posttoday

ครบรอบ 11 ปี ปราบโกงไทยดีขึ้น-ทุจริตลดลงขยับอันดับ 4 อาเซียน

25 มกราคม 2562

“วิษณุ” สั่ง ป.ป.ท. เน้นแลกเปลี่ยนข้อมูลเครือข่ายใน-ต่างประเทศ-เข้มงวดบังคับใช้กม.

“วิษณุ” สั่ง ป.ป.ท. เน้นแลกเปลี่ยนข้อมูลเครือข่ายใน-ต่างประเทศ-เข้มงวดบังคับใช้กม.

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทภารกิจและการดำเนินงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เนื่องในโอกาสครบรอบการสถาปนา 11 ปี พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยมีพ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. กว่า 300 คน เข้าร่วมงานฯ

พ.ต.ท.วันนพ กล่าวว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 – 2562 ป.ป.ท.รับเรื่องร้องเรียนและปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 35,580 คดี (เดือน ธ.ค.2561 จำนวน 148 คดี) และทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยแยกเป็น รับไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริง 4,584 คดี, ไม่รับไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริง 7,451 คดี, สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม 1,248 คดี, ส่ง ป.ป.ช. 8,961 คดี, ส่งพนักงานสอบสวน  883 คดี อื่นๆ จำนวน 49 คดี และคณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาแล้ว 23,176 คดี  จำนวนนี้มีคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ท.
พิจารณาความผิดแล้ว 912 คดี ได้แก่ ผิดอาญาและวินัย จำนวน 443 คดี, ไม่ผิดอาญา แต่ผิดวินัย จำนวน 30 คดี, ยุติเรื่อง จำนวน 271 คดี, ส่ง ป.ป.ช.  123 คดี และส่งพนักงานสอบสวน 45 คดี มีคดีที่อยู่ระหว่างส่งอัยการ148 คดี และส่งอัยการแล้ว  294 คดี โดยศาลมีคำพิพากษาแล้ว 94 คดี ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ทราบว่า
ปัญหาการทุจริตไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จได้เพียงแค่การใช้กลไกภาครัฐเท่านั้น โดยต้องบูรณาการจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน  ป.ป.ท. ยังคงยืนหยัดในการเป็นหน่วยงานตรวจสอบและขับเคลื่อนให้เกิดธรรมาภิบาลในระบบราชการเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐต่อไป

ขณะที่นายวิษณุ กล่าวว่า การทุจริตเป็นบ่อนทำลายชาติและทำให้เกิดผลเสียอื่นตามมา ทำให้ประชาชนจะขาดความเชื่อมั่นการบริหารงานของรัฐบาล เศรษฐกิจถดถอยเพราะถูกเรียกรับเงินใต้โต๊ะ ไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุน และบั่นทอนกำลังใจคนที่ทำธุรกิจโดยสุจริต ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศจึงเอาใจใส่เรื่องนี้ ยอมรับว่าระยะแรกป.ป.ท.ยังไม่เป็นที่รู้จักและยังไม่มีผลงานไม่ประทับใจ แต่ เริ่มมีผลงานเป็นเป็นที่ประจักษ์เมื่อปีที่ 5 และ 2 ปีล่าสุดมีบทบาทเต็มที่ในการตรวจสอบปัญหาทุจริตจำนำข้าว เงินทอนวัด โกงเงินคนจน และคดีนักเรียนผี จะเห็นว่าป.ป.ท.เป็นตัวช่วยตัดวงจรการทุจริตได้ผลจนเป็นที่น่าพอใจ ถือว่ามีผลงานโดดเด่นเพราะความร่วมมือของเจ้าหน้าที่
โดยตัวเลขคดีสัมพันธ์กับจำนวนคดีหลายเรื่องที่ดำเนินการแล้วเสร็จ แต่การทุจริตก็ไม่ได้หมดไปจากสังคมไทย

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า แม้ว่าสถานการณ์การทุจริตในปัจจุบันจะดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเห็นได้จากค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย (Corruption Perception Index : CPI) ถูกจัดอันดับการประเมินโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ครั้งล่าสุด ในปี 2560 ประเทศไทยได้ 37 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 96 จากประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 180 ประเทศ อยู่ในลำดับที่ 4 ของประเทศอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย ตามลำดับสะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่มีการทุจริตลดลง และสร้างความเชื่อมั่นดึงดูดให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ตัวเลขดังกล่าวยังไม่เป็นที่พอใจ สิ่งที่เราต้องทำต่อไปก็คือการปลูกจิตสำนึกความซื่อสัตย์สุจริตในทุกภาคส่วนและเสริมสร้างภาคีเครือข่ายให้มีการเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงลดช่องทางหรือปิดโอกาสในการทุจริตจากภาคส่วนต่างๆ ให้มากที่สุดอันจะเป็นพื้นฐานในการปฏิรูปสังคมและประเทศไทยสู่การต่อต้านทุจริตในทุกรูปแบบต่อไป

 “ป.ป.ท.ต้องทำต่อไปมีอีกหลายอย่าง แต่รัฐบาลอยากให้เน้นใน 3 เรื่อง 1.สร้างเครือข่ายกับภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายกับต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล 2.ทำหน้าที่อย่างองอาจผ่าเผยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด กวดขันเพื่อให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้น และ 3. ทำงานในลักษณะให้ความรู้เตือนประชาชนให้รู้สึกตระหนักว่าอะไรผิดอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ของป.ป.ท.” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว