posttoday

"เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องทน" เปิดใจ 5 อาชีพคลุกฝุ่นละอองPM2.5

01 กุมภาพันธ์ 2562

ท่ามกลางมลพิษPM2.5 ที่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ คนทำงนหลายชีวิตต้องเผชิญกับฝุ่นพิษนี้แทบทั้งวัน พวกเขาอยู่กันอย่างไร?

ท่ามกลางมลพิษPM2.5 ที่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ คนทำงนหลายชีวิตต้องเผชิญกับฝุ่นพิษนี้แทบทั้งวัน พวกเขาอยู่กันอย่างไร?

*******************************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

ท่ามกลางวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของคนกรุงเทพมหานครฯ 

โพสต์ทูเดย์ลงพื้นที่ใน 5 ย่านเมือง เพื่อพุดคุยกับคน 5 อาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตั้งแต่ จักรยานยนต์รับจ้าง พนักงานทำความสะอาดถนน แม่ค้า เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร และพนักงานส่งเอกสาร ว่า พวกเขาเหล่านี้มีความคิดเห็นอย่างไร ใช้ชีวิตอยู่กันแบบไหน และรู้สึกอย่างไรกับการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษของภาครัฐ

"เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องทน" เปิดใจ 5 อาชีพคลุกฝุ่นละอองPM2.5

รู้ว่าเสี่ยง! แต่ “เงิน” ทำให้ทน

“อันตรายมาก รู้ตัวเองว่าเสี่ยง แต่มันจะทำยังไงได้” ชัยพร ทรัพย์สืบ อายุ 42 ปี รถจักรยานยนต์รับจ้างมือเก๋าประสบการณ์กว่า 10 ปี ย่านลาดพร้าว กล่าวถึงเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ต้องพบเจอในทุกๆ วัน ด้วยหน้าที่การทำงาน

“ไอ้กลัวมันก็กลัวนะ ปีกว่าๆ แล้ว ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ เพราะหาเช้ากินค่ำ ไหนจะควันไอเสีย ไหนจะก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ครั้นจะไปซื้อมันก็แพงหน้ากาก อันละต้อง 80-90 บาท ค่าข้าว ค่าน้ำมันอีก มันไม่พอหรอกคุณ”

ใน 1 วัน ชัยพร ต้องเจอกับฝุ่นมลพิษนานถึง 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ 8.00-20.00น. ทั้งๆ ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย

“ขับรถวันละ 100 กิโลเมตรกว่าๆ วันหนึ่งได้ 500-600 บาท ก็บุญแล้ว เพื่อนวินด้วยกันไม่มีใครใส่กันสักคน แต่ก็กลัวกันทุกคน อย่างที่บอกมันแพงทางเดียวก็คือคงต้องรอฝนอย่างที่เขาบอก”

เมื่อถามถึงวิธีการรับมือในการกำจัดฝุ่นละอองของทางภาครัฐ เขาบอกว่าการฉีดน้ำก็จะช่วยให้ดีขึ้นแต่เป็นเพียงระยะสั้นๆ ซึ่งสิ่งที่ดีกว่าในตอนนี้ที่ยังแก้ไขไม่ได้คือการแจกหน้ากาก

“บอกว่ามันอันตราย แต่อันตรายกว่าคือไม่มีเงินกิน ก็ลองนับๆ ดูซิเพราะมันแพง คนส่วนใหญ่เขาก็ไม่สวม ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะสวม ดีที่ช่วงเช้ามีน้ำมาฉีดหน่อยมันก็พอช่วยได้ ก็ลองวัดชีวิตเรา ตอนนี้ยังไม่มีอาการป่วย แสบตา หายใจไม่มี ก็ถือว่าเป็นบุญแล้ว” ชัยพรกล่าว

"เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องทน" เปิดใจ 5 อาชีพคลุกฝุ่นละอองPM2.5

เช่นเดียวความคิดเห็นในเรื่องของค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานของ “สมหมาย หาญพานิชกิจ” แม่ค้าร้านชำวัย 60 แสดงความคิดเห็นเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

“ถามว่าอันตรายต่อสุขภาพไหม ก็ไม่รู้นะยังงงๆ อยู่ในตอนแรก เพราะข่าวบางข่าวก็บอกว่าอันตราย บางข่าวก็บอกว่าไม่ร้ายแรงมาก แต่ช่วงหลังๆ ปีใหม่มานี้ เริ่มรู้สึกหายใจขัดๆ พอมาดูข่าวก็สงสัย ต้องเป็นจากไอ้ฝุ่นละอองพวกนี้แน่เลย เพราะว่าสมัยเด็กๆ อยู่สบาย ไม่ต้องมาระวังพิษภัย สังคมมันเปลี่ยนไป รถมันเยอะขึ้น แล้วสิ่งก่อสร้างมันก็มากมาย ถนนสร้างขึ้นๆ โตมา 50 กว่าปี ไม่เคยเจอ รู้สึกว่ามันเลวร้ายมากปีนี้ แต่ประเทศอื่นก็เป็น”

แม่ค้าร้านชำวัย 60 บอกถึงอาการของการแพ้ฝุ่นละอองของบอกว่า มีอาการแสบจมูก แสบหน้าและแสบตาในทุกวัน และเมื่อกลับบ้านต้องล้างด้วยน้ำเกลือถึงจะหาย

“เราต้องทนเพราะเราจน เราอยู่ข้างถนน ถ้าเราไม่จนเราก็ไม่ทนหรอกข้างถนน นี้แต่ก่อนไม่เคยใส่ มาใส่ตอนที่ประกาศออกข่าว ใส่หน้ากากอนามัยได้ 2 อาทิตย์แล้วก็พอทุเลา”

เมื่อถามถึงวิธีการรับมือต่อความจำเป็นที่รู้ว่าเสี่ยงต่อสุขภาพแต่จำเป็นต้องอยู่ด้วยฐานะทางสังคม เธอบอกว่าเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาและสวมใส่แบบ 2 ชั้น แทนหน้ากากอนามัย N95 แทน

“ใส่แบบอันละ 7 บาท ใส่ 2 ชิ้น ก็ 14 บาท เราไปซื้อของแพงอันละ 50-60 บาท ไม่ไหว ค้าขายข้างถนนวันหนึ่งกำไรขายน้ำ 100-200 บาท ไปซื้อของแพงมาใส่มันก็อยู่ไม่ได้ เราอยู่ข้างถนนมันก็ต้องรับสภาพความเป็นจริง”

และสภาพความจริงที่เธอว่าก็คือวิธีการกำจัดฝุ่นละอองของภาครัฐไม่ว่าจะฉีดน้ำกำจัดหรือล้างถนนช่วยได้เพียงแค่ชั่วครูชั่วคราวเท่านั้น ที่เหลือที่ต้องทำคือการช่วยตัวเอง

“ทางการรถทหารเขาก็มาฉีดตั้งแต่เช้ามืด กลางวันก็ฉีด เย็นก็ฉีด แต่คิดว่ามันช่วยอะไรได้มากหรอก ที่ฉีดมันเตี้ยแต่ฝุ่นมันอยู่สูง พอฉีดไปปุ๊บมันก็ปลิวลงมาอีก วันใหม่มันก็มาใหม่ ที่เราทำได้ก็คือจัดการตัวเอง ต้องช่วยเหลือตัวเอง ใครก็ช่วยเราไม่ได้นอกจากเราช่วยเหลือตัวเอง รอฝนตกก็ต้องย่างเข้าเดือน 6 ฝนก็ตกพรำๆ ร้องจนคอแห้งลูกเอ๊ย แนะนำถ้ามีบ้านต่างจังหวัดหนีไปต่างจังหวัดเถอะ”

"เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องทน" เปิดใจ 5 อาชีพคลุกฝุ่นละอองPM2.5

ลดปริมาณ "รถ" ช่วยได้

“น่ากลัวอยู่นะ จากที่ได้ยินข่าวเขาว่ากัน แต่ตรงส่วนแยกรัชโยธินนี้ป้าว่าไม่ค่อยมี” สมใจ มั่งเจริญ พนักงานทำความสะอาดของกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร เปิดเผยความรู้เกี่ยวกับเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในมุมมองที่แตกต่าง

“เราชินแล้วทำงานมาสิบๆ ปี ปกติเรามาทำงานเราก็สวมหน้ากากอนามัยอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่เป็นข่าว ซื้อเป็นประจำแพ็คละ 20 บาท แบบชนิดผ้า แต่ก็ไม่รู้ว่ากันได้ผลมากน้อยแค่ไหนนะ แต่ก็ดีกว่าไม่ป้องกันอะไรเลย”

เมื่อถามถึงความรู้สึกกับการทำงานที่เสี่ยงจากอันตรายของของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากประสบการณ์กว่า 11 ปี สมใจบอกว่า ที่กังวลๆ มากที่สุดก็คือปริมาณการกวาดที่เพิ่มมากขึ้น

“กวาดเศษขยะ เศษใบไม้มันยังไม่เหนื่อย แต่ถ้ามีเศษดิน เศษฝุ่น เยอะกวาดเท่าไหร่ก็ไม่หมด แต่ก็โชคดีที่ทางเขตเขามีทำความสะอาดถนนในช่วงเช้าทุกวัน” เธอบอกเล่าด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า เนื่องจากในมุมของเธอคิดว่าช่วยลดในเรื่องของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกินมาตรฐานได้มากทีเดียว

“และถ้าลดปริมาณรถลงก็น่าจะช่วยได้อีกเยอะ” เธอกล่าวเสริม สำหรับวิธีการรับมือของภาครัฐที่จะช่วยลดฝุ่นมลพิษ

“ไม่อย่างนั้นทำงานแบบนี้อาจจะมีแสบจมูก แสบตา เมื่อก่อนก็เคยเป็นบางครั้ง แต่คิดๆ แล้วตอนนี้ไม่เป็นอะไร ก็ไม่น่าจะเป็นเพราะฝุ่น แต่เป็นเพราะแก่อายุเยอะมากกว่า” พนักงานทำความสะอาดของกรุงเทพมหานครกล่าว

"เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องทน" เปิดใจ 5 อาชีพคลุกฝุ่นละอองPM2.5

รับสภาพแต่อนาคตต้องดีกว่านี้

“อันตรายมาก แต่ทำงานแบบนี้ เลี่ยงไม่ได้ เราเลี่ยงไปคนอื่นเขาก็มาโดนแทนแบบเรา” เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรปฏิบัติงานกลางแจ้ง ย่านดินแดง เปิดเผยรายละเอียด

“เพราะสภาพมันเป็นแบบนี้ไปแล้ว แตกต่างจากก่อนหน้านี้ เพราะเราไม่ได้ช่วยกันจริงจัง ดูข่าวตรวจไม่เจอควันดำ แต่มานั่งดูฝุ่นมันเกิดจากเครื่องไอเสียดีเซล แล้วป้ายทะเบียนรถเมล์ขึ้นต้นด้วย 11, 12 คิดดูรถของผมเลข 14 ยังเป็น 10 ปี แล้วเลยอายุการใช้งาน พวกนี้มันจะสักกี่ปี ที่วิ่งๆ กัน ค่าฝุ่นละอองมันก็เยอะทั่วกรุงเทพฯ ไปหมด

“ภาครัฐฝ่ายเดียวก็แก้ไม่ได้หมด เราไม่ร่วมมือกัน ปิดกันไปมา จะแก้ไขตอนนี้ยากลำบาก จริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว 10 ปีที่แล้ว ก่อสร้างขึ้นกันเป็นดอกเห็ด ตอนนี้ก็มามีรถเต็มกรุงเทพฯ อีกมันก็สะสม” ตำรวจจราจรมากประสบการณ์กว่า 30 ปี กล่าวอีกว่าวิธีการจัดการยังไม่ตรงจุด

“ฉีดไปพอน้ำแห้งมันก็มาอีก ต้องไปไล่ตั้งแต่ต้นทาง รถยนต์ ก่อสร้าง มันถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ทุกวันนี้ความเปลี่ยนแปลงที่แน่ๆ ก็คือ หน้ากากจากเมื่อก่อนใส่หน้ากากธรรมดาเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ตอนนี้ต้องใส่ N 95 ใส่แบบหมอเลย 2-3 วันเปลี่ยนทีก็ยอม เพราะป่วยไม่ไหว สวัสดิการมีแบ่งยศรักษาอีก ทางแก้ที่ดีแจกฟรีตลอดชีพดีที่สุด”

ไม่ต่างไปจาก “พันศักดิ์ ถุงแก้ว” พนักงานส่งเอกสารวัย 32 ย่านสุขุมวิท บอกเล่าถึงปัญหาสุขภาพกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า ถึงแม้ว่ารู้อันตรายแต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิต

“กลัวแต่ทำไงได้ต้องทำงาน กลัวกันแต่ทำอะไรไมได้ ก็ใส่หน้ากากปิดกันตัวเอง ก็น่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง” พนักงานส่งเอกสารรายนี้บอกเล่าถึงปัญหาสุขภาพกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

พันศักดิ์ บอกอีกว่า ก่อนที่คนในประเทศจะตื่นตัวเรื่องมลพิษ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีในหน้าที่การงานขับรถส่งเอกสาร ปัญหาของเรื่องอากาศเป็นปัญหาหลักใหญ่ของอาชีพนี้

“จริงๆ มันเป็นปัญหามาได้นานแล้วสำหรับเรื่องนี้ แมสเซ็นเจอร์ทุกคนเจอกันหมดเวลาขี่มอเตอร์ไซค์ตามรถเมล์ ส่วนหลังๆ มานี้ก็มีก่อสร้างเจอกับฝุ่น แต่เราไม่รู้จักว่ามันคือฝุ่นละอองขนาดเล็ก”

“ณ ตอนนี้ที่มีปัญหาฝุ่นมลพิษก็มีหายใจติดๆ ขัดๆ มีน้ำมูกไหลมาในช่วงนี้” พันศักดิ์ เผยถึงด้านความรุนแรงที่มีผลต่อสุขภาพในเวลานี้

“ถ้าถามว่าฉีดน้ำช่วยอะไรได้มากน้อยแค่ไหน เอาจริงๆ มันไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ ทางที่จะช่วยเลยก็คือการไปลดรถควันดำที่เป็นตัวทำให้มลพิษในอากาศสูงขึ้นขั้นแรกเพื่อให้หายใจสะดวกก่อนในตอนนี้ พอค่ามันลดลงก็ค่อยไปแก้ปัญหาในจุดๆ อื่น พอดีฝนมามันก็ช่วยกันได้ทัน” พันศักดิ์แสดงความคิดเห็น

เมื่อถามถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากที่ภาครัฐได้เข้ามาช่วยแก้ไข พันศักดิ์บอกว่ายังไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควร

“บางอย่างทำมันก็ดีกว่าไม่ทำอะไร แต่ไอ้ที่ทำแล้วไม่ดีเลยคือกากน้ำตาลโรยมาเหนียวตัวเปล่าๆ แต่ที่น่าชื่นชมคือเราคิดจะแก้ไขกันแล้ว แม้ว่ามันจะไม่ตรงจุดบ้าง ตรงจุดบ้าง ก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ก็ขอให้ทำกันต่อไปครับ” พันศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

"เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องทน" เปิดใจ 5 อาชีพคลุกฝุ่นละอองPM2.5

"เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องทน" เปิดใจ 5 อาชีพคลุกฝุ่นละอองPM2.5

"เมื่อเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องทน" เปิดใจ 5 อาชีพคลุกฝุ่นละอองPM2.5