posttoday

ก.เกษตรเด้งเชือก!แบนสารเคมีแต่จะหาทางปลดแอกพาราควอต

16 กุมภาพันธ์ 2562

ก.เกษตรฯเด้งเชือกแจงมติเกษตรแค่5เสียงไม่มีอำนาจแบนสารเคมีแต่จะเร่งหาทางออกช่วยปลดแอกพาราควอต

ก.เกษตรฯเด้งเชือกแจงมติเกษตรแค่5เสียงไม่มีอำนาจแบนสารเคมีแต่จะเร่งหาทางออกช่วยปลดแอกพาราควอต

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่ามติของที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย 14ก.พ.2562 ผลที่ออกมาคือมติกก.ที่กระทรวงเกษตรฯมีเพียง5เสียงจาก29เสียง กระทรวงเกษตรฯ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายสั่งยกเลิกหรือแบนได้ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างถ้าวันนี้กระทรวงเกษตรฯสั่งยกเลิกการใช้สารเคมีด้วยตนเองโดยไม่มีมติคกก.วัตถุอันตรายรองรับก็ทำไม่ได้ผิดกฎหมายอาญาหรือถ้าคกก.วัตถอันตรายมีมติให้ยกเลิกการใช้หรือแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดแล้วกระทรวงเกษตรฯยังไม่ยกเลิกการใช้ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน ดังนั้น ขอให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ศึกษากฎหมายวัตถุอันตรายให้ชัดเจนแตกฉานด้วย

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ระบุ มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอตต่อไปได้โดยจำกัดการใช้นั้น เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการฯ ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการฯ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ยืนยัน ไม่ได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมหรือกดดันการพิจารณาเพื่อยื้อการยกเลิกออกไป

นายอนันต์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังรอรับหนังสือมติการพิจารณาทบทวนการควบคุมสารพาราควอตอย่างเป็นทางการแต่ทั้งนี้ได้รับรายงานว่า คกก. วัตถุอันตรายซึ่งมีรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานในการประชุมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบให้คงมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 61 ต่อไปที่ให้ใช้แนวทางจำกัดการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งออกประกาศควบคุมการนำเข้า การใช้ และการจำหน่าย จัดทำแผนปฏิบัติการขยายการทำการเกษตรที่ดีที่เหมาะสม (GAP) และ/หรือเกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมทั้งประเทศภายใน 2 ปี และให้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ หานวัตกรรมในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชให้ได้ภายใน 2 ปี เพื่อให้เกษตรกรปรับตัวลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตรายดังกล่าว

นายอนันต์กล่าวว่า การพิจารณาเป็นดุลพินิจของคกก. โดยแนวทางจำกัดใช้เป็นข้อเสนอจากกระทรวงเกษตรฯ ที่ยื่นต่อประธาน คกก. เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา แต่กลุ่มผู้ต้องการให้ยกเลิกพาราควอตทันทีออกแถลงการแสดงความผิดหวัง อีกทั้งมีบุคคลและองค์กรภาคเอกชนนำเสนอข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียตำหนิกระทรวงเกษตรฯ ในวงกว้างด้วยความไม่เป็นธรรม เพราะกระทรวงเกษตรฯไม่สามารถยกเลิกหรือสั่งแบนการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดด้วยตนเอง ต้องให้มติของคกก.วัตถุอันตราย สั่งก่อน กระทรวงเกษตรฯจึงจะสั้งห้ามนำเข้าได้มิฉนั้น ก็จะถูกฟ้องได้เช่นกัน จึงขอให้ผู้คัดค้านได้ศึกษามติทั้งในการประชุมล่าสุดและมติเดิมอย่างละเอียด ก็จะเห็นว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้เพิ่มเติมข้อความใดดังที่กลุ่มผู้คัดค้านกล่าวหาว่า เดิมให้ใช้พาราควอตเฉพาะในพืช 5 ชนิดคือ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด แต่ล่าสุดให้ใช้ในไม้ผลด้วยนั้น รายละเอียดชนิดพืชเป็นแผนปฏิบัติงานของกรมวิชาการเกษตรเดิมที่เสนอต่อคคก.วัตถุอันตรายก่อนอยู่แล้วไม่ได้ให้ขยายการใช้แต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่มีการนำเสนอข้อความในโซเชยลมีเดียว่า คณะกรรมการบริหารและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวบรวมนำเสนอต่อคกก. กระทรวงเกษตรฯ นั้น ตนเองไม่เคยเห็นข้อมูลดังกล่าว อีกทั้งในการประชุมวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 62 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เชิญทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการทั้ง 2 คนร่วมหารือกับผู้บริหารกระทรวง ซึ่งนายวิวัฒน์ก็เข้าร่วมประชุมด้วยก็ไม่ได้นำเสนอรายงานหรือกล่าวถึงเลยว่า มีสารทดแทนที่ได้ผลดีและปลอดภัย

ทั้งนี้กรมวิชาเกษตรได้ศึกษาถึงวิธีการปฏิบัติอย่างการใช้เครื่องจักรกลกำจัดวัชพืชแทนการใช้สารเคมีนั้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นถึง 4 เท่า หรือหากใช้สารเคมีอื่นซึ่งยังไม่มีผลยืนยันว่า ประสิทธิภาพและระดับพิษเป็นอย่างไร ต้นทุนจะสูงขึ้นประมาณ 2 เท่าเนื่องจากพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่สิทธิบัตรหมดแล้ว ทำให้ผู้ผลิตหลายรายผลิตแล้วแข่งขันกันจำหน่าย ราคาจึงถูกกว่าสารอื่น

นายอนันต์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฏา บุญราช ได้สั่งการด่วนที่สุดให้จำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดทันที โดยเร่งให้ความรู้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้จำหน่าย เกษตรกร ผู้ประกอบการ ลูกจ้างรับฉีดพ่นสารเคมี โดยจะทำให้เร็วที่สุด จัดตั้งคณะอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีระดับกระทรวง โดยมีปลัดกระทรวงเป็นประธาน อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นเลขานุการ ต้องรายงานผลการดำเนินงานทุก 3 เดือน ให้กรมวิชาการ สำรวจสต็อกสาร 3 ชนิดทั้งจาก ผู้นำเข้าและร้านจำหน่ายซึ่งมีถูกระบุว่า มีการได้กักตุนสารเคมีเหล่านี้ไว้เป็นจำนวนมาก จึงต้องตรวจสอบให้ชัดเจนเพื่อยืนยันให้สาธารณชนมั่นใจในการลดการนำเข้า รวมทั้งให้เร่งจัดทำแผนขยายทำการเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP รวมทั้งเกษตรอินทรีย์ให้ครบ 149 ล้านไร่ ภายในเดือน 31 ธันวาคม 2563.