posttoday

อาหารเด็กรอบโรงเรียน ระวังสารพัดภัยหนุนจัดระเบียบ

23 กุมภาพันธ์ 2562

เด็กจำนวนมากเสี่ยงที่จะเผชิญกับ ภัยร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ในอาหารรอบโรงเรียนที่ต้องซื้อกินเข้าไป

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

เด็กจำนวนมากเสี่ยงที่จะเผชิญกับ ภัยร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ในอาหารรอบโรงเรียนที่ต้องซื้อกินเข้าไป

ภาพที่ผู้ปกครองหรือคนที่ผ่านไปผ่านมามักจะได้เห็นจนชินตาจากอาหารที่วางขายอยู่หน้าโรงเรียนส่วนใหญ่มีอยู่ไม่กี่ประเภท หากไม่เป็นอาหารจำพวกขนมขบเคี้ยว น้ำหวาน น้ำอัดลม ก็เป็นพวกอาหารคาว หนักไปทางพวกของทอด ปิ้ง ย่าง ไส้กรอกทอด ลูกชิ้นทอด ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ข้าวไข่เจียว หรือฟาสต์ฟู้ด

ขณะที่ในโรงอาหารของโรงเรียนแต่ละมื้อนักเรียนชั้นประถมศึกษา 1-6 ทั่วประเทศ มีจำนวนโรงเรียน 27,948 แห่ง รัฐบาลจัดสรรค่าอาหารกลางวันรายหัวให้ 20 บาท/คน/วัน ทุกปีการศึกษาหรือประมาณปีละ 200 วัน อาหารกลางวันแต่ละวันขึ้นอยู่การจัดการของโรงเรียน ส่วนเด็กมัธยมต้องซื้อเองจากโรงอาหาร ส่วนใหญ่เป็นอาหารราคาถูก

กิตติ สรณเจริญพงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่โรงเรียนประถมและมัธยมทั่วประเทศ เพื่อเก็บข้อมูลในการทำวิจัยเรื่องอาหารในโรงเรียน พบว่าหลายแห่งยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลายด้าน

ทั้งนี้ จากที่ได้สุ่มไปดูอาหารกลางวันและมื้ออื่นๆ ของเด็กเพื่อดูภาวะโภชนาการของพวกเขา พบว่ามีวงจรในแต่ละวันที่น่าสนใจ เพราะพวกเขาต้องใช้ชีวิตในโรงเรียนอยู่กับมื้ออาหารที่มีที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง และเด็กบางส่วนเมื่อกินในโรงเรียนแล้วไม่อิ่ม ก็พยายามหาซื้อกินจากรอบๆ โรงเรียนซึ่งหลายแห่งไม่ได้มีการกำกับดูแลอย่างทั่วถึง หรือแม้จะมีการสำรวจและทราบดีว่ารอบโรงเรียนขายอะไรบ้างก็ทำอะไร ไม่ได้มาก เพราะไม่อยากมีปัญหากระทบกระทั่งกับร้านค้า ฝ่ายที่ดูแลเรื่องนี้บอกให้ตำรวจจัดการ ตำรวจก็ใส่ใจบ้างไม่ใส่ใจบ้าง เมื่อเป็นอย่างนั้นเด็กก็กลายเป็นเหยื่อของปัญหาอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะไปในที่สุด

อาจารย์จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า โดยปกติแล้วเด็กช่วงอายุ 6-12 ปี มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ ร่างกาย อารมณ์ และสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ทำให้เด็กมีปัญหาด้านโภชนาการซึ่งเกิดขึ้นได้

"ปกติแล้ววัยเรียนควรได้รับสารอาหารและพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ/เกลือแร่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต หากร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารน้อยไปจะส่งผลให้เด็กมีภาวะขาดโปรตีนและขาดพลังงาน ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ภาวะขาดไอโอดีน มีการเจริญเติบโตไม่เหมาะสมตามวัย ตัวเล็ก เตี้ยแคระแกร็น กล้ามเนื้อลีบ ภูมิต้านทานต่ำ เรียนรู้ช้า ฯลฯ"

กิตติ บอกอีกว่า หากทุกฝ่ายมองว่าเด็กเป็นอนาคตของประเทศ ก็ควรที่จะคำนึงถึงอาหารที่พวกเขากิน หามาตรการที่จะให้พวกเขาได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ปลอดภัยมากที่สุด หากใช้มาตรการแบบที่ประเทศญี่ปุ่นใช้เป็นนโยบายในการจัดการปัญหาอาหารรอบโรงเรียนด้วยการออกระเบียบห้ามขายอย่างเด็ดขาดไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีทำอย่างไรก็ได้ ให้เด็กกินอาหารปลอดภัยที่โรงเรียนจัดไว้ให้ ทั้งกลางวันและเป็นมื้อก่อนกลับบ้าน ให้ความรู้เรื่องอาหารที่ปลอดภัย ให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองเห็นพิษภัย เช่น น้ำอัดลมนั้นมีน้ำตาลสูงถึงกระป๋องละประมาณ 8-11 ช้อนชา องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าแต่ละวันไม่ควรบริโภคเกิน 6 ช้อนชา

กิตติ กล่าวว่า อาหารจังก์ฟู้ดบางชนิดใส่สารกันบูดหรือมีเกลือ ซึ่งมี โซเดียมในปริมาณที่มากเกินไปทำให้เป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหัวใจได้ อาหารแช่แข็ง และอาหารรวมถึงอาหารกระป๋อง เป็นอาหารที่ไม่ควรให้เด็กวัยเรียนรับประทานบ่อยๆ เพราะอาหารเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการยืดอายุอาหาร เพื่อให้เก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น ไม่มีประโยชน์ทางโภชนาการ หากให้ลูกรับประทาน มากๆ จะสะสมในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท เสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมเมื่อโตขึ้น ขณะที่เนื้อสัตว์ ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอกบางชนิดหรือแฮมบางชนิดมีการผสมสารเคมีที่ใช้ในการแปรรูปอาหารอย่างสารกันบูดและโซเดียมสูง ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทในระยะยาวอีกด้วย