posttoday

ลดจำนวนรถช่วงฝุ่นเยอะ ต้องนั่งให้มากกว่า 1 คน

20 มกราคม 2562

งานวิจัย ชี้ แหล่งปลดปล่อยมลพิษที่เป็นสารก่อมะเร็ง 70-80% ในเขตเมืองนั้น มาจากท่อไอเสียของยานพาหนะทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ผ่านไปแล้วหลายวัน แต่พื้นที่ กทม.และปริมณฑลก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน สูงเกินค่ามาตรฐานต่อไป

ท่ามกลางอากาศขมุกขมัวที่ปกคลุมพื้นที่เมืองหลวงตลอดทั้งวัน หลายฝ่ายเริ่มวิตกและออกมาหาสาเหตุที่แท้จริง รวมถึงทางแก้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ทุกฝ่ายสรุปตรงกันว่าสาเหตุหลักของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากไอเสียรถยนต์ ซึ่งมีปริมาณมากเกินกว่าที่จะระบายออกไปจากชั้นบรรยากาศได้ เมื่อประกอบกับสภาพอากาศที่นิ่ง ไม่มีลมหรือฝน ก็ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ปัญหานี้ยิ่งหนักหนาสาหัส

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศอย่าง ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็ระบุเช่นกันว่า วิกฤตฝุ่น PM2.5 เกิดจากปัญหาไอเสียยานพาหนะ อันเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานจนสร้างมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง

“ผมเคยทำงานวิจัยเรื่องนี้ ทำให้ทราบว่าแหล่งปลดปล่อยมลพิษที่เป็นสารก่อมะเร็ง 70-80% ในเขตเมืองนั้น มาจากท่อไอเสียของยานพาหนะทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ ไม่ได้มาจากการเผาในที่โล่งแจ้ง การก่อสร้าง การปิ้งย่าง หรือหมูกระทะ ปกติพื้นที่ กทม.นั้นมีลมบก ลมทะเล ช่วยระบายมลพิษออกจากเขตเมือง มีอากาศบริสุทธิ์จากอ่าวไทยพัดเข้ามาแทนที่ แต่ปัจจุบันเกิดภาวะอากาศนิ่ง ไม่ถ่ายเท ซึ่งอากาศลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยในช่วงฤดูหนาว ก็ยิ่งทำให้ปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ นิด้า ระบุ

ศ.ศิวัช กล่าวอีกว่า เพื่อเร่งแก้ปัญหานี้ รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งกำหนดทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นอาจจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการควบคุมไม่ให้รถยนต์ส่วนตัวที่มีผู้นั่งคนเดียวเข้าไปในใจกลางของ กทม. โดยเฉพาะช่วงที่ตรวจวัดว่ามีปริมาณฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน เพื่อลดการปล่อยมลพิษให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ควรเร่งรัดเอาผิดรถยนต์ที่มีการปล่อยควันดำสูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุของระบบจ่ายน้ำมันที่ไม่เหมาะสม ขาดการดูแลรักษาไส้กรองอากาศ ปล่อยให้เกิดอาการอุดตัน การใช้เครื่องยนต์ที่เก่าชำรุด ขาดการบำรุงรักษา หรือมีการบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กำหนด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุของวิกฤต PM2.5 ทั้งสิ้น

ลดจำนวนรถช่วงฝุ่นเยอะ  ต้องนั่งให้มากกว่า 1 คน

นอกจากนี้ ต้องตรวจหารถที่ปรับแต่งเครื่องยนต์ ที่ถอดอุปกรณ์อย่าง แคตตาไลติกคอนเวอร์เตอร์ (Catalytic Converter) หรือเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับกำจัด ลดปริมาณมลพิษ ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ ก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ เพราะเชื่อว่าการถอดหรือทะลวงอุปกรณ์ดังกล่าวออกจะทำให้รถแรงขึ้น โดยไม่สนใจว่าจะทำให้รถปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายต่อคนอื่นทำลายสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

ขณะที่มาตรการระยะยาว ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการจำกัดจำนวนยานยนต์ เช่นเดียวกับที่นานาประเทศที่ประสบปัญหาเดียวกันนี้เริ่มนำมาใช้ ซึ่งพบว่าประเทศอย่างสิงคโปร์มีการระบุชัดเจนว่าจะซื้อรถต้องยื่นประมูลก่อนและมีสิทธิที่จะครอบครองยานยนต์ได้เพียง 10 ปี หรือมาตรการอื่นๆ ที่ช่วยลดปริมาณรถยนต์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง และต้องส่งเสริมนโยบายลดภาษีรถยนต์นั่งไฟฟ้า ทั้งรถเมล์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด-ไฟฟ้า เนื่องจากรถยนต์กลุ่มนี้ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศน้อยมาก

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศมักจะเป็นเรื่องที่แก้ปัญหาในระยะสั้นไม่ได้ โดยควรระบุแหล่งปล่อยมลพิษให้ชัด ซึ่งกรณีที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน คือ กทม. เป็นเมืองที่มีรถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมาก รัฐบาลจะต้องไปหาคำตอบมาให้ได้ว่า จักรยานยนต์มีส่วนร่วมในการปล่อยมลพิษมากน้อยแค่ไหน และต้องมีมาตรการจัดการหรือจำกัดอย่างไร ต้องมีการตรวจสอบรถในระบบขนส่งทั้งหมด ต้องวิเคราะห์ทั้งระบบ และต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ว่าจะส่งเสริมให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่นเดียวกับที่หลายประเทศดำเนินการ และจัดการปัญหาระบบขนส่งมวลชนที่ไม่เพียงพอ หรือทำให้คนไม่อยากใช้ระบบขนส่งมวลชนให้ได้อย่างเด็ดขาดแล้วต่อเนื่อง

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาการควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรมก็ยังมีข้อบกพร่องอีกหลายประการ เช่น ขาดมาตรฐานในการควบคุมสารอันตรายอีกหลายประเภท และไม่สามารถทราบชนิดและปริมาณของสารอันตรายที่โรงงานปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาเดิมๆ ที่หน่วยงานภาครัฐทราบดี แต่ยังไม่มีการแก้ไข

“ประเทศจีนก็ประสบปัญหานี้อย่างรุนแรง จนต้องมีการหาสาเหตุที่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร และดำเนินการขั้นเด็ดขาด เช่น มีการบังคับให้ภาคอุตสาหกรรมหนักในบางเมืองลดกำลังการผลิตลงเพื่อลดการปล่อยมลพิษ เน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก อย่าง ถ่านหิน เหล็ก ปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะโรงงานรีไซเคิลขยะ ซึ่งเมื่อพบว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของมลพิษก็ประกาศห้ามนำเข้าขยะในทันที แต่บ้านเรายังมองปัญหาแบบแยกส่วน เช่น เรื่องขยะรีไซเคิล แม้ไทยจะประกาศห้ามนำเข้าขยะแล้ว 400 รายการ แต่ก็ยังไม่ได้ห้ามในทันที ยังนำเข้าได้ถึงปี 2564 เราจะต้องรอโดยที่ยังไม่รู้เลยว่ามาตรการที่มีจะช่วยอะไรได้แค่ไหน และจะช่วยแก้ปัญหาที่หมักหมมมานานได้หรือไม่” เพ็ญโฉม กล่าว