posttoday

ไขปริศนา "เกษตรกรไทย" ทำไมต้องเผา? สร้างมลพิษทางอากาศ

07 กุมภาพันธ์ 2562

เปิดปัจจัยส่งเสริมการเผาไร่ของเกษตรไทยและมุมการแก้ไขมลพิษ PM2.5 จากนายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาล

เปิดปัจจัยส่งเสริมการเผาไร่ของเกษตรไทยและมุมการแก้ไขมลพิษ PM2.5 จากนายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาล

*********************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล


กว่า 80 % ของประเทศไทยประกอบอาชีพเกษตรกรรม ฉะนั้นบ้านเราควรจะต้องเต็มไปด้วยออกซิเจนอากาศบริสุทธิ์ แต่เหตุใดค่ามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่าง PM 2.5 กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในปัจจุบัน

และเพิ่มสูงขึ้นเกินค่ามาตฐานในแทบทุกภูมิภาค ท่ามกลางงานวิจัยสาเหตุหลักเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของรถยนต์มาเป็นอันดับต้นๆ

“ผมเผากันเป็นเรื่องปกติเพราะเราจน” นักข่าวสัมภาษณ์เกษตรกรคนหนึ่งกรณีในปัจจุบันการเผาเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดมลพิษในอากาศเพิ่มขึ้น ฟังแล้วอาจจะเป็นคำธรรมดาของความเป็นไปโลก แต่ทว่าคิดอีกมุมจะเห็นภาพสะท้อนส่วนร่วมที่เราควรมีต่อกัน 

ในคำถามที่ว่าจริงหรือไม่ที่ “ค่านิยม” หรือ “ความจน” ทำให้ต้องเผาอย่างที่ว่ากัน! 

ไขปริศนา "เกษตรกรไทย" ทำไมต้องเผา? สร้างมลพิษทางอากาศ ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย

เวลา-ค่าเหนื่อย-ขาดแรงงาน ทำให้…เผา  

ตัวเลขของการเผาในภาคการเกษตรอยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 20 ของทั่วประเทศ โดยหลักๆ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 อย่างของภาคทางเกษตรที่มีการเผา ได้แก่  ตอซังข้าว-ข้าวโพด ใบอ้อยและวัชพืช

ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ระบุว่า สาเหตุที่เกษตรกรต้องเผาเกิดจากข้อจำกัดและเงื่อนไขของการทำการเกษตร ซึ่งมีทั้งปัจจัยด้านเวลา  ปัจจัยของอุปสรรคในการทำงานกับค่าเหนื่อยและกำลังแรงงาน เป็นส่วนเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยแรงงานมาเป็นอันดับแรกในปัจจุบัน

ภาคการเกษตรมีฤดูเพาะปลูกและมีระยะเวลาในการเติบโตเป็นปัจจัยผลักเกษตรกร โดยเกษตรกรทุกครัวเรือนไม่ใช่ว่าจะมีเรื่องของเทคโนโลยีหรือเครื่องไม้เครื่องมือครบครัน ในความเป็นจริงแต่ละคนมีความพร้อมไม่เท่ากันและส่วนใหญ่ขาดแคลนเครื่องมือจึงทำให้จำเป็นต้องเลือกที่จะเผา

ถัดมาปัญหาดังกล่าวจะกระทบในเรื่องของอุปสรรคการทำงาน ค่าแรงที่ไม่เพียงพอและไม่คุ้มกับราคาจ้าง  และสุดท้ายคือปัจจัยแรงงานที่ขาดแคลน เกิดจากกลุ่มแรงงานเป็นแรงงานรับจ้างมาจากต่างประเทศเป็นหลัก เมื่อถึงหน้าฤดูเก็บเกี่ยวแรงงานเหล่านี้ต้องจากบ้านมาทำงาน ส่งผลให้ใช้วิธีการที่เร็วที่สุดจึงเลือกใช้วิธีการเผาในการทำงานให้ลุล่วง

ซึ่งปัจจุบันภาคเกษตรกรรมของการทำนาตัวเกษตรกรได้ลดปริมาณการเผาจนเกือบหมดเนื่องจากการเข้ามาแทนที่โดยเครื่องจักร ขณะที่ชาวไร่อ้อยยังคงมีปัญหาและทำเกษตรกรรมในรูปแบบเดิม เมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้จากการเผาอ้อยมีจำนวนถึง 55 % จากอัตราสัดส่วนตัวเลขของผลผลิตอ้อยในแต่ละปีที่สูงถึง 100 กว่าล้านตัน

“อ้อยมีระยะเวลาในการเปิดหีบ 4 เดือน ถึง 4 เดือนครึ่ง มันต้องจบภายในนั้น ชาวบ้านเองก็ต้องเผาเพื่อให้ทันเวลาโรงงาน หรือบางทีอ้อยเจอลมแรงต้นล้มพันกันมากๆ ก็ต้องเผา เพราะรถตัดไม่ได้ เรื่องของการจ้างแรงงาน แรงงานก็เลือกที่จะเผาเพราะค่าแรงในการตัดอ้อยสดราคาอยู่ที่ระหว่าง 130-195 บาทต่อวัน ตัด 1 คน ต่อหนึ่งวันได้แค่ 1 ตัน อากาศร้อนๆ 40 องศา 700 กิโลกรัมต่อวัน เขาก็ไม่พอกินยังไม่ถึง 300 บาทเลย แต่ถ้าตัดอ้อยเผาใน 1 คน ได้ถึง 2-2.5 ตัน ขณะที่ค่าแรงตัดอ้อยเผาราคาอยู่ที่ 90 บาท 1 ไร่มี 11 ตันเผาก็ดีกว่าได้เงินมากกว่าจากปริมาณเยอะและเร็วกว่าด้วย ได้กลับบ้านไว นั้นคือที่มาที่ไปว่าทำไมต้องเผา เกิดจากภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่เขาต้องเผชิญ แล้วเขาก็ไม่มีทางเลือก”

“จน” สะเทือนฟ้า 

ดร.กิตติ บอกว่า ปัญหาที่ยังคงทำให้เกษตรกรเผาในทุกๆ ภาคของเกษตรกรรมอยู่แม้ว่ามีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีทันสมัย แต่ทว่าปัจจัยในเรื่องของราคาอุปกรณ์ที่ค่อนสูงท่ามกลางกำไรที่ผันผวน ขาดทุน-เท่าทุน-ได้กำไร สลับกันไปตามกลไกลตลาด เกษตรกรจึงเลือกการเผาทำลาย ต่อให้มีโทษทั้งจำคุกและปรับ แต่ก็ยังเกิดกรณีดังกล่าวอย่างเช่น ‘อ้อย’ ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมให้ความสนใจ และมีการแก้ไขมานานหลายสิบปี

“เจ้าของไร่ไม่มีใครอยากให้เผา แต่แรงงานได้ค่าแรงไม่พอกิน แรงงานไม่ทำงาน เจ้าของไร่ก็ทำอะไรไม่ได้ วิธีนี้ก็คือวิธีที่ให้ทำเกษตรต่อไปได้ ทีนี้ในกรณีเรื่องของการเผาอ้อย มีกระบวนการแก้ไขอยู่ในเรื่องของการจ่ายเงินระบบชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่ตัดอ้อยสด ในปริมาณราคาที่ 70-120 บาทต่อตัน ขึ้นกับปริมาณสัดส่วนอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ของแต่ละพื้นที่" 

วิธีการดังกล่าวตรงนี้ทำให้การทำเกษตรในรูปเผานั้นคงอยู่ เนื่องจากสัดส่วนถูกแบ่งกันตามเขตข้อตกลงแต่ละพื้นที่เกษตรกรจึงสามารถจัดสัดส่วนปริมาณการทำเกษตรได้ทั้ง 2 แบบ ทั้งอ้อยสดและอ้อยเผาที่ให้ผลประกอบการเท่ากัน

“ไม่มีใครเขายอมเสียหรอก เขาก็รู้ว่าถ้าตัดอ้อยสดได้เพิ่มจากผู้ตัดอ้อยไฟไหม้ อัตราส่วนเขาควรจะเป็นเท่าไหร่ถ้าตัดทั้งแบบธรรมชาติและใช้เผาไฟ นั้นก็คือในข้อเท็จจริงของปัญหา”

ไขปริศนา "เกษตรกรไทย" ทำไมต้องเผา? สร้างมลพิษทางอากาศ

จะทำกันอย่างไร? สำหรับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อไม่ให้การเก็บเกี่ยวอ้อยดำเนินการได้ช้าลง จากที่ต้องเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคมและยืดถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจากผลของการห้ามเผา ผู้เชี่ยวชาญแนะนำในระยะปัจจุบันนี้มี 2 ทาง แก้ไข

1.ให้สิทธิพิเศษกับผู้ตัดอ้อยสด ด้วยวิธีการให้ลัดคิวลงอ้อยหาก อ้อยสวย อ้อยสุขภาพดี ขณะที่ในอีกทางหนึ่งทางออกคือการเรียกเก็บเงินชดเชยให้เฉพาะคนที่มีการเก็บอ้อยสด 100 % เท่านั้น ให้เขาอีก 70-120 บาท แล้วนำเงินที่เหลือนำมาพัฒนาในด้านต่างๆ ก็จะช่วยให้ดีขึ้น

2.ทำความเข้าใจกับแรงงานถึงผลกระทบที่จะตามมาด้านสุขภาพ จากมลพิษของการเผาไหม้จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์,สารฟอร์มาลดีไฮด์,สารคาร์บอนมอนอกไซด์,สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์,สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนหรือสารพีเอเอชและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรงมะเร็ง โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ฯลฯ

“20 ปีที่แล้วเราพูดกันในเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่าบอกมันเป็นเรื่องไกลตัว แต่วันนี้มันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศต่างๆ จากผลการเผา มันจะมีผลมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนมีความรู้มากขึ้น สังคมมันเริ่มใกล้กันมากขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่ทำในอดีตมันเป็นไปไม่ได้แล้ว ก็จะต้องทำในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด”

เกษตรอินทรีช่วยได้

“พืชทุกอย่างมีคุณสมบัติในตัวของมันเอง เนื่องจากพืชต้องการธาตุอาหารในดินสูง ดังนั้นทุกต้นและทุกครั้งที่ปลูกจะดูดอาหารขึ้นไปเลี้ยงในทุกๆ ส่วน แต่เราใช้แค่เพียงลำต้นบ้าง ผลบ้าง ใบบ้าง นอกเหนือจากที่เศรษฐกิจต้องการเราทิ้งหมด เราไม่ปล่อยให้มันกลับคืนสู่ธรรมชาติให้มันย้อยสลายไปเป็นธาตุอาหารนั้นกลับไปสู่ดิน ซึ่งทำให้ดินมันดีผลผลิตมันก็ยิ่งดี”

สุธรรม จันทร์อ่อน อดีตเกษตรกรไร่อ้อยที่ผันตัวมาเป็นเกษตรอินทรีย์และผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงปักไม้ลาย จ.นครปฐม กว่า 10 ปี จนได้รับรางวัลปราชญ์พอเพียงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความคิดเห็นการเผา เกิดจากการมุ่งเน้นปริมาณป้อนเข้าสู่ตลาดของการทำการเกษตรอุตสาหกรรม

ซึ่งแตกต่างจากเกษตรวิถีอินทรีย์ที่พึ่งพาอาศัยระบบนิเวศ ช่วยในการลดต้นทุนและยังได้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา กล่าวคือโลกเราถือกำเนิดจากดาวฤกษ์มาเป็นดาวเคราะห์ มีไอน้ำ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ มีสัตว์เซลล์เดียว พืชเซลล์เดียว ขึ้นบนโลกใบนี้เกิดจากการที่มันอาศัยการย่อยสลายทับถมกันของซากพืชซากสัตว์กลายเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์และให้กำเนิดชีวิต วิถีเกษตรอินทรีย์ที่ช่วยแก้ไขได้ก็เพราะเป็นกระบวนการเดียวกัน

“แมลงที่เป็นศัตรูพืชก็เป็นอาหารของแมลงที่กินแมลง และแมลงที่มันกินแมลงด้วยกันเป็นอาหารไม่ได้กินพืชเลยมีร้อยละ 10  เท่านั้นของโลกนี้ อีกร้อยละ 90 กินแมลงกินพืช เรากำจัดด้วยยาฆ่าศัตรูพืช พอแมลงกินแมลงมันหมด ระบบห่วงโซ่ก็พัง แมลงกินพืชก็จำนวนมากขึ้น เกษตรกรก็ทำเกษตรยากขึ้น”

ไขปริศนา "เกษตรกรไทย" ทำไมต้องเผา? สร้างมลพิษทางอากาศ สุธรรม จันทร์อ่อน ปราชญ์พอเพียงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ปราชญ์พอเพียงบอกอีกว่าในเรื่องของวัชพืชก็เช่นเดียวกัน อย่าง ต้นโคกกระออม ต้นไมยราบ หญ้าขน มีขึ้นทั่วไปมีสรรพคุณทางดินในการดึงไนโตรเจนไปที่รากช่วยบำรุงดินส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของพืช และนั้นเท่ากับว่า ผลผลิตที่ดีขึ้น ราคาก็สูงขึ้นตาม 

“พืชแต่ละพื้นที่ระบบนิเวศก็ต่างกัน  เช่น พืชที่เป็นกลุ่มของผักขม ดึงเอาธาตุเหล็กในดินมาใช้ได้ดี เอาผักไปตรวจมีธาตุเหล็กมากเหมาะสำกรับคนที่มีปัญหาโลหิตจาง คือในศาสตร์ของแพทย์แผนไทยวัชพืชที่เราเห็นคือสมุนไพร แต่บางชนิดที่ขึ้นปะปนกันอยู่เราไม่รู้ตีความเป็นวัชพืชหมดก็เผา ต้นทุนก็เพิ่มสูงขึ้นต้องไปเอาปุ๋ยมาใส่สูตรต่างๆ แต่ถ้าเราเริ่มจากตรงนี้ก่อนในการทำเกษตรเราก็อยู่ได้ แต่ที่อยู่ไม่ได้และไปทำทางนั้นมากกว่าเพราะเราเริ่มจากอุตสาหกรรมทำให้เรามีหนี้สิน พอมาทำเกษตรอินทรีย์รายได้ก็ไม่พอใช้หนี้เก่าจากปัญหาทั้งหมด และกลับไปสู่รูปแบบเกษตรเดิมๆ”

ไขปริศนา "เกษตรกรไทย" ทำไมต้องเผา? สร้างมลพิษทางอากาศ

“ซีโร่ เวสท์” เซ็ตแก้ไขระยะยาว

“ปรับทัศนคติและให้เวลา ที่สำคัญต้องให้ความเข้าใจในองค์ความรู้ของการเพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่หลงเหลือ”  ดร.กิตติ เปิดเผย ถึงวิธีการแก้ไขในระยะยาวที่จะทำให้เกษตรกรรมการอิงเผาหมดไป คือการนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือทิ้ง สามารถช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลงได้และทั้งยังลดปัญหามลพิษและช่วยลดสภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่ง ที่เรียกกันว่า  ซีโร่ เวสท์ (Zero Waste)

และจากปัญหาในสังคมอย่างกรณีการเผาอ้อยสามารถแก้ไขจัดการได้อย่างไร อาจารย์กิตติ ตั้งคำถามว่าเราให้ความรู้กับเกษตกรดีพอแล้วหรือยัง ถึงได้เกิดปัญหาเหล่านี้อยู่ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเราส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่ส่งผลผลิตจากอ้อยอันดับ  3 ของโลก และเรารู้ว่า ‘อ้อย’ นั้นมีความทางคุณค่าในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจถึงขั้น “มหัศจรรย์” ตั้งแต่รากจรดใบ เป็นไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากกากโมลาส  ไขอ้อยทำเครื่องสำอาง น้ำตาลดิบทำถุงพลาสติกย่อยสลายเองได้

“ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม เกษตรกร โรงงานและรัฐ  เราต้องใช้ศาสตร์เทคโนโลยีนี้เข้าไปช่วย ตอนนี้เรามีโรงงานต่างๆ มากมายอาทิ บริษัทมิตรผลและมีบริษัทภูเขียว ที่เข้ามาทำในส่วนของตรงนี้ เขาทำกันเป็นแบบอุทยานให้เราได้เรียนรู้ แปรรูปเป็นปุ๋ย เป็นกระดาษ เป็นพลังงานเชื้อเพลิง ใช้ทุกอย่างของพืชผลทางการเกษตรได้หมดมาสร้างมูลค่าและไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เราอยากดูสามารถเข้าไปดูได้ ทั้งนี้ก็เพื่อมาปรับใช้และสร้างความรู้ต่อๆ กัน ไม่ให้ระดับความรู้ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราอีกต่อไปแล้ว”

ไขปริศนา "เกษตรกรไทย" ทำไมต้องเผา? สร้างมลพิษทางอากาศ