posttoday

เร่งผลิตน้ำมันกัญชาก.ค.นี้ ล็อตแรก2,500ขวด รักษา4กลุ่มผลจากคีโมมะเร็ง-ปวดเรื้อรัง

05 มีนาคม 2562

รมว.สธ.ตั้งเป้าภายใน 2-3 ปี ไทยผลิตสารกัญชารักษาโรค สู้ต่างชาติได้ มั่นใจราคาไม่แพง

รมว.สธ.ตั้งเป้าภายใน 2-3 ปี ไทยผลิตสารกัญชารักษาโรค สู้ต่างชาติได้ มั่นใจราคาไม่แพง

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อภ.ยังไม่ได้คิดเรื่องการกำหนดราคากลางขายกัญชาทางการแพทย์เพราะยังไม่ได้ผลิตออกมา แต่คาดว่าจะผลิตออกมาล็อตแรกเป็นน้ำมันกัญชา 2,500 ขวด ในเดือน ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของราคาขาย หากเป็นยาปกติทั่วไปจะมีคณะกรรมการพิจารณาราคากลางอยู่เพื่อกำหนดให้โรงพยาบาลต่างๆ มาซื้อได้ ในราคาที่เหมาะสม

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า หากผลิตได้จำนวนมากราคาก็ถูกลง แต่ทั้งหมดที่ทำเพื่อประโยชน์ของคนไทย และเพื่อผู้ป่วย อย่าได้ห่วงกังวลเพราะจะไม่มีการขูดเลือดกันแน่ แต่ภายใน 5 ปีที่มีบทเฉพาะกาล คาดว่าประเทศไทยสามารถผลิต ทั้งยา สารกัญชาประโยชน์ทางการแพทย์ได้ทันต่างประเทศที่เขาจะเทตลาดเข้ามาในประเทศไทย

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การที่ อภ.ต้องใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท ในการปลูกกัญชาพื้นที่ 100 ตารางเมตร คนอาจสงสัยว่าทำไมชาวบ้านอาจจะใช้แค่ต้นละ 5 บาท ขอชี้แจงว่าในการปลูกกัญชาเพื่อนำมาทำเป็นยานั้น จะปลูกตามพื้นที่ทั่วๆ ไปไม่ได้ จะต้องปลูกให้ได้มาตรฐานทางการแพทย์ ที่จะต้องมีสารสำคัญในการเป็นยาคงตัว ปลอดสิ่งปนเปื้อน เช่น ยาฆ่าแมลง

นอกจากนี้ ต้องมีการตรวจสอบการผลิตทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูก เมื่อได้ดอกแห้งมาทำเป็นสารสกัด และทำเป็นผลิตภัณฑ์ และมีสารสำคัญที่จะเป็นยา

ทั้งนี้ ไทยต้องเร่งที่จะทำให้กัญชาเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะหลายชาตินำไปแล้วหลายสิบปี เช่น แคนาดา อิสราเอล การที่ พ.ร.บ.ออกมาเพื่อกันต่างชาติ ให้คนไทยพัฒนาและใช้ประโยชน์ใน 5 ปี โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐและเอกชน ก็เพื่อประโยชน์ของคนไทยไม่ได้เป็นการกันคนไทยส่งออกไป แต่เป็นการป้องกันต่างชาติแห่เข้ามา ซึ่งตั้งเป้าอยากให้ไทยพัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อสู้กับต่างชาติให้ได้ภายใน 2-3 ปี เพราะหลังจาก 5 ปีแล้วต่างชาติจะเข้ามาแน่

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า ช่วงนี้ทาง อภ.จะมุ่งเน้น ในเรื่องการปลูก เพื่อให้ได้สารสกัดที่ดี มีคุณภาพก่อน ส่วนเรื่องราคานั้น จะมีคณะกรรมการจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยกำหนดราคากลาง เพื่อ ไม่ให้สูงเกินจนเกิดปัญหาการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วย

นพ.โสภณ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ต่างชาติใช้กัญชาทางการแพทย์มาก่อนเรา จึงต้องเร่งพัฒนาสารสกัดให้ได้คุณภาพระดับเมดิคอลเกรด เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง อภ.ได้รับกัญชาของกลางมาพัฒนาเป็นยา แต่พบว่ามีการปนเปื้อนสารโลหะหนักและยาฆ่าแมลงเยอะมาก จึงต้องพัฒนาให้ได้คุณภาพที่สุดด้วยการทุ่ม งบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อปลูกกัญชาในรูปแบบระบบปิดในพื้นที่ 100 ตารางเมตร ซึ่งจะมุ่งเน้นให้เป็นพืชยามาตรฐานสากล

นายวิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช กล่าวว่า จากแผนที่กำหนดหลังจากปลูกในวันนี้จะใช้เวลาในการปลูก 4 เดือน และคาดว่าจะสกัดสารออกมาเป็นน้ำมันชนิดหยดใต้ลิ้นได้ในช่วงเดือน ก.ค.นี้ จำนวน 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร หรือประมาณ 1 หมื่นขวด/ปี โดยจะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยใน 4 โรค คือ ผลข้างเคียงจากการรับคีโมรักษามะเร็ง ลมชัก ปลอกประสาทอักเสบ และปวดเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีในกลุ่มที่น่าจะมีประโยชน์ เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ อีกด้วย