posttoday

หมอเผยควันบุหรี่ก่อฝุ่นPM2.5 เกินคาด สูงกว่าเครื่องยนต์ดีเซล

30 มกราคม 2562

แพทย์ชำแหละปัญหา PM2.5 ระบุต้นตอ "บุหรี่" มีส่วนสำคัญกว่าที่คิด งานวิจัยพบสูงเกินเครื่องยนต์ดีเซล ชวนนักสูบไทยกว่า 10 ล้านราย ร่วมลดมลพิษ และรัฐปรับค่ามาตรฐานใหม่

แพทย์ชำแหละปัญหา PM2.5 ระบุต้นตอ "บุหรี่" มีส่วนสำคัญกว่าที่คิด งานวิจัยพบสูงเกินเครื่องยนต์ดีเซล ชวนนักสูบไทยกว่า 10 ล้านราย ร่วมลดมลพิษ และรัฐปรับค่ามาตรฐานใหม่

นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยในการแถลงข่าว "ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว" จัดโดยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2562 ตอนหนึ่งว่า ก่อนหน้านี้ควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ถูกยกให้เป็นหนึ่งในตัวการของปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แต่ส่วนที่ยังไม่มีการพูดถึงคือควันจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่คนอาจคิดว่าไม่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ จากงานวิจัยที่มีการทดลองเปรียบเทียบ โดยนำรถยนต์ดีเซลติดเครื่องไว้ภายในห้องปิด เป็นเวลาต่อเนื่อง 30 นาที เทียบกับการจุดบุหรี่ทิ้งไว้จำนวน 3 มวน ในสภาพเดียวกัน แล้วทำการวัดระดับ PM2.5 ผลที่ปรากฏพบว่าควันจากบุหรี่เพียง 3 มวน มีระดับค่า PM2.5 สูงถึง 591 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร (มคก./ลบ.ม.) ขณะที่ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ดีเซลวัดได้ 250 มคก./ลบ.ม.เท่านั้น

นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า แม้แต่ในบุหรี่ไฟฟ้าเองก็เคยมีการทดสอบในต่างประเทศ โดยมีการตรวจวัดค่า PM2.5 ในโรงแรมแห่งหนึ่งที่มีการจัดงานโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้าขึ้น โดยตรวจทั้งก่อนและหลังการจัดงาน พบว่าในระหว่างจัดงานบริเวณดังกล่าวมีค่า PM2.5 สูงกว่าปกติถึง 800 มคก./ลบ.ม. และแม้จะผ่านไปภายหลังจัดงาน 1 วัน ค่าก็ยังลดลงไม่เท่าปกติ แสดงให้เห็นว่ายังคงมีตกค้างหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมด้วย

"เราอาจคิดว่าบุหรี่ที่มีควันนิดเดียวอาจสร้างฝุ่นไม่มาก แต่ความจริงปรากฏให้เห็นแล้วว่าบุหรี่มีส่วนเพิ่ม PM2.5 มากกว่าที่เราคิดไว้ ซึ่งในไทยเองมีนักสูบมากถึง 10.9 ล้านคน หรือสูบในทุกๆ 6 คน การจุดบุหรี่มากกว่า 10 ล้านมวนในแต่ละวันจะเพิ่มปริมาณฝุ่นมากเพียงใด ดังนั้นผู้ที่สูบอยู่จึงสามารถช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้นได้ รวมถึงทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วย ไม่ไปเพิ่มฝุ่นละอองที่เราได้รับในแต่ละวันมากอยู่แล้ว" นพ.สุทัศน์ กล่าว

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แพทยสมาคมพยายามมุ่งเน้นการให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ ก่อนที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศจะพุ่งสูงขึ้นมากไปกว่าเดิม ซึ่งงบด้านสาธารณสุขปี 2561 อยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท และตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีกมากหากยังไม่มีมาตรการร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะควันบุหรี่ที่เป็นสาเหตุใหญ่

ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า ข้อมูลจาก WHO ยืนยันว่า 91% ของการตายจากความเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากสาเหตุที่มีความเกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองหรือมลพิษ ซึ่งหากสามารถควบคุมคุณภาพอากาศให้อยู่ในระดับปกติ ไม่เกินกว่า 15 มคก./ลบ.ม. จะทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรในประเทศนั้นสูงขึ้น 20 เดือน สอดคล้องกับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่พบว่าบริเวณที่มี PM2.5 น้อยกว่า 15 มคก./ลบ.ม. จะทำให้อัตราการตายต่ำลงถึง 3.5%

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อชีวิตด้วยอายุขัยที่สั้นลง จากการศึกษาในประเทศจีน พบว่าการเพิ่มขึ้นของ PM2.5 ในทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. จะทำให้ประชากรมีอายุขัยสั้นลงเกือบ 1 ปี ดังนั้นหากเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปีของโลกอยู่ที่ 28 มคก./ลบ.ม. สูงกว่าค่าปลอดภัยที่องค์การอนามันโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 10 มคก./ลบ.ม. เท่ากับทุกคนจะมีอายุสั้นลง 1.8 ปีโดยเฉลี่ย

ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย พบว่าโรคที่เป็นสาเหตุการตายสูงสุด 5 อันดับ เป็นโรคที่มีต้นตอมาจากมลพิษอากาศถึง 4 ใน 5 โดยในภาคเหนือตอนบนมีสถิติการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดสูงที่สุดในประเทศ สัมพันธ์กับการที่มีค่า PM2.5 สูงที่สุดด้วย ซึ่งถ้าดูจากผลการศึกษาทางสถิติ จะพบว่าทุก 10 มคก./ลบ.ม.ที่เพิ่มขึ้น ชาวเชียงใหม่จะเสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น 1.6%

"ในวันที่ PM2.5 ไม่เกินค่าเฉลี่ย เชียงใหม่จะมีคนตายวันละประมาณ 36 คน แต่ถ้าค่าเพิ่มไปเป็น 50 มคก./ลบ.ม. จะตายเพิ่มขึ้น 2 คน 90 มคก./ลบ.ม. ตายเพิ่มเป็น 4 คน หรือถ้า 125 มคก./ลบ.ม.ที่มักเจอในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.จะตายเพิ่ม 6 คน แต่ภาครัฐกลับบอกว่าค่าเฉลี่ย 70-90 มคก./ลบ.ม. อยู่ในระดับเพิ่งเริ่มมีผลกระทบ ซึ่งปอดเราไม่ใช่เหล็ก ค่าดัชนีไทยจึงไม่เป็นมิตรต่อประชาชน เหมือนเอาใจภาคเศรษฐกิจ มากกว่าสุขภาพของประชาชน" ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว

ด้าน นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บริบทของผลกระทบจากฝุ่นละอองนั้นมี 2 ส่วน คือผลกระทบเฉียบพลัน จากค่าเฉลี่ยรายวันที่พุ่งสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาเฉียบพลัน เช่น แน่นหน้าอก หรือหายใจไม่ออก แต่ที่อาจยังไม่ได้มองกันคือโรคเรื้อรัง ที่จะเกิดจากปริมาณค่าเฉลี่ยรายปีสูง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หรือมะเร็ง

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานไว้ตั้งแต่ปี 2553 และนับจากนั้นยังไม่เคยมีการนำตัวเลขมาดูหรือปรับปรุง ไม่มีแผนระยะยาวหรือการตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ค่ามาตรฐานเท่ากับที่ WHO กำหนดเมื่อไร แต่จะตื่นเต้นกันเป็นช่วงๆ ในเวลาเกิดปัญหาเท่านั้น ไม่พยายามหาทางแก้ปัญหาให้ได้จริง แม้ไทยจะมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเกินกว่า 70 ฉบับ แต่ยังคงมีปัญหาในการบังคับใช้ ที่ยังไม่สามารถทำให้ผู้ก่อมลพิษมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบได้แท้จริง