posttoday

ยังไงกันแน่? ไบโอไทยเปิดโพสต์โต้นักวิทยาศาสตร์แจงพาราควอตไม่ดีและไม่ถูก

21 กุมภาพันธ์ 2562

มูลนิธิชีววิถีโพสต์แก้ต่างข้อมูลพาราควอต ราคาสูง ประโยชน์ดีแค่สัปดาห์แรกแถมตกค้างสะสมในดินนาน หลังรศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ แนะใช้ดี ราคาประหยัด เหตุที่ต่างประเทศแบนเพราะคนนำไปฆ่าตัวตาย

มูลนิธิชีววิถีโพสต์แก้ต่างข้อมูลพาราควอต ราคาสูง ประโยชน์ดีแค่สัปดาห์แรกแถมตกค้างสะสมในดินนาน หลังรศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ แนะใช้ดี ราคาประหยัด เหตุที่ต่างประเทศแบนเพราะคนนำไปฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. จากกรณีที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า พาราควอตนั้นเป็นยาปราบศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพดีและมีราคาที่ประหยัด นอกจากนี้คุณสมบัติยังสามารถสลายตัวได้ดีในสิ่งแวดล้อม แต่เหตุที่ต่างประเทศแบนเกิดขึ้นจากถูกคนนำพาราควอตไปใช้ฆ่าตัวตาย การยกเลิกใช้เท่ากับผลักให้เกษตรกรที่จำเป็นต้องกำจัดหญ้าหันไปใช้สารตัวอื่นที่มีราคาและอันตรายที่มากกว่า

โดยล่าสุด มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BIOTHAI) ได้ออกมาโต้แย้งว่า ข้อเขียนของอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาดังกล่าวมีข้อมูลบางส่วนคลาดเคลื่อนและผิดพลาดไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 7 ข้อ  

ยังไงกันแน่? ไบโอไทยเปิดโพสต์โต้นักวิทยาศาสตร์แจงพาราควอตไม่ดีและไม่ถูก

1.พาราควอตเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพดีมาก ไม่เป็นความจริงเพราะการวัดประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ได้วัดจากการฉีดพ่นแล้ววัชพืชแห้งตายไปโดยเร็ว แต่ในทางวิชาการนั้นวัดจากปริมาณของวัชพืชที่แห้งตาย (Dry weight) เปรียบเทียบกับช่วงเวลาการฉีดพ่น (WAT- weeks after the treatment) ซึ่งพาราควอตอาจทำให้วัชพืชแห้งตายภายในสัปดาห์แรกมากกว่าแต่ประสิทธิภาพลดลงในสัปดาห์ถัดไป ดังนั้นประสิทธิภาพของพาราควอตจึงไม่ดีเท่าสารอื่นๆ อีกหลายชนิดเมื่อวัดจากระยะเวลาการฉีดพ่นที่ทิ้งระยะยาวนานกว่า

2.พาราควอตมีราคาประหยัดมาก ก็ไม่เป็นความจริงและไม่ใช่ข้อสรุปโดยทั่วไปเหตุปัจจุบันราคานำเข้าของพาราควอตสูงกว่าสารอื่นๆ ทั้งหมดในสารเคมีกำจัดวัชพืชที่นำเข้ามากที่สุด 7 ชนิดนี้ จากข้อมูลการนำเข้าปี 2560 ของกรมวิชาการเกษตร พบว่าราคานำเข้าสารออกฤทธิ์พาราควอตมีราคาสูงสุดในอันดับทั้งหมดที่ 222.47 บาทต่อกิโลกรัม รองลงมาสารออกฤทธิ์อะมีทรีน 213.70 บาทต่อกิโลกรัม และสารออกฤทธิ์ไดยูรอน 209.08 บาทต่อกิโลกรัม สารออกฤทธิ์อะทราซีน 144.96 บาทต่อกิโลกรัม สารออกฤทธิ์ไกลโฟเซต108.20 บาทต่อกิโลกรัม และสารออกฤทธิ์2,4-ดี 101.10 บาทต่อกิโลกรัม และสารออกฤทธิ์2,4 ราคา 74.67 บาทต่อกิโลกรัม โดยหากวัดความประหยัดหมายถึงความคุ้มค่าหรือประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชเปรียบเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายต่อไร่ คำกล่าวที่บอกว่าพาราควตประหยัดมากก็ไม่ใช่ข้อสรุปทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยชื่อ Efficacy and Cost-Effectiveness of Three Broad-Spectrum Herbicides to Control Weeds in Immature Oil Palm Plantation ซึ่งทำโดยมหาวิทยาลัย 3 แห่งในมาเลเซียและอินโดนีเซียพบว่า พาราควอตมีความคุ้มค่าน้อยที่สุดในการกำจัดวัชพืชในสวนปาล์ม เมื่อเปรียบเทียบกับสารเคมีอื่นอีก 2 ชนิด ซึ่งนิยมใช้ในสวนปาล์มและยางพารา

3.ประเทศที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอตมักจะใช้สาเหตุของการที่กลัวคนเอาไปฆ่าตัวตาย เป็นข้ออ้างในการแบนไม่เป็นความจริง เนื่องจากการสำรวจเหตุผลที่มีการแบนพาราควอตในประเทศต่างๆ 51 ประเทศทั่วโลก พบว่าเหตุผลใหญ่ในการใช้เป็นเหตุผลการแบนเนื่องจากความเป็นพิษภัยสูงที่เสี่ยงต่อการนำไปใช้งานและมีผลต่อสุขภาพคิดเป็นสัดส่วน 48% ของเหตุผลในการแบน 30% เพราะเหตุผลว่าก่อโรคพาร์กินสัน และมีประเทศต่างๆเพียง 3% เท่านั้นที่อ้างเหตุผลเพื่อป้องกันการนำไปใช้การฆ่าตัวตาย

4.พาราควอตสามารถสลายตัวในสิ่งแวดล้อมค่อนข้างดี ไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิงซึ่งความเป็นจริงคือพาราควอตสามารถตกค้างในดินประเภทต่างๆ อย่างยาวนานโดยฐานข้อมูล EXTOXNET ของกระทรวงเกษตรสหรัฐซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายมหาวิทยาลัยระบุว่า “พาราควอตต้านทานต่อการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์และแสงอาทิตย์ ตกค้างยาวนาน โดยครึ่งชีวิตของพาราควอตมีระยะเวลาตั้งแต่ 16 เดือน (ในห้องทดลอง) จนถึง 13 ปีในพื้นที่จริง” ในขณะที่ EPA แคลิฟอร์เนียระบุว่า “การย่อยสลายทางเคมี แสงอาทิตย์ และจุลินทรีย์นั้นเป็นกระบวนการที่ “extremely slow” มีงานวิจัยชั้นหลังอีกเป็นจำนวนมากที่พบว่าพาราควอต สามารถตกค้างได้นานกว่านั้นหลายเท่า ซึ่งหากพาราควอตย่อยสลายได้ดีย่อมเป็นไปได้ยากที่พบการตกค้างในสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ ทั้งนี้งานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังพบการตกค้างเกินมาตรฐานในสิ่งมีชีวิตหลายชนิดบริเวณใกล้พื้นที่ฉีดพ่น รวมทั้งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่พบการตกค้างในขี้เทาของทารกแรกคลอดสูงถึง 54.7%

5.มีประเทศที่ยังใช้พาราควอตมากมายทั่วโลก ข้อมูลที่แท้จริงส่วนใหญ่ของประเทศที่อ้างว่ายังมีการใช้พาราควอตอยู่นั้นส่วนใหญ่อยุ่ในประเทศแอฟริกาและมีการนับประเทศเล็กๆ หรือรัฐเล็กๆ รวมอยู่ด้วยเพื่อให้มีตัวเลขจำนวนมาก และที่สำคัญไม่ได้กล่าวถึงปัญหาของประเทศจำนวนมากที่มีกฎหมายอ่อนแอ คือมีรัฐบาลที่ไม่ปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยหลาย 10 ประเทศในจำนวนนั้นมีการอนุญาตให้ใช้แต่จำกัดการใช้อย่างเข้มงวดมาก เช่น ในประเทศบราซิลอนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องใช้เครื่องจักรฉีดพ่นเท่านั้น กระนั้นก็ตาม ANVISA องค์กรด้านสุขภาพของรัฐบาลบราซิลยังเห็นว่าไม่ปลอดภัยเพียงพอ และดำเนินการเพื่อให้มีการยุติการใช้ในปี 2020 นี้ เป็นต้น

ยังไงกันแน่? ไบโอไทยเปิดโพสต์โต้นักวิทยาศาสตร์แจงพาราควอตไม่ดีและไม่ถูก

6.ไกลโฟเซตมีพิษต่ำและมีพิษน้อยกว่าเกลือแกง ซึ่งที่จริงแล้วพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นแบ่งออกได้ 2 แบบ คือพิษเฉียบพลัน (acute toxicity) และพิษเรื้อรัง (chronic toxicity) ไกลโฟเซตมีพิษต่ำหากวัดจากปริมาณการกินทางปากเมื่อเปรียบเทียบกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอื่น แต่ไกลโฟเซตมีพิษเรื้อรังโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากงานศึกษาของ IARC ขององค์การอนามัยโลกที่ยืนยันชัดเจนว่าเป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งชั้น 2A ทั้งนี้ไม่นับโรคอีกหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์กับสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงชนิดนี้ ดังนั้นไกลโฟเซตมีพิษต่ำกว่าเกลือแกงเคยเป็นคำโฆษณาของบริษัทมอนซานโต้ ซึ่งขณะนี้ถูกถอดออกไปแล้ว แต่ขณะนี้มีเกษตรกรจำนวนมากได้ยกคำโฆษณาดังกล่าวเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดีต่อบริษัทดังกล่าว

7.การคัดค้านการแบนพาราควอตโดยให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นคำกล่าวที่ไม่เข้าใจกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายที่ต้องคุ้มครองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งการตัดสินใจในการแบนสารพิษใดๆ ควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันของสังคมภายใต้หลักการที่ทุกฝ่ายมีข้อมูลและเหตุผลครบถ้วน ปัญหาของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นไม่ใช่ปัญหาที่เกิดกับเกษตรกรเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของผู้บริโภคและปัญหาภาระของระบบบริการสุขภาพและปัญหาของสิ่งแวดล้อมด้วย โดยต้องชั่งน้ำหนักระหว่างปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดกับเกษตรกรเอง ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมกับผลประโยชน์และความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวประกอบกัน โดยตลอดหลายปีของการถกเถียงเรื่องนี้สังคมไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มเห็นพ้องต้องกันในการแบนสารพิษที่เสี่ยงเกินกว่าที่จะนำมาใช้ต่อไปเช่น พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นต้น ในส่วนของกรณีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสนั้น สภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรจากทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ มีคำแถลงส่งถึงนายกรัฐมนตรีให้มีการแบนสารพิษดังกล่าวแล้ว ในขณะที่แกนนำของกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของเกษตรกร เช่น “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” กลับเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นและดำเนินการโดยสมาคมผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช