย จึงพิพากษายืน

ซึ่งภายหลังทั้งสองศาล พิพากษายืนให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด อัยการโจทก์ได้ยื่นฎีกาตามกระบวนการ โดยวันนี้ (22 มี.ค.) จำเลยทั้ง 5 คนมาศาล พร้อมฟังคำพิพากษาฎีกา

โดย “ศาลฎีกา” ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ตามทางนำสืบของโจทก์ ได้เพียงข้อเท็จจริงคดีที่ฆาตกรรม นักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ 3 คน ส่วน นายอัลรูไวลี่ นักธุรกิจซาอุฯ ได้หายตัวไปโดยไม่ปรากฏหลักฐานการเสียชีวิตพบแต่รถยนต์ ซึ่งการสืบสวนสอบสวนมีแต่คำพูดกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งห้า นำตัว นายอัลรูไวลี่ ไปฆ่าและเผา โดยไม่มีประจักษ์พยานคงมีแต่ พ.ต.ท.สุวิชชัย ให้การเป็นพยานบอกเล่าลอยๆ ข้อเท็จจริงตามนำสืบของโจทก์จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งห้าที่จะมีน้ำหนักให้พิจารณาวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่

กรณีที่โจทก์ อ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่จึงรื้อฟื้นคดีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลย ซึ่งคณะกรรมการที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับซาอุฯ หลังจากนักการทูตถูกฆาตกรรมและนักธุรกิจชาวซาอุฯ หายตัวไปมีความเห็นให้โอนคดีไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการ และเมื่อพิจารณาสำนวนการสอบสวนเดิมเห็นว่ามีพยาน 1 ปาก คือ พ.ต.ท.สุวิชชัย น่าจะมีการติดตามตัวมาสอบปากคำอีกครั้งหนึ่ง แต่ พ.ต.ท.สุวิชชัย ถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าผู้อื่นและระหว่างการปล่อยชั่วคราวก็เดินทางเข้า-ออกประเทศเป็นประจำ แล้วช่วงก่อนเดือน พ.ค. 49 มีการนำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย  เข้าพบ อธิบดีดีเอสไอ ขณะนั้น และได้บันทึกเสียงการสนทนา ซึ่งได้ถอดเทป มีเนื้อหาสรุปว่า มีการแจ้งว่ารัฐบาลไทย ต้องการให้ประเทศซาอุฯ พอใจผลคดีที่นายอัลรูไวลี่หายตัวไป พ.ต.ท.สุวิชชัย จึงเล่าเหตุการณ์อ้างว่าได้รับทราบจากคำบอกเล่าของจำเลยที่ 5 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าชุดร่วมกับจำเลยอื่นเอาตัวนายอัลรูไวลี่ ไปยังโรงแรมฉิมพลี ก่อนพาไปยังไร่ของจำเลยที่ 1 ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อไปถึงไร่นายอัลรูไวลี่ ยังแข็งแรง ยังสวดมนต์และขอให้ยิงศีรษะจะได้ไม่ทรมาน และเมื่อถึงแก่ความตายได้เผากลบและนำไปลอยอังคาร (กระดูกไปลอยน้ำ) และยังเล่าเรื่องที่ลักษณะเนื้อหาใกล้เคียงกับคำให้การเดิมของตัวเองที่เป็นเรื่องซึ่งได้ยินมาลักษณะพยานบอกเล่า นอกจากนี้ยังเล่าเรื่องที่ตัวเองถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมฆ่าชาวลาวโกงเงินผู้อื่นที่ต่างประเทศที่ถูกศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต จนเมื่อมีการถามว่าจะมีใครยืนยันว่านายอัลรูไวลี่ตายแล้ว พ.ต.ท.สุวิชชัย ตอบว่า “ผมซิ แต่ผมต้องหลุดคดีก่อนนะ” ซึ่งในเรื่องของแหวน มีเจ้าของกิจการร้านเพชรพลอย เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ประมาณปี 2551 มีคนนำแหวนเก่าเหมือนมีการใช้งาน ลักษณะบิดเบี้ยวเล็กน้อย เพชรหลุดไป 1 เม็ดมาให้ซ่อน ซึ่งมีลักษณะผ่านการใช้งานทั่วไป ไม่แตกต่างจากแหวนอื่น และเป็นแหวนที่ไม่เคยถูกไฟหรือความร้อนมาก่อน โดยพยานยืนยันว่าสามารถดูออกและทราบทันทีถ้าแหวนถูกไฟมาก่อน และถ้าเป็นแหวนที่อยู่ในตัวศพถูกเผาด้วยความร้อนจนศพไหม้หมดแหวนก็จะละลาย และยังมีผู้นำศาสนา เบิกความว่าประมาณต้นปี 2552 พ.ต.ท.สุวิชชัย ได้นำแหวน ไปเข้าพิธีดูอาแจ้งว่าเป็นแหวนของนายอัลรูไวลี่ จากนั้นก็มีพนักงานสอบสวนดีเอสไอไปพบและสอบคำให้การผู้นำศาสนา

ซึ่งข้อเท็จจริงทางนำสืบของโจทก์เกี่ยวกับแหวนที่อ้างว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีนั้น ก็ได้ความเพียงว่าเดิม พ.ต.ท.สุวิชชัย ไม่เคยแจ้งแก่ผู้ใดหรือให้การกับพนักงานสอบสวน ว่ามีแหวนดังกล่าวเป็นพยานวัตถุ แต่เมื่อดีเอสไอได้รับโอนสำนวนคดีนายอัลรูไวลี่ แล้วนำ พ.ต.ท.สุวิชชัย ไปพบอธิบดีดีเอสไอก่อนวันที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย ถูกศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งการที่ พ.ต.ท.สุวิชัย ได้ยืนยันว่านายอัลรูไวลี่ ถึงแก่ความตายแล้ว โดยตัวเองจะเป็นผู้ทำให้เกิดข้อเท็จจริงยืนยันเหตุการณ์ถึงแก่ความตายได้แต่ “ผมต้องหลุดคดีก่อน” มีลักษณะเป็นการต่อรองคดี  ต่อมาต้นปี 2551 หญิงที่เคยนำแหวนไปซ่อมร้านเพชรก็เบิความว่ามีลูกเขยเป็นตำรวจ ได้นำแหวนให้ไปซ่อม จากนั้นต้นปี 2552 พ.ต.ท.สุวิชชัย นำแหวนไปเข้าพิธีดูอาที่เป็นการขอพรให้ผู้ตาย จากนั้นวันที่ 28 ม.ค.52  และวันที่ 23 ก.พ.52  พ.ต.ท.สุวิชชัย เข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอว่า ปี 2546 จำเลยที่ 4 นำแหวนมาให้แจ้งว่าจำเลยที่ 4 เผาศพในถังน้ำมัน 200 ลิตรด้วยน้ำมันก๊าดและยางรถยนต์ 3 เส้น ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง ต่อมาพบแหวนจึงนำมาให้

“ศาลฎีกา” เห็นว่า แม้โจทก์ จะมีแหวนเป็นพยานวัตถุมา เป็นหลักฐานใหม่ แต่จะรับฟังได้เพียงใด ต้องพิจารณาสภาพแหวนและพฤติการณ์ที่แวดล้อมด้วย เมื่อเจ้าของร้านเพชรพลอยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องแหวนเบิกความว่า สภาพแหวนใช้ได้ตามปกติไม่ผ่านการถูกไฟเผา คำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชชัย จึงขัดแย้งทั้งคำให้การที่ว่าจำเลยที่ 4 มามอบให้แล้วสภาพแหวนควรเป็นไปคำให้การนั้นหรือไม่ และยังขัดคำให้การเดิมของ พ.ต.ท.สุวิชชัยเองที่ไม่เคยมีเรื่องแหวนมาเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ คำเบิกความของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธ.ดีเอสไอ อีกคน เบิกความว่า ได้เดินทางไปพบญาติของนายอัลรูไวลี่แล้ว ไม่มีผู้ใดที่เห็นแหวนและจะยืนยันว่าเป็นของนายอัลรูไวลี่ ขณะที่พี่ชายภริยาของนายอัลรูไวลี่ ได้ดูแหวนแล้วก็เบิกความว่า ไม่ทราบว่าเป็นแหวนของผู้ตายหรือไม่

อีกทั้งในปี 2549 ที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย เข้าพบ อธิบดีดีเอสไอ แล้วอ้างว่ารู้เห็นทั้งการฆ่านักการทูตซาอุฯ เรื่องมือปืนที่ยิง และอ้างงว่ารู้เรื่องการตายของนายอัลรูไวลี่นั้น แต่ก็กลับไม่ได้กล่าวถึงเรื่องแหวนเลย ทั้งที่อ้างว่าได้แหวนมาตั้งแต่ปี 2546 โดยเรื่องแหวนมาปรากฏขึ้นหลังจากอยากมีหลักฐานการเสียชีวิต การที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย มาเร่งรีบมอบแหวนให้ดีเอสไอและให้การในภายหลังนั้นก็คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ที่ตัวเองถูกฟ้องฐานฆ่าชาวลาว)

เมื่อพิจารณาคำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชชัย แล้ว สับสนแตกต่างกับคำให้การเดิม ที่ยังขัดกับสภาพแหวนพยานวัตถุ และมีลักษณะที่อาจเบิกความเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางคดีความของตน ดังนั้นต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง

ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์ เท่าที่ปรากฏอยู่ จึงมีเพียงแหวนพยานวัตถุ และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ พ.ต.ท.สุวิชชัย ว่า ได้รับมอบแหวนจากจำเลยที่ 4 โดยอ้างว่าได้จากก้นถังน้ำมัน 200 ลิตรที่ใช้เผาศพนายอัลรูไวลี่ กว่า 5 ชั่วโมง แต่ลักษณะของแหวนที่ปรากฏก่อนการซ่อมแซมมีรอยบิดเบี้ยวตามการใช้งานปกติ ไม่ปรากฏร่องรอยการเผาไหม้  เป็นข้อเท็จจริงที่อ้างว่ารับทราบจากจำเลยที่ 4 ในปี 2546 แต่ในครั้งที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย เข้บพบ อธ.ดีเอสไอ ก็ไม่ได้บอกเล่าข้อเท็จจริงที่อ้างงว่าสำคัญนี้ พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่ปรากฏ จึงมีน้ำหนักน้อยจนรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1-5 ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน

ภายหลัง “พล.ต.ท.สมคิด” กล่าวเปิดใจว่า ขอขอบคุณศาลฎีกาที่พิพากษายกฟ้องตน และผู้ใต้บังคับบัญชา  ซึ่งได้พิสูจน์ความยุติธรรมแล้วว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ไร้พยานหลักฐานทั้งสิ้น กระบวนการยุติธรรมทำให้ได้พิสูจน์ต่อสังคมให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ที่กล่าวหาตนตลอดชีวิตรับราชการว่าเป็นผู้กระทำผิดในคดีนี้ บางครั้งยังไม่ถูกกล่าวหา ก็โดนห้ามดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้บังคับการกองปราบปราม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หรือผู้บัญชาการสำคัญๆ จนต้องไปทำหน้าที่ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือความเห็นทางเมือง ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าหากมีภารกิจสำคัญ ปัญหาข้อสงสัยว่าตนกระทำผิดในคดีนี้ก็ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาแต่อย่างใด ทำให้เห็นได้ว่าความรู้ความสามารถของตนนั้นยังเป็นที่ต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“วันนี้ผมขอพระคุณศาลซึ่งเป็นที่พึ่งในกระบวนการยุติธรรมสุดท้ายของผมในชั้นฎีกา และเป็นที่ประจักษ์ว่าผมกับผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้กระทำตามที่กล่าวหา สำหรับผมเองไม่เป็นไร แต่สงสารผู้ใต้บังคับบัญชาไม่รู้เรื่องในทางการเมืองกลับโดนไปด้วย ต้องทุกข์ทรมาน ต้องประกันตัว ต้องมาศาลตลอดระยะเวลา 10 ปี ผมเห็นใจผู้ใต้บังคับบัญชา อย่างหนึ่งที่จะยืนยันได้ว่า เขาจะกลั่นแกล้งผมให้ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่ให้ผมได้รับความก้าวหน้าอย่างไร ผมก็ยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาล เพื่อพิสูจน์ความจริง ไม่เหมือนบางคนกล่าวหาว่ากระบวนการยุติธรรม ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง แล้วหนีไปต่างประเทศ” พล.ต.ท.สมคิด ระบุ

เมื่อถามว่า ผลคดีถึงที่สุดแล้ว คิดว่าจะมีการยื่นฟ้องกลับใครหรือไม่ พล.ต.ท.สมคิด กล่าวว่า ตนได้ยื่นฟ้องพนักงานสอบสวนดีเอสไอและพนักงานอัยการไว้นานแล้ว ตั้งแต่เมื่อปี 2553  ซึ่งศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ เพื่อรอคำพิพากษาคดีนี้ถึงที่สุด และจะนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง สำหรับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอและพนักงานสอบสวนทราบอยู่แล้วว่า พ.ต.ท.สุวิชชัย หลบหนีหมายจับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ได้มีการคุ้มครองพยาน และแจ้งต่อศาลว่าพยานปากนี้ไปอยู่ที่ประเทศซาอุฯ หรือกัมพูชา เพื่อขอให้ศาลอนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้จำเลยไม่มีโอกาสต่อสู้โต้แย้ง กระทั่งศาลพิจารณาสั่งตัดพยานปากนี้ ตนก็ได้ร้องเรียนการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ไว้ที่ ป.ป.ช. แล้ว ขั้นตอนอยู่ระหว่างพิจารณา

ขณะที่ “พล.ต.ท.สมคิด” ยังตอบคำถามถึงเหตุตกเป็นเป้าถูกดำเนินคดีว่า เกี่ยวกับเรื่องการเมือง สังเกตุจากเมื่อปี 2552-53 มีนักการเมืองทางภาคเหนือท่านหนึ่ง มากล่าวหาตนมีข้อครหาต้องคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ ทำไมถึงได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งเขาทราบได้อย่างไรเพราะขณะนั้นยังไม่มีการเรียกตัวตนเองไปรับทราบข้อกล่าวหาแสดงว่าเขาต้องมีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานดังกล่าว

ส่วนประเด็นแหวนทองคำนั้น ตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว ห้ามผู้ชายมุสลิมสวมแหวนทองคำที่นิ้วมือ นอกจากนี้พี่ชายนายอัลรูไวลี่ซึ่ง เป็นพยานฝ่ายโจทก์ ก็ยังเบิกความเองว่า นายอัลรูไวลี่เป็นคนที่เคร่งศาสนา ทำให้เห็นว่าแหวนวงนี้ ไม่เชื่อมโยงกับผู้ตายทั้งสิ้น เพราะเป็นแหวนต้องห้ามตามหลักศาสนา

พล.ต.ท.สมคิด กล่าวถึงแหวนว่า เป็นเท็จอยู่แล้วเพราะคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แหวนทองคำเป็นแหวนที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นการหาพยานหลักฐานเพื่อให้เข้าเงื่อนไขเป็นพยานหลักฐานใหม่เพื่อจะดำเนินคดีตนกับพวก  เนื่องจากก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการคดีมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว หากจะดำเนินคดีใหม่จึงต้องมีหลักฐานใหม่ อีกทั้งพนักงานอัยการก็ไม่ได้อ้างแหวนวงนี้ไว้ในบัญชีพยาน หากเป็นพยานหลักฐานใหม่ก็ต้องระบุไว้  เชื่อว่าในประเด็นทางการเมือง มีความพยายามที่จะไม่ให้ตนได้รับความก้าวหน้าได้รับการแต่งตั้งเป็น รอง ผบ.ตร.

ภาพประกอบข่าว