posttoday

7 ขั้นตอน 'บรมราชาภิเษก' คาดคนนับล้านร่วมชมพระบารมี

02 มีนาคม 2562

"วิษณุ เครืองาม" แถลงความพร้อมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวม 7 ขั้นตอน เรียบร้อยไปแล้ว 80% คาดคนนับล้านร่วมชมพระบารมี

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีขึ้นช่วงวันที่ 4-6 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่คนไทยทั้งชาติเฝ้ารอที่จะได้ถวายความจงรักภักดี ตลอดจนการเฝ้าชมพระบารมีในการเสด็จฯ เลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และการเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายรายละเอียดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในโอกาสเปิดศูนย์สื่อมวลชนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ว่า เป็นงานใหญ่ลำดับที่สอง รองจากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะงานถวายพระเพลิงมีการสร้างพระเมรุ แต่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่มีการสร้างสิ่งใดใหม่ เพียงแต่ซ่อมสร้างสิ่งที่ชำรุดให้ใช้งานได้และทันสมัย

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้ นายกฯ ขอให้จัดพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณีเท่านั้น ไม่ให้เติมแต่งหรูหรา ฟุ่มเฟือย และให้ประหยัด เมื่อมีการจัดงานรัฐบาลก็ได้ยึดกระแสรับสั่งดังกล่าวมาโดยตลอด"

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การ เตรียมงานช่วงก่อนพระราชพิธีและระหว่างพระราชพิธีรวม 7 ขั้นขณะนี้เรียบร้อยไปแล้ว 80% ขั้นตอนแรก ขณะนี้กำลังรอตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะพระราชทานลงมาจากสำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นตราที่มีความสำคัญมาก เพราะจะนำไปประดับบนคนโทบรรจุน้ำสำหรับสรงที่เรียกว่า น้ำมุรธาภิเษก และจะนำตราไปประดับบนซุ้มประตูที่จะจัดสร้างโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมทั้งบนเข็มกลัดที่จะมีทั้งพระราชทานและจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาไม่แพง และยังต้องนำตราประดับบนธงที่ราชการจะประดับไว้นาน 1 ปีคู่กับธงชาติไทยด้วย

ส่วนขั้นตอนที่ 2 คือ การเลือกพระบรมฉายาลักษณ์ที่จะใช้ในการประดับตกแต่งหรือตั้งบนโต๊ะหมู่สำหรับ สถานที่ราชการและประชาชนทั่วไป ซึ่งควรจะเหมือนกันทั่วประเทศ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก เพื่อจะพระราชทานลงมาผ่านทางสำนักพระราชวัง

ขั้นตอนที่ 3 คือ การเตรียมน้ำมุรธาภิเษก คือ น้ำที่ใช้อาบตั้งแต่พระเศียรลงมา โดยจะเป็นการอาบแบบ "สหัสธารา" หรือการใช้ฝักบัว โดยจะใช้น้ำจากแม่น้ำสำคัญ 5 สาย ประกอบด้วย แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งจะเจาะจงจุดที่ตักน้ำเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ยังต้องเตรียมน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ 4 แห่งใน จ.สุพรรณบุรี คือ สระเกตุ สระแก้ว สระคา และสระมุนา มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำให้มีคุณภาพที่สุด โดยพิธีตักจะมีพร้อมกันในวันที่ 6 เม.ย.

สำหรับขั้นตอนที่ 4 มีการเตรียมน้ำอภิเษก เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มาจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 107 แห่ง นำมารวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เก็บไว้ในหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง รวมเป็น 108 แห่ง โดยในวันที่ 18-19 เม.ย. จะนำน้ำทั้งหมดไปรวมไว้ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย บรรจุในคนโทที่มีตราพระราชสัญลักษณ์ ก่อนจะนำมาใช้ในพระราชพิธีภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ โดยน้ำเหล่านี้จะรดลงบนพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพราหมณ์ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับคัดเลือก รวมทั้งหมด 8 ท่าน บนพระที่นั่ง "อัฐทิศอุทุมพร" ซึ่งเป็นพระที่นั่ง 8 เหลี่ยม 8 ทิศ

รองนายกรัฐมนตรีอธิบายต่อไปว่า ขั้นตอนที่ 5 คือ การเตรียมเครื่องใช้และการสร้างมณฑปบริเวณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่ออาบน้ำมุรธาภิเษกโดยวิธีสหัสธารา ซึ่งอาจจะต้องสร้างพลับพลาที่ประทับของเจ้านายชั้นสูงด้วย

ขั้นตอนที่ 6 คือ การจัดเตรียมขบวนพระยุหยาตราทางสถลมารคเลียบพระนคร ซึ่งจะใช้ทหารในขบวนและมีการบรรเลงเพลง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการซ้อมย่อย โดยการซ้อมใหญ่จะมีขึ้นในวันที่ 27-28 มี.ค.นี้

และขั้นตอนที่ 7 คือ การเตรียมการเชิญแขกต่างๆ ว่าจะมีใครบ้าง และใครต้องประจำอยู่จุดไหน อย่างไรก็ตามไม่มีการเชิญแขกต่างชาติมาร่วมพิธี แต่หากท่านใดประเทศใดจะมาก็ให้การต้อนรับ แต่ตอนนี้ยังไม่มีที่ใดที่ประสานงานมาว่าจะมาร่วมพิธี

"ทั้งหมดคือพระราชพิธีช่วงต้นและเบื้องกลาง ยังมีพระราชพิธีช่วงปลาย คือ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ซึ่งจะมีขึ้นปลายเดือน ต.ค. โดยจะมีเรือทั้งสิ้น 52 ลำ เสด็จฯ จากท่าวาสุกรีไปยังวัดอรุณฯ จากนั้นเสด็จฯ มาขึ้นฝั่งที่ท่าราชวรดิฐ รวมระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้ทหารเรือเป็นฝีพายจำนวน 2,200 นาย และมีการแต่งกาพย์เห่เรือขึ้นมาใหม่ด้วย" วิษณุ กล่าวรองนายกรัฐมนตรีอธิบายว่า พระราชพิธีเบื้องกลางสำคัญที่สุด ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 4-5 พ.ค. โดยเฉพาะวันที่ 4 พ.ค. การสรงน้ำมุรธาภิเษก จากนั้นฉลองพระองค์เต็มยศ เข้าไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรเพื่อทรงน้ำอภิเษกบนพระหัตถ์ จากนั้นย้ายไปประทับบนพระแท่นภัทรษิฐ พราหมณ์จะถวายพระสุพรรณบัฏซึ่งจารึกพระปรมาภิไธย ถวายสร้อยสังวาล ถวายพระราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร (ไม้เท้า) พระวาลวิชนี (แซ่และพัด) และฉลองพระบาทเชิงงอน จากนั้นจะถวายอาวุธสำคัญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เช่น พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงดาบคาบค่าย และพระแสงของ้าวหรือพระแสงแสนพลพ่าย ซึ่งทั้งหมดคือ "การถวายราชสมบัติ" จึงถือว่า พระบรมราชาภิเษกเสร็จสมบูรณ์ ก่อนที่จะมีพระปฐมบรมราชโองการต่อไป

"ประชาชนจะสามารถเฝ้าฯ รับเสด็จได้ในวันที่ 5 และ 6 พ.ค. โดยในวันที่ 5 จะมีการสถาปนาเจ้านาย จากนั้นจะเสด็จออกเลียบพระนคร เริ่มจากพระบรมหาราชวังไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร แล้วไปวัดราชบพิตร ต่อด้วย วัดพระเชตุพน และเสด็จฯ กลับพระบรมมหาราชวัง ระยะทาง 7 กิโลเมตรเศษ ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง บวกเวลาที่ใช้ในแต่ละสถานที่อีก 1.30 ชั่วโมง จากนั้นในวันที่ 6 เวลา 16.30 น. จะเสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่ง สุทไธสวรรย์ปราสาทเหมือนในหลวง รัชกาลที่ 9"

รองนายกรัฐมนตรีคาดว่า ในช่วงทั้งสองวันดังกล่าวจะมีประชาชนรวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเฝ้าฯ รับเสด็จหลายแสนคนหรืออาจจะนับล้านคน จะมีการเปิดพื้นที่ให้เต็มที่ และมีการจัดจอแอลอีดีถ่ายทอดสดไว้รอบบริเวณสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนแต่งกายให้เรียบร้อย ทางที่ดีควรสวมเสื้อเหลืองตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.เป็นต้นไป ไม่จำเป็นต้องมีลวดลายหรือตราสัญลักษณ์ก็ได้ โดยใส่ไปจนถึงเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ 10 ซึ่งรัฐบาลจะขอพระบรมราชานุญาตผลิตออกจำหน่ายในราคาไม่แพง ส่วนเอกชนถ้าจะผลิตเสื้อตราพระราชสัญลักษณ์ก็ต้องขอพระบรมราชานุญาตเช่นเดียวกัน