posttoday

คณะบัญชีธรรมศาสตร์แจงปรับปรุง "ตึกตู้ปลา" เป็นไปตามระเบียบ

18 กุมภาพันธ์ 2562

ผู้บริหารคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจงปม "ปรับปรุงตึกตู้ปลา" เป็นไปตามระเบียบขั้นตอน ยันไม่มีเอื้อประโยชน์เอกชน

ผู้บริหารคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจงปม "ปรับปรุงตึกตู้ปลา" เป็นไปตามระเบียบขั้นตอน ยันไม่มีเอื้อประโยชน์เอกชน

นายพิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า โครงการปรับปรุงชั้นล่างของอาคารคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า 'ตึกตู้ปลา' ไม่ขัดกับระเบียบการใช้ที่ราชพัสดุและเปิดโอกาสให้เอกชนใช้พื้นที่เพื่อแสวงหาผลกำไร เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติ โดยกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนนั้นไม่เป็นความจริง

นายพิภพกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องปรับปรุงตึก เนื่องจากพบว่านักศึกษาที่จะต้องกระจัดกระจายไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ และมีเป้าหมายที่จะทำให้ตึกตู้ปลาเป็นพื้นที่ที่สร้างและต่อยอดความคิดไปสู่ธุรกิจจริงให้ครบภายในพื้นที่เดียว เพราะเนื่องจากการเรียนการสอนของคณะในทุกระดับ เน้นการนำสิ่งที่เรียนไปการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่นักศึกษาและโลกธุรกิจต้องการ ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านศาสตร์และด้านสถาบัน จึงต้องการคืนพื้นที่ให้กับนักศึกษา ด้วยการสร้าง ILAB และ ISPAEC เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันประมาณ 1,120 ตารางเมตร โดยมีจะมีห้องประชุมเพื่อระดมสมองในการทำงาน ห้องประชุมสัมมนา และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ทางด้านธุรกิจได้

“พันธมิตรเราในโครงการนี้ก็คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กับร้าน Too Fast To sleep โดยทั้งสององค์กรมาปรับปรุงพื้นที่ให้กับเรากว่า 1,000 ตารางเมตร แล้วเราจะให้ SCB เช่าพื้นที่ประมาณ 30 ตารางเมตร เพื่อให้บริการนักศึกษาและบุคลากร และอีก20 ตารางเมตรให้สำหรับร้าน Too Fast To sleep คณะผู้บริหารจะเดินหน้าทำเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาต่อไป ทั้งนี้ หากทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พื้นที่ที่ได้รับการปรับปรุง จะสามารถเปิดใช้ได้อย่างช้าที่สุดใน ส.ค.นี้”นายพิภพกล่าว

นายวิทยา ด่านธำรงกูล รองคณบดีฝ่ายบริหารฯ กล่าวว่า ตั้งแต่การขออนุมัติการปรับปรุงจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทุกชุด ทั้งในระดับคณะจนไปถึงมหาวิทยาลัย เพื่อได้รับการอนุมัติแล้ว ก็ได้มีการประชุมประชาคมผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2559 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 8 ครั้ง จนในที่สุดเมือกลางปี 2561 ทางคณะฯ ได้ขอให้ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มาช่วยกันระดมสมองกันทั้งหมด 4 ฝ่าย คือ ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ จนได้แบบที่กำลังปรับปรุงในขณะนี้ คือ แบบที่ 8 จากนั้นก็ส่งเรื่องไปตามระบบ

จนในที่สุดทางมหาวิทยาลัยก็ตั้งคณะกรรมการกำกับการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวเข้ามาดูแล รวมทั้ง จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น ทางมหาวิทยาลัยก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ดังนั้น ตนสามารถยืนยันได้ในเรื่องของความโปร่งใส และความถูกต้องในทุกขั้นตอน

นาย อานนท์ มาเม้า ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการวิจารณ์ว่า เป็นการนำที่ราชพัสดุมาให้เอกชนทำประโยชน์นั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเนื่องจาก มาตรา 14 (10) ของ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558 ระบุให้ ปกครอง ดูแล บํารุงรักษา จัดการ ใช้ และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย และที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว และมีข้อบังคับกำหนดวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจน และมีคณะกรรมการที่ราชพัสดุรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ดังนั้น กรณีดังกล่าวไม่มีประเด็นใดๆ ที่ผิดกับข้อกฎหมาย

ด้านนายเอกจิตต์ จึงเจริญ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีฯ ผู้คัดค้านโครงการนี้ ได้แจกเอกสารลำดับเหตุการณ์การปรับปรุงพื้นที่ยืนยันด้วยว่า โครงการปรับปรุงตึกตู้ปลาในครั้งนี้จำเป็นต้องมีการส่งเรื่องไปยังกรมธนารักษ์ เพื่อให้มีการดำเนินการขออนุญาตอย่างเป็นทางการ

คณะบัญชีธรรมศาสตร์แจงปรับปรุง "ตึกตู้ปลา" เป็นไปตามระเบียบ