posttoday

ผู้หญิง เด็ก พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา เป้าหมายโจมตีเรียกความสนใจ

23 มกราคม 2562

จับตาชายแดนใต้ นักวิชาการมองเป้าหมายที่อ่อนแอทั้งพลเรือน ผู้นำศาสนาเป็นเป้าหมายอ่อนไหว สร้างความสะเทือนใจ

โดย...เอกชัย จันทอง

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดบนปลายด้ามขวานของประเทศกำลังสร้างความหวาดหวั่นในพื้นที่อย่างหนัก โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพุทธและมุสลิม เนื่องจากช่วงหลังเหตุการณ์ความรุนแรงเลือกเป้าโจมตีกับกลุ่มผู้อ่อนแอมากขึ้น ทำให้ชีวิตอยู่ในความระแวง การประกอบอาชีพในกิจวัตรประจำวันจึงผลัดเปลี่ยนไปตามสถานการณ์จนขาดความสันติสงบในพื้นที่

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ วิเคราะห์เหตุความรุนแรงในห้วงเวลานี้ว่า สถานการณ์ปัจจุบันเกิดจากปัจจัย 2 ด้าน คือ ปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน ที่แม้ว่าสถานการณ์เหตุความรุนแรงในภาพใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จะลดลงตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาอย่างชัดเจน และมีทีท่าการก่อเหตุจะไม่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้

กระนั้นก็ตาม ในบางช่วงมีความแปรปรวนของเหตุการณ์เป็นจุด ซึ่งในความแปรปรวนช่วงหลังตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. 2561 ที่ผ่านมาจนมาถึงปัจจุบันมีความแปรปรวนในสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สูงขึ้นมาก เนื่องจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นเป็นจุดๆ กระจายไปทั่วพื้นที่ ที่สำคัญยังเป็นเหตุการณ์เลือกโจมตีเป้าหมายที่อ่อนแอกว่า โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก สตรี ผู้หญิง พระสงฆ์ โต๊ะอิหม่าม รวมถึงพื้นที่อ่อนไหวอย่างโรงเรียน วัด โรงพยาบาล ฯลฯ จึงส่งผลทำให้กระแสสถานการณ์ในพื้นที่ดูรุนแรงเพิ่มขึ้น

"ส่วนปัจจัยภายนอกถือว่ามีส่วนสำคัญเช่นกัน เพราะระยะหลังรัฐบาลมาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา เนื่องจากมีการกดดันเรื่องการเจรจาต่างๆ ทั้งในทางตรงและทางอ้อมที่บีบให้ผู้เห็นต่างเข้าร่วมพูดคุยเจรจา ทั้งที่อีกฝ่ายอาจยังไม่พร้อม หรือมีเงื่อนไขบางอย่างที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่จะพูดคุยกับรัฐบาลไทย จึงอาจทำให้รู้สึกว่ากดดันจนไปสู่การก่อเหตุมากขึ้น นั่นก็มาจากส่วนหนึ่งของการพูดคุยที่ยังไม่ได้ข้อตกลงกัน" ศรีสมภพ กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ฯ กล่าวว่า การโจมตีเป้าหมายที่อ่อนแอทั้งเด็ก ผู้หญิง พลเรือน ชาวไทยพุทธ พระสงฆ์ ผู้นำศาสนาอิสลาม ฯลฯ ถือว่าเป็นจุดเป้าหมายที่อ่อนไหวมากที่สุด เพราะต้องการให้เกิดกระแสข่าวขึ้นมา หวังให้เกิดอารมณ์ทางสังคมหันมามองปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ แม้ว่าที่ผ่านมาสถานการณ์จะดูสงบเหมือนรัฐเองสามารถควบคุมได้แล้ว โดยเฉพาะตัวเลขการก่อเหตุที่ผ่านมาก็ลดลง แต่มันแสดงให้เห็นว่ายังมีพื้นที่บางจุดยังเกิดเหตุและยังไม่สามารถควบคุมได้ จนนำไปสู่อารมณ์และความรู้สึกของประชาชนว่า ไหนเหตุการณ์ลดลงแต่ทำไมยังมีเหตุเกิดขึ้นอยู่และดูร้ายแรงสะเทือนใจ

"คิดว่าเป็นการต่อสู้กันในเชิงสัญลักษณ์ ที่เลือกโจมตีในเป้าหมายดังกล่าว แน่นอนว่าผู้เลือกก่อเหตุเขาก็เสียหายเช่นกัน เพราะต้องถูกประณาม ถูกต่อว่ากับการกระทำที่เกิดขึ้นจากประชาชน จากต่างประเทศ ว่าไร้มนุษยธรรม แต่พวกเขาก็พยายามทำเช่นนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าบางครั้งก็ต้องเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น ทั้งนี้เราอย่าตกหลุมพรางในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งมันเป็นยุทธวิธีหนึ่งของการก่อเหตุและเร่งกระแสความรู้สึกกับคนที่ไม่พอใจต่อเรื่องความเกลียดชัง ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนสถานการณ์ให้ผู้ก่อเหตุได้เปรียบ"

ศรีสมภพ ยังให้ทัศนะอีกว่า สำหรับความรุนแรงในปีนี้มีทิศทางเป็นไปอย่างไรนั้น ตรงนี้ยังไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร แต่ก็คงมีโอกาสต่อเรื่องการเกิดความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งฝ่ายความมั่นคง รัฐบาล ทหาร ตำรวจ คงจะเตรียมพร้อมระมัดระวัง มีความเข้มข้นในเรื่องการป้องกันมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน เพื่อดูแลความสงบในพื้นที่

นอกจากนี้ การป้องกันเหตุความรุนแรงในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต้องระมัดระวังว่า อย่าพุ่งเป้าหมายเพียงแต่เรื่องของการแก้แค้น เราต้องระวังเรื่องนี้ เนื่องจากการโจมตีตอบโต้ไปมาก็จะเกิดโมเมนตัมแรงเหวี่ยงขึ้นได้เช่นกัน กล่าวคือเจ้าหน้าที่อย่าใช้อารมณ์ความรู้สึกนำการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ส่วนข่าวกรองที่เตือนเรื่องการก่อเหตุในพื้นที่นั้นเชื่อว่าระบบความพร้อมในการระมัดระวังเหตุเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากขบวนการก่อเหตุมักเป็นกลุ่มขบวนการใต้ดินที่เลือกก่อเหตุในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ฯ ระบุอีกว่า คณะพูดคุยของ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ถือว่าเป็นการพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐสามารถมาเจรจาพูดคุย ถือเป็นการเปิดเงื่อนไขที่ดีในการพูดคุย โดยมีการลงพื้นที่ในทางลับและเปิดเผยเพื่อเจรจาพูดคุยแก้ปัญหาอย่างเข้มข้น หากเราทำต่อเนื่องเน้นความจริงใจ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องแก้ไขให้ถูกจุดอาจมีส่วนช่วยให้ลดเงื่อนไขความรุนแรงไปสู่สันติได้กับกลุ่มต่างๆ

การแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้สำคัญว่าต้องเน้นย้ำเรื่องการพูดคุยกันเป็นหลัก บนโต๊ะสันติภาพสันติสุข นั่นคือสิ่งที่ชุดเจรจาต้องดำเนินการทำให้เกิดขึ้นจริงได้ อย่างไรก็ตามอย่าประมาทต้องมีการระมัดระวังเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตลอดเวลาต่อไปเหมือนเดิม