posttoday

สสส.พร้อมรับมือไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ปี 2564

12 มีนาคม 2562

นักวิชาการชี้อย่าเลียนแบบญี่ปุ่น แนะไทยออกแบบพัฒนานวัตกรรมทางสังคม หนุนธุรกิจสตาร์ทอัพปรับใช้ให้เหมาะสม นำร่อง “ธนาคารเวลา” หวังเป็นต้นแบบงานจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ

นักวิชาการชี้อย่าเลียนแบบญี่ปุ่น แนะไทยออกแบบพัฒนานวัตกรรมทางสังคม หนุนธุรกิจสตาร์ทอัพปรับใช้ให้เหมาะสม นำร่อง “ธนาคารเวลา” หวังเป็นต้นแบบงานจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนกรสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย สมาคมญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย และ SASAKAWA PEACE FOUNDATION จัดงานเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “สังคมสูงวัยไทย – ญี่ปุ่น : สูงวัยอย่างมีพลังในโลกยุคดิจิทัล (Digital and Active Ageing in Japan and Thailand )” โดย นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการนำเสนอข้อมูล แนวทางเชิงนโยบาย ปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ต่อมาตราการในการเตรียมพร้อมรับมือ สังคมสูงวัยในไทย – ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตลอดจนบทบาทสื่อ คนรุ่นใหม่ และศิลปินผู้สูงวัยที่มีพลังในการสร้างสรรค์ ศิลปะวัฒนธรรม ต่อการสร้างพลังบวก และการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมและธุรกิจเพื่อสังคมไทยในโลกยุคดิจิทัล รวมทั้งร่วมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ และแนวทางในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ และเตรียมพร้อมของสังคมไทยสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอนาคต

นางภรณี กล่าวต่อว่า สถานการณ์สูงอายุไทย ปี 2560 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.1 ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2564 โดยจะมีประชากรสูงอายุจะมีถึง 1 ใน 5 และในปี 2574 จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด อย่างไรก็ตาม พบว่าประชากรไทยก่อนวัยสูงอายุกว่าร้อยละ 40 ยังคงไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต ทั้งด้านสุขภาพและความมั่นคงทางรายได้ ที่ผ่านมา สสส.พยายามสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์สังคมสูงอายุของประเทศไทยที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของสังคม เช่น อัตราการเกิดที่น้อย ส่งผลถึงวัยแรงงานที่จะขาดแคลนในอนาคต การแบกรับภาระการดูแลครอบครัวของคนรุ่นใหม่ แม้ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จะรวมกันเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงอายุอย่างต่อเนื่องแต่บทเรียนในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงอายุในมิติต่าง ๆ ของทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีก็เป็นประเด็นน่าสนใจ มีการออกแบบนวัตกรรมที่ใช้ในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เช่น ธนาคารเวลา ศูนย์สวัสดิการสังคม โดยเฉพาะธนาคารเวลาที่ สสส.ได้ร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ดำเนินการในพื้นที่นำร่องของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่นำร่อง 42 พื้นที่ใน 28 จังหวัด เหล่านี้เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เป็นประโยชน์สามารถประยุกต์ใช้ตามบริบทของสังคมไทย

สสส.พร้อมรับมือไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ปี 2564

ดร.คิอิชิโร่ โออิซูมิ ผู้อำนวยการของสมาคมเอเชียศึกษา และสมาคมไทยศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึง “ความเหมือนและความต่างของนโยบายและมาตราการต่างๆในการเตรียมพร้อมสำหรับสังคมสูงวัยในญี่ปุ่นและไทย”ว่า ขณะนี้ประเทศไทยญี่ปุนและไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วและมีแนวโน้มในทิศทางเดียวกันคืออัตราการเด็กเกิดน้อยโดยสัมพันธ์กับระดับรายได้มากจะมีบุตรน้อย การมีค่านิยมการแต่งงานที่เปลี่ยนไป ยิ่งในโลกยุคดิจิตัลจากการสอบถามผู้ชายรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น พบว่าผู้ชาย 60% ตอบว่ามีแฟนเป็น AI หรือปัญญาประดิษฐ์ได้ ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยยาวนานขึ้น โดยญี่ปุ่นอายุขัยเฉลี่ยราว 80 ปี คนไทยราว 70 ปี อย่างไรก็ตาม ประชากรหนุ่มสาวคนไทยยังมีเวลาเตรียมตัว หากมีการกำหนดให้ผู้สูงอายุมีอายุ 65 ปีขึ้นไปเหมือนญี่ปุ่น แต่ไทยนิยามให้ผู้สูงอายุต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทำให้มีสัดส่วนผู้สูงอายุเร็วขึ้น ดังนั้น อยากให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดเป็นสูงวัยที่มีความกระปรี้กระเปร่า(Active Ageing) ส่วนการเตรียมการรองรับหรือแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยนั้นญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีนักและกำลังประสบปัญหาเช่นกัน แต่อยากให้นำบางส่วนปรับใช้ เช่นตัวอย่างในภาคประชาสังคมมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ดูแลผู้สูงอายุ เป็นการให้บริการดูแลผู้สูงอายุผ่านแอปพลิเคชัน อำนวยความสะดวกในการส่งผู้ดูแลอยู่เป็นเพื่อน ซื้อของ เป็นต้น

ดร.คิม ซุง-วอน อาจารย์ในมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวในหัวข้อ “สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของสังคมสูงวัยในเกาหลีใต้” ว่า สังคมเกาหลีใต้และไทยมีเวลา 18 ปี ในการเตรียมความเข้าสู่สังคม ขณะที่ญี่ปุ่นใช้เวลา 25 ปี ถือเป็นรุ่นพี่ที่มีการเตรียมความพร้อมมาก่อน เกาหลีใต้จึงนำเอาระบบประกันแบบบำนาญที่ดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวของญี่ปุ่นมาเป็นแบบอย่างซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีแต่ความเป็นจริงญี่ปุ่นและเกาหลีมีความแตกต่างกันรัฐบาลญี่ปุ่นให้งบประมาณในการอุดหนุนมากกว่าทำให้ได้รับบริการที่คลอบคลุมเพียงพอในการดำเนินชีวิต โดยที่เกาหลีไม่สามารถเลียนแบบได้ เพราะหมายถึงการใช้งบประมาณจำนวนมากและการเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ ทำให้ผู้สูงอายุของเกาหลีใต้เป็นผู้สูงอายุที่ยากจนที่สุดในโลก ต้องทำงานเมื่อแก่ชรา พึ่งพิงลูกหลาน และได้รับเงินสวัสดิการจำนวนน้อยนิด ดังนั้น เกาหลีจึงริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้มากกว่า ในปี 2549 จึงตั้งศูนย์สวัสดิการสังคมในชุมนขึ้น 4 แห่ง เพื่อทำงานขับเคลื่อนสังคมเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานระหว่างผู้สูงอายุและชุมชน ศูนย์สวัสดิการสังคมในชุมชนจึงเป็นทั้งโรงอาหาร ส่งอาหาร ตรวจสุขภาพ จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ฯลฯ และยังมีเจ้าหน้าที่ที่คอยประสานกับเอกชนหรือร้านค้าในชุมชน ให้บริจาคเป็นบริการต่างๆ เช่น ตัดผม รับประทานอาหารในร้าน คาราโอเกะ โดยการใช้คูปอง ในปี 2558 จึงมีศูนย์สวัสดิการสังคมในชุมชน 454 แห่ง ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นผลสำเร็จ