posttoday

ภาคเหนือยังเสี่ยงแผ่นดินไหว

22 กุมภาพันธ์ 2562

ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวเตือนพื้นที่ภาคเหนือเสี่ยงทั้งหมด คาดอาฟเตอร์ช็อกอาจเกิดถี่ ห้ามอยู่ในอาคารที่เสียหาย

ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวเตือนพื้นที่ภาคเหนือเสี่ยงทั้งหมด คาดอาฟเตอร์ช็อกอาจเกิดถี่ ห้ามอยู่ในอาคารที่เสียหาย

นายเป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.9 ที่ จ.ลำปาง ถือว่าเริ่มเข้าสู่อันตรายเพราะใกล้เคียงกับขนาด 5.0 ที่ถือว่าอันตราย และขนาด 6 ขึ้นไปถือว่าอันตรายมาก ส่วนสาเหตุที่คาดว่าเกิดจากรอยเลื่อนพะเยานั้น ความเป็นจริงแล้วยังมีรอยเลื่อนอีกจำนวนมากที่ฝังตัวอยู่ใต้เปลือกโลกกระจายอยู่ในหลายพื้นที่หลายตำแหน่ง จึงเป็นห่วงทั้งภาคเหนือ เพราะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา ดังที่เคยเกิดขนาด 6.3 ที่ จ.เชียงราย เมื่อเดือน พ.ค. 2557

"การเกิดที่ลำปางทำให้เราตระหนักว่าแผ่นดินไหวจะเกิดในพื้นที่ใดก็ได้ไม่ใช่แค่ที่เชียงราย ต้องทำให้ประชาชนตระหนักและใส่ใจว่ามีความเสี่ยงเพียงใด ต่อมาคือการเสริมอาคารบ้านเรือนให้ต้านทานแผ่นดินไหว ด้วยการเสริมก้านเหล็กพิเศษ หรือพอกเสาให้ใหญ่ขึ้น โดยอาคารที่อ่อนแอและน่าเป็นห่วงที่สุดคือโรงพยาบาลและโรงเรียน โดยเฉพาะอาคารที่ชั้นล่างเปิดโล่งสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ชั้นบนมีผนังและห้องเรียน" นายเป็นหนึ่ง กล่าว

นายภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยแผ่นดินไหว จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การเกิดอาฟเตอร์ช็อกถี่ๆ เป็นเรื่องปกติ ตอบไม่ได้ว่าจะเกิดอีกกี่ครั้งและรุนแรงเท่าใด จะมีขนาดใหญ่กว่า 4.9 หรือไม่ ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ จึงควรตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการรับมือ

นายธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ หัวหน้าโครงการปรับปรุงแผนที่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวประเทศไทยแบบบูรณาการข้อมูล สกว. กล่าวว่า ในภาพรวมทั่วไปแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่ประชาชนก็ควรอยู่นอกอาคารที่เสียหายสักระยะหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีกหรือไม่ แต่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นถี่ในช่วงนี้

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า แผ่นดินไหวขนาด 4.9 ที่ จ.ลำปาง เมื่อบ่ายวันที่ 20 ก.พ. และมีการขยับตัวของรอยเลื่อนพะเยาอย่างต่อเนื่องกระทั่งถึงเช้าของวันที่ 21 ก.พ. ล่าสุดพบว่า ทุกอย่างได้เข้าสู่ภาวะปกติ

"การเฝ้าระวังพื้นที่ที่เป็นบริเวณของรอยเลื่อนแผ่นดินไหวนั้น มีทีมนักวิชาการทั้งผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณีเอง รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญของกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการปรึกษา แชร์ และวิเคราะห์ข้อมูลกันตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนกกับเรื่องของแผ่นดินไหว แต่อยากให้ทุกคนรับรู้ว่ามันจะเกิดเมื่อไรก็ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณรอยเลื่อน ควรจะซ้อมปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง" อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าว

ทั้งนี้  จ.ลำปาง สรุปสถานการณ์ความเสียหายแผ่นดินไหวตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันที่ 20 ก.พ.-21 ก.พ.ช่วงเวลา 09.00 น. รวม 26 ครั้งขนาดตั้งแต่ 2.1 แมกนิจูด และสูงสุด 4.9 แมกนิจูด บ้านเรือนในพื้นที่ อ.วังเหนือ เสียหาย 21 หลัง โบสถ์ 1 หลัง หอระฆัง 1 แห่ง โดย อ.วังเหนือ ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เพื่อ ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผล กระทบในพื้นที่ 9 หมู่บ้าน 6 ตำบล

 

ภาพประกอบข่าว