posttoday

วงเสวนาชี้แบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ทางออกยิ่งเพิ่มตลาดใต้ดิน-กระทบท่องเที่ยว

06 มีนาคม 2562

นักวิชาการ ชี้ โทษบุหรี่ไฟฟ้ารุนแรงเกิน สร้างปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับกุมผู้ใช้ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโทษอาญา แนะหาทางควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย

นักวิชาการ ชี้  โทษบุหรี่ไฟฟ้ารุนแรงเกิน สร้างปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับกุมผู้ใช้ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโทษอาญา แนะหาทางควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. วิทยาลัยนวัตกรรมและสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนาหัวข้อ เศรษฐกิจใต้ดิน กฎหมาย และ บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย  โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองผู้บังคับการ ทนายเกิดผล แก้วเกิด และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตัวแทนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจากเพจเฟซบุ๊ก บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร และผู้ร่วมฟังเสวนาทั้งนักศึกษาและบุคคลทั่วไปกว่า 100 คน เพื่อหาทางออกให้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ในสังคม เนื่องจากมีผลกระทบทั้งในมิติทางสังคม กฎหมายและ เศรษฐกิจ ตัวอย่างล่าสุดคือนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่โดนจับที่ภูเก็ตข้อหาครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าและโดนเรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการปล่อยตัว
 
รองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม กล่าวว่า กฎหมายของประเทศไทยที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าให้โทษอาญากับผู้ใช้ เป็นกฎหมายที่แปลก และไม่ทันต่อโลก โลกมีการพัฒนาไป เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เราจึงควรเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นและที่สำคัญ กฎหมายต้องก้าวทันนวัตกรรมให้ทัน แต่แนวกฎหมายของประเทศไทยเลือกที่จะใช้อำนาจเด็ดขาด และเน้นปราบปรามให้โทษอาญา เป็นการตัดสินผู้กระทำความผิดโดยปราศจากการคำนึงถึงบริบท การแบนไม่ได้แก้ปัญหา หรือทำให้ควบคุมได้ แต่ทำให้เกิดเศรษฐกิจใต้ดินยากต่อการควบคุม และยังเป็นช่องทางของการทุจริตคอรัปชั่น ทำลายการท่องเที่ยว รัฐบาลควรเร่งมีการศึกษาอย่างเป็นกลางครบรอบด้านทั้งวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม  และปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
 
ผศ.ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ นักวิชาการวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยต้องหยุดปฏิเสธการมีอยู่ของธุรกิจสีเทาและสินค้าบาปอื่นๆ ทั้งการพนัน หวยใต้ดิน โสเภณี และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย ความพยายามในการปิดกั้นและปราบปรามโดยให้โทษรุนแรง ยิ่งทำให้เกิดธุรกิจใต้ดินและรัฐบาลก็ไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การยอมรับการมีอยู่และนำมาควบคุมในที่แจ้งและควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า 
ในมุมของทนายเกิดผล แก้วเกิด ให้มุมมองด้านกฎหมายว่า โทษอาญาของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในไทยไม่สมเหตุผล เนื่องจากขาดความชัดเจน การกำหนดโทษอาญาต้องมีความเจาะจงถึงลักษณะการกระทำผิด ไม่ใช่เขียนกว้างๆ จนทำให้เกิดปัญหาการตีความและการบังคับใช้ และเห็นด้วยที่กฎหมายต้องมีความเท่าทันนวัตกรรมและต้องไม่ละเมิดสิทธิของบุคคล หากบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนจริง การห้ามจะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ใช้ในการเข้าถึงสิ่งที่ปลอดภัยกว่า ส่วนที่ภาครัฐอ้างถึงเรื่องกลัวจะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ คิดว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะบุหรี่ปัจจุบันก็คุมได้ หรือ แม่แต่อาวุธปืนยังสามารถควบคุมได้
 
อาจารย์อุ่นกัง แซ่ลิ้ม รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อทดแทนบุหรี่มวน จากการศึกษาพบว่ามูลค่าตลาดใต้ดินอาจสูงถึง 5000 ล้านบาทต่อปี เพราะมีการเติบโตเร็วมาก มาตรฐานสินค้าก็มีความหลากหลายและการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ก็ผิดๆถูกๆ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการแบนไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อใครเลย ปัจจุบันมีงานวิจัยที่พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า หากรัฐจะนำมาควบคุมโดยใช้มาตรการภาษีที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้สูบบุหรี่กว่า 11 ล้านคนในประเทศไทย ก็อาจเป็นฐานภาษีเพิ่มเติมจากภาษียาสูบที่สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลปีละหลายพันล้านบาท และอาจเป็นรายได้เพื่อนำไปสนับสนุนระบบประกันสุขภาพและช่วยลดภาระค่ารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ หากบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนจริง ข้อเสนอแนะควรเปลี่ยนบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นสินค้าควบคุม ส่งเสริมการวิจัยเพื่อใช้ในการดำเนินนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า
 
ผู้แทนกลุ่มแฟนเพจบุหรี่ไฟฟ้าคืออะไรและกลุ่มลาขาดควันยาสูบ กล่าวว่า สาเหตุที่กลุ่มตั้งขึ้นมา และวัตถุประสงค์ เพื่อให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าควบคุมตาม กฎหมาย เก็บภาษีป้องกันเยาวชน เพราะตอนนี้เป็นสินค้าใต้ดิน ควบคุมอะไรไม่ได้เลย ล่าสุดกรมการค้าต่างประเทศ ช่วยตั้งคณะทำงานมาเพื่อศึกษาข้อดีข้อเสีย แต่ต้องมีความเป็นกลาง ไม่บิดเบือน เพราะจะทำให้ กรมฯเสียภาพลักษณ์และอาจตัดสินพลาดจากข้อมูลที่ถูกบิดเบือนได้ ทำให้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าไม่ถูกปลดล็อกในสังคมไทย

เมื่อปลายปี 2561 กรมการค้าต่างประเทศโดยกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาการปรับปรุงการห้ามนำเข้า เพื่อลดผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่โดนรีดไถเนื่องจากหลายประเทศอนุญาตให้ใช้เป็นทางเลือกที่ลดอันตรายจากบุหรี่มวน แต่ประกาศห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าของไทยมีโทษอาญากับผู้ใช้ มีความสับสนในการบังคับใช้และสร้างปัญหาตามมา ได้แก่ ธุรกิจซื้อขายใต้ดิน การรีดไถคอรัปชั่น ผลเสียด้านการท่องเที่ยว เวทีเสวนาจึงเสนอทางออกด้วยการเปลี่ยนการแบนห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการนำมาควบคุมอย่างเหมาะสมแทน