posttoday

เปิดเบื้องหลังวีรกรรมทูต "วีระชัย" walk out-บุกยูเนสโก ขวางขึ้นทะเบียน "พระวิหาร"

18 มีนาคม 2562

เผยบทบาทการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ชาติของ วีระชัย พลาศรัย ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังจากสายตาผู้ที่เคยร่วมงาน

เผยบทบาทการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ชาติของ วีระชัย พลาศรัย ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังจากสายตาผู้ที่เคยร่วมงาน

************************************************

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

บทบาทของ วีระชัย พลาศรัย ในการทำหน้าที่หัวหน้าคณะต่อสู้คดีตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหารนั้นโดดเด่นเป็นอย่างมาก แต่นั่นเป็นบทบาทที่เห็นชัดบนเวที เมื่อสปอตไลท์ฉายส่องไปที่ตัวเขาในขณะสู้คดีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ แต่นอกจากบนเวทีแล้ว การทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ชาติของเขา แม้อยู่เบื้องหลัง ปราศจากสายตาที่จับจ้อง แต่เขาก็ยังทำหน้าที่รักษาเกียรติภูมิของชาติได้อย่างสง่างาม และโดดเด่น อยู่ในความทรงจำของผู้ร่วมงานอย่างมิรู้ลืม

โดยเฉพาะการประกาศถอนตัว Walk Out จากที่ประชุมเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เพื่อไม่ให้การมีส่วนร่วมของไทย ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ …

… กัมพูชานั้นมีความพยายามขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกมานานแล้ว โดยในปี 2549 ได้เชิญให้ คณะกรรมการแห่งชาติเกี่ยวกับโบราณสถาน หรือ ICOMOS ไทย เสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมิน แต่ต่อมาก็ขาดการติดต่อไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 31 ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเดือนมิ.ย.2550 กัมพูชาได้เสนอเอกสารการประเมินปราสาทพระวิหารต่อที่ประชุม ซึ่งในส่วนของแผนบริหารจัดการพื้นที่นั้นมีการเสนอแผนที่แนบท้าย ซึ่งเกี่ยวข้องกับเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งยังไม่สามารถเจรจาปักปันเขตแดนกันได้อย่างแน่ชัด ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเข้าร่วมประชุมได้คัดค้านกัมพูชาอย่างแข็งขัน  ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนั้น ยอมเลื่อนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกออกไปก่อน โดยให้ไทยและกัมพูชาไปร่วมกันจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่

หลังการประชุมที่ไครสต์เชิร์ช กระทรวงการต่างประเทศตั้งคณะทำงานกรณีปราสาทพระสิหารขึ้นมา โดยในเดือน ก.ย.2550  โยกทูตวีระชัยจาก อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่สำคัญนี้

อีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญคือ วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ ICOMOS ไทย เข้ามาร่วมทีมด้วย

หลังจากลงพื้นที่ปราสาทพระวิหาร อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ดูพื้นที่และตัวปราสาทแล้ว งานแรกของทีม คือ การร่วมประชุมคณะกรรมการนานาชาติเพื่อร่วมจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหาร โดยกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ช่วง 11-13 ม.ค.2551

การประชุมครั้งนี้ วสุและทีมผู้เชี่ยวชาญไทยได้โต้แย้งและคัดค้านการจัดทำรายงานความคืบหน้าของกัมพูชาและคณะกรรมการนานาชาติ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือ มีการใช้แผนที่แสดงเส้นเขตแดนล้ำเข้ามาในเขตไทย และกันไทยออกจากกการมีส่วนร่วม

เมื่อการทักท้วงของฝ่ายไทยไม่ได้รับการใส่ใจ ทูตวีระชัยจึงประกาศถอนตัว เพื่อไม่ให้การมีส่วนร่วมของไทยครั้งนี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ

“เราได้เห็นเอกสารที่เขาทำขึ้นมา พบว่ามีการบิดเบือน อย่างทางเข้าปราสาท ซึ่งมองตามลักษณะภูมิประเทศแล้ว อยู่ฝั่งไทย แต่เอกสารฝ่ายกัมพูชาตีความการออกแบบ โดยมองจากด้านล่างในเขตประเทศกัมพูชา ซึ่งผู้ที่ตีความดังกล่าวเป็นชาวฝรั่งเศส และเป็นคนของยูเนสโก เราเสนออะไรไปที่ประชุมก็ไม่ยอมรับ และหลังการประชุมที่เสียมราฐแล้ว คณะกรรมการนานาชาติก็เดินทางไปพนมเปญ เพื่อรายงานการจัดทำแผนกับสก อาน รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา โดยไม่ได้รายงานการแสดงท่าทีการคัดค้านของฝ่ายไทย เรามองเจตนาว่าเขากลบเกลื่อน ก็เลยประกาศยุติบทบาทการทำงานร่วมกับคณะกรรมการนานาชาติ แผนบริหารจัดการฉบับนี้จึงไม่มีไทยเข้าร่วม” วสุ เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น

วสุ บอกว่า การตัดสินใจครั้งนั้นไม่ได้ทำด้วยอารมณ์ แต่คิดกันไว้แล้ว เป็นกลยุทธ์ซึ่งก็มีแผนขั้นต่อไปแล้วว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป แผนขั้นต่อไปของทูตวีระชัยก็คือ นำทีมคณะผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยบุกสำนักงานใหญ่ยูเนสโกที่กรุงปารีส เพื่อชี้แจงท่าทีของฝ่ายไทยที่คัดค้านฝ่ายกัมพูชา

“ท่านทูตแจ้งกับทางยูเนสโกชัดๆ ในเรื่องเส้นเขตแดน บอกว่าจะขึ้นทะเบียนมรดกโลกแบบคลุมเครือไม่ได้ เราบอกว่าเรามีข้อมูลใหม่ฝั่งไทยซึ่งต้องผนวกเข้าไปในแผนบริหารจัดการพื้นที่ด้วย แต่เขาไม่ฟัง บอกว่า อิโคโมสโดยคณะกรรมการนานาชาติที่ประชุมกันทำรายงานเสนอมาแล้ว แก้ไขไม่ได้

หลังการไปพบกับยูเนสโก ท่านทูตบอกว่า เข้าใจแล้วว่าตัวการในเรื่องนี้ก็คือยูเนสโกนี่เอง เราเสนอที่จะให้ผนวกข้อมูลใหม่ เขาบอกได้ แต่ต่อมามีการหารือ 3 ฝ่าย ไทยโดยคุณนพดล ปัทมะ(รมว.ต่างประเทศขณะนั้น) กัมพูชา และยูเนสโก เรื่องแถลงการร่วมไทย-กัมพูชา ก็ใส่เข้าไปได้ เขาบอกว่าเป็น Political Dicision ก็แสดงว่าไม่ตรงไปตรงมา”  วสุเล่าถึงการร่วมเดินทางไปชี้แจงต่อยูเนสโก แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวัง

หลังกลับมาถึงประเทศไทย ในเดือน เม.ย. เพื่อแสดงท่าทีของไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทูตวีระชัยเชิญเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส และเอกอัคราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยมาพบ เพื่อแสดงท่าทีของไทยต่อแผนที่แนบท้ายแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารดังกล่าว

เปิดเบื้องหลังวีรกรรมทูต "วีระชัย" walk out-บุกยูเนสโก ขวางขึ้นทะเบียน "พระวิหาร"

ไม่นานหลังจากนั้น 6 พ.ค.2551 นพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น ก็ลงนามในคำสั่งโยกย้ายวีระชัยจากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง หมดหน้าที่จากกรณีปราสาทพระวิหาร

ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการต่างประเทศถาม นพดลว่า การโยกย้ายวีระชัยพ้นตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ในระหว่างที่กำลังมีประเด็นสำคัญเรื่องเขตแดนเช่นนี้จะไม่เป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึกหรือ

นพดลตอบว่า “ม้าแต่ละตัวในกระทรวงการต่างประเทศมีประสิทธิภาพดีทั้งสิ้น ตัวไหนก็วิ่งได้ แต่ต้องการม้าที่จะวิ่งในลู่ที่ให้วิ่ง”

นี่คือช่วงเริ่มต้นของกรณีเขาพระวิหาร ซึ่งทูตวีระชัยเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างสำคัญตั้งแต่ต้น โดยมีหลักการจุดยืนสำคัญคือปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ กระทั่งถูกอำนาจการเมืองโยกย้าย กระทั่งเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วจึงได้กลับมาสานต่ออีกครั้ง ในการทำหน้าที่หัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการสู้คดีตีความคำพิพากษาศาลโลกกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งคนไทยทุกคนได้ประจักษ์ชัดในความมุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างน่าประทับใจนี้แล้ว

สำหรับวสุ ในฐานะที่เคยร่วมงานในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติร่วมกับทูตวีระชัย เขากล่าวว่า การสูญเสียทูตวีระชัยเป็นเรื่องน่าเสียดาย ทั้งในฐานะนักการทูตที่มีความสามารถ และผู้นำที่เป็นต้นแบบในด้านความกล้าหาญและการตัดสินใจ

“ท่านเป็นนักการทูตที่เก่งมากในแง่หลักกฎหมาย การวิเคราะห์สถานการณ์  ไม่กลัว  รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ หากมีความเป็นไปได้ก็ไม่ถอย มีความกล้าหาญทำทุกอย่างที่เป็นไปได้ แต่ก็ไม่ได้เสี่ยงเกินตัว ซึ่งความเชื่อมั่น การกล้าตัดสินใจของท่านเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านเรียนที่ฝรั่งเศส ก็ไม่ใช่เด็กเรียนที่เรียนหนังสืออย่างเดียว แต่ท่านยังมีประสบการณ์ชีวิตอีกหลากหลายที่ทำให้ท่านพร้อมที่จะเผชิญกับอะไรต่างๆ”

นี่คือบทบาทของทูตวีระชัย ที่อยู่ในความทรงจำอันประทับใจของทีมงานปกป้องผลประโยชน์ของชาติในกรณีปราสาทพระวิหาร