posttoday

"เลือกผัวผิด(คิด)จนตัวตาย" เปิดวิธีป้องกันและแก้ไขเมื่อผู้หญิงถูกคู่ชีวิตทำร้ายร่างกาย

17 มกราคม 2562

ชายทำร้ายหญิงเมื่อเธอตกเป็น ‘ภรรยา’ หรือ ‘เมีย’ เธอเหล่านี้ไม่มีสิทธิกำหนดชีวิตของเธอเองได้อีกต่อไปหรือ

*******************
โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

เพียงไม่ถึง 1 เดือนหลังปีใหม่ ข่าวสะเทือนใจที่หญิงสาวที่ชายที่ได้ชื่อว่าเป็น "คนรัก" ทำร้ายจนเสียชีวิตก็เกิดขึ้นติดๆกันหลายครั้ง

ความรักในช่วงแรกเริ่มนั้นหอมหวาน ทว่าเหตุใดผู้หญิงหลายคนจึงต้องเผชิญกับความรุนแรงจากชายที่เคยแสดงให้เธอเห็นว่าเป็นคนที่รักเธอมากที่สุด

ต่อไปนี้คือเรื่องราวจาก "ผู้หญิง" คนหนึ่งที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของชายที่เธอฝันว่าจะเป็นสุภาพบุรุษที่มาอยู่เคียงข้างตลอดชีวิต...

เริ่มด้วยความรัก จบลงด้วยความรุนแรง

"พิกุล" หญิงสาวร่างเล็กเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งแรกรักของเธอว่า "ความรักของเราเริ่มจากเราตัวคนเดียวมาทำงานที่พัทยา เล่นเฟซบุ๊กแล้วบังเอิญไปเจอเขาและคุ้นหน้าว่าคนบ้านเดียวกัน เราก็ทำความรู้จักไว้เป็นที่ปรึกษา เวลาท้อเหนื่อยคนบ้านเดียวกันย่อมเข้าใจหัวอก แต่หลังจากนั้นเขาได้เลิกกับแฟนพอดี เราก็ไปให้กำลังใจจนถูกคอกันคุยกันแล้วสบายใจ"

"แรกรักดูเป็นผู้ใหญ่ ติเตียนอะไรก็รับฟัง ตั้งใจฟังมากและก็เอาใจใส่เทคแคร์ จากนั้นก็ ตกลงเป็นแฟนกัน เขาก็บอกว่าหึงเราที่ทำงานอยู่กับคนเยอะๆ ขอให้เรามาทำงานกับเขาที่กรุงเทพ"

จากพื้นฐานครอบครัวที่ไม่อบอุ่นยิ่งทำให้เข้าอกเข้าใจกันได้เป็นอย่างดีในเวลาเพียง 3-4 เดือน พิกุลเล่าว่า ความรู้สึกในตอนนั้นเหมือนนิยายผสมกับความฝันในฐานะผู้หญิงหนึ่งคนที่ ต้องการเจอสุภาพบุรุษรักครอบครัวอยู่ด้วยกันยามแก่เฒ่า เธอจึงไม่รอช้าทำตามคำมั่นสัญญานั้น ย้ายจากพัทยาทิ้งเงินเดือน 25,000 บาท มาอยู่กรุงเทพฯ 

"มาอยู่ด้วยกันแค่ 2 อาทิตย์ เท่านั้นเขาก็ทำร้าย" พิกุลกล่าวพร้อมโอบแขนตัวเองพลางเอามือจับโหนกแก้มเผยให้เห็นถึงความเจ็บปวดในคืนหนึ่งเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว 

"ตอนนั้นคุยโทรศัพท์ติดต่องานกับพี่ผู้จัดการที่เป็นผู้ชาย เขาตะโกนมาบอกให้ทำกับแกล้ม เราไม่ได้ยิน เขาเดินมาถึงเห็นคุยโทรศัพท์กับผู้ชายก็หยิบโทรศัพท์ขว้างไปที่กำแพงแล้วถีบเราร่วงจากเตียง เดินไปหยิบเสื้อผ้าโยนออกไปนอกห้อง ไล่ให้ไปอยู่กับชู้ เราก็เดินไปเก็บเสื้อผ้าแล้วถูกถีบอีก ตกใจมากทำอะไรไม่ถูกไม่เคยเห็นพฤติกรรมของเขาแบบนี้ ตัดสินใจเอาตัวรอดก่อนวิ่งออกมาไม่เอาอะไรเลย แต่เขาก็ตามมาจิกหัวเรา เราก้มกราบเขาก็ยังลากกลับไปห้องอีก"

พิกุลเล่าว่า วินาทีนั้นใครๆก็พูดจากล่อมให้กลับไปแต่โดยดี เพื่อไม่ให้โดนหนักว่าเดิมและบอกว่าแจ้งตำรวจเขาก็ให้กลับมาเคลียร์กันเองก่อน

"ไปแจ้งไม่มีปฏิกิริยาอะไรเลยที่ดีกับเรา ตาปูดมา บอกฟกช้ำเขียวๆ แค่นั้นเองให้กลับไปเคลียร์กันก่อน เราแค่อยากรู้ว่าเราปลอดภัย อยากป้องกันตัวเรา ไม่อยากให้มันร้ายแรงไปกว่านี้ ทำไมทีขโมยของแล้วโดนจับ ทำร้ายเมียไม่รับแจ้ง ต้องให้ตายก่อนหรือไม่เข้าใจเหมือนกัน"

เมื่อทางมันตัน สุดท้ายก็ยอมกลับไปให้เขาทำร้าย 

ครั้งแรกในวันนั้นโชคดีที่แม่ของสามีโทรมาตำหนิการกระทำส่งผล พิกุลไม่ถูกทำร้ายรุนแรงจนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล แม้เธอไม่คิดที่จะอยู่ใช้ชีวิตร่วมกับสามีอีกต่อไป แต่ก็ต้องจำใจอยู่

"กูตีแล้วตำรวจจะจับกูเหรอ?" คือคำพูดสามีที่สั่นสะเทือนและย้ำเตือนถึงลมหายใจชีวิตเธอขึ้นอยู่ในน้ำมือเขา ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ตรงกับผู้หญิงถูกทำร้ายหลายคนจึงเลือกปิดไว้เป็นความลับแม้กระทั่งครอบครัวก็ไม่ปริปากเผย

“เราไปบอกท่านท่านก็เป็นห่วง ท่านก็พยายามหาทางช่วย แต่ถ้าสามีรู้เรื่องกลับกลายเป็นว่าเราอาจจะยิ่งโดนหนักขึ้น เพราะข้อกฎหมายเราอ่อนมาก  ใครไม่เข้าใจก็จะมองว่าผู้หญิงที่ถูกทำร้ายกลับไปให้เขาซ้อมอีกทำไม เราโง่เองที่กลับไปให้เขาทำร้ายเป็นกระสอบ แต่เรามาตัวคนเดียวงานก็ยังไม่ได้ทำ ย้ายมาก็ซื้อข้าวของจนเงินเก็บหมด ถ้ามีทางไปได้ไม่อยู่ต่อแน่นอน แต่นี้ทางมันตันหมดกฎหมายยังไม่ช่วย เรื่องหนีแล้วรอดเลิกคิดไปได้เลย

“พอเราแก้ปัญหาหรือไปทางไหนไม่ได้ เราก็นึกถึงเรื่องเวรกรรม เพราะเขารุนแรงกับเราคนเดียว เพื่อนฝูงก็ไม่มี ครอบครัวเขาก็ไม่มีการไปก้าวร้าว เพื่อนมาบ้านเลี้ยงรับอย่างดีแปลกใจตัวเองเหมือนกัน เราก็เลยมองว่าเป็นเพราะเขาไม่ได้ตั้งใจ ทีนี้พอเขาหายอารมณ์เย็นขึ้นมีการขอโทษ มีการขอโอกาส เราก็ให้โอกาส เพราะไม่มีทางไปยังไงการขอโอกาสขอเขาก็มีหวังทางเดียวลึกๆ ว่าชีวิตจะดีขึ้น”

พิกุลบอกถึงความคิดเมื่อชีวิตมีทางเลือกไม่มากนัก ซึ่งนับเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องจำใจอยู่ทั้งที่โดนทำร้ายร่างกาย

“มันมีเปอร์เซ็นต์แห่งความหวังอยู่ จึงกล้าที่จะเสี่ยง ทำอีกหรือไม่ทำก็ได้ แต่ผู้หญิงทุกคนอยากมีครอบครัวที่สมบูรณ์ เราเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์เราเหมือนเราขาดตรงนี้ เราก็พยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้ครอบครัวไม่บ้านแตกสาแหรกขาด เป็นความหวังของหญิงสาวแทบทุกคนที่อยากมีครอบครัวดีๆ บางทีก็รู้ทั้งรู้ แต่เราก็ให้โอกาส” 

“แต่ทุกอย่างก็เป็นเหมือนเดิม” พิกุลกล่าว ก่อนจะบอกว่าเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2-3-4 กระทั่งเธอตั้งท้องก็ยังไม่เว้นห่างถูกจิกหัวตบและกระทืบ

“โดนจนรู้ทันทีว่าสัญญาณแบบนี้ถ้าเขาเงียบตอนเราพูดไม่เข้าหู ชำเลืองมองตอนเล่นโทรศัทพ์ ตกเย็นทะเลาะกันแน่นอน ตอนนั้นถ้าไม่ท้องก็คงอาจจะยังทนอยู่ต่อแบบเหมือนตายทั้งเป็น และก็อาจจะโดนซ้อมอีกไม่รู้เท่าไหร่ อย่างที่เราเห็นในทีวี หรือเห็นข่าวการฆ่าเมีย แต่พอท้อง ลูกใครใครก็รัก ด้วยสัญชาติญาณความเป็นแม่ ก็ทำให้เราใจเด็ดขึ้นมาได้ ความปลอดภัยเป็นสิ่งแรกที่เรานึกถึง ตรงนี้คือเหตุผลที่ไม่ใช่แค่เราคนเดียวเพื่อนๆ ที่ศูนย์ส่วนใหญ่ออกมาได้เพราะเราท้องทั้งนั้น”

"เลือกผัวผิด(คิด)จนตัวตาย" เปิดวิธีป้องกันและแก้ไขเมื่อผู้หญิงถูกคู่ชีวิตทำร้ายร่างกาย คัญฑนิกห์ นิโรธร หัวหน้านักสังคมสงเคราะห์ บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ

วิธีเลือกสามี "ไม่ดีแตก" 

คัญฑนิกห์ นิโรธร หัวหน้านักสังคมสงเคราะห์ บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ได้ให้คำแนะนำถึงการดูคนเพื่อเลือกคบหาเป็นคู่ชีวิตว่าสามารถใช้หลักจิตวิทยามาสังเกตได้ 5 ข้อ ที่บ่งชี้ว่าอาจมีพฤติกรรมรุนแรง

1.ลูกชายคนเดียว เนื่องจากจากการเลี้ยงดูค่อนแบบปกป้องและตามใจ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเอาแต่ใจและเมื่อไม่ได้ดั่งใจก็จะใช้อารมร์รวมถึงความรุนแรง

2.บุคลิกภาพ แววตาดุดันแข็งกร้าว บางรายไม่ชอบสบตา เนื่องจากมีอะไรปกปิดอยู่ข้างใน อาทิเช่น ใช้สารเสพติด ตรงนี้ก็จะส่งผลให้เป็นการบกพร่องไปถึงกลิ่นร่างกายและความสะอาดของร่างกายอีกด้วย

3.คำพูด ระดับของน้ำเสียง จังหวะการพูด เสียงดังมีแนวโน้มการใช้ความรุนแรงมากกว่าเสียงเบา และยังสะท้อนถึงวิธีคิดทัศนคติไม่ฟังใคร เอาแต่ใจ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ข้อคิดเห็นคนอื่นไม่ฟัง เมื่อมากขึ้นก็จะกลายเป็นความรุนแรง

4.ดื่มสุรา ไม่ว่าจะในปริมาณเท่าไรก็ตาม เพราะเหล้าไปกดส่วนประสาทการยับยั้งช่างใจต่างๆ ของแรงขับของมนุษย์ที่ควรที่จะถูกเก็บซ่อนเอาไว้ เวลาไม่พอใจตอนเมาจึงสามารถที่กระทำออกความรุนแรงได้ทันที

5.ประวัติครอบครัวมีความรุนแรง ผู้กระทำมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงจากการที่พ่อของเขาทำต่อแม่ของเขาในอดีต เป็นภาพจำประสบกาณณ์ที่ได้จะถ่ายทอดทางการเลี้ยงดู

คัญฑนิกห์ แนะนำว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการศึกษาดูใจนั้น ควรไม่น้อยกว่า 1ปี เป็นการคัดกรองไม่ให้พลาดแบบส่วนใหญ่ของผู้หญิงที่ถูกทำร้าย

"ในการศึกษาเรื่องคู่ครองควรใช้ระยะอย่างต่ำในการดูใจกัน 1 ปีขึ้นไป ไม่ควรเร่งรีบ และไม่ควรที่จะให้ความใกล้ชิดหรือสัมพันธ์ทางร่างกายเร็วเกินไป ใน 1 ปีเป็นการพูดคุยศึกษาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นวิธีการที่ฝ่ายหญิงสามารถที่จะให้ฝ่ายชายปรับเปลี่ยนบางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควร ก่อนเลือกเป็นคู่ชีวิต จะแก้ได้ง่ายกว่ามาแก้ทีหลัง

"แต่ส่วนใหญ่เคสที่เจอ คือ ฝ่ายหญิงมีความขาดในเรื่องรัก เติบโตในครอบครัวที่อาจจะไม่มีเวลาให้ หรือ ขาดคนใดคนหนี่ง ทำให้เบ้าหลอมตัวตนเปาะบาง ด้วยจิตใจของมนุษย์ขาดอะไรก็ไปเติมตรงนั้น ขาดในเรื่องของรักพอเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็จะขาดการตรึกตรองในการมองดูนิสัยใจคอ เป็นเหตุให้เจอพระเอกแค่ตอนแรกและเป็นซาตานตอนแต่ง"

แค่เริ่มทำร้ายด้วยวาจาก็ไม่ควรค่าในการใช้ชีวิตคู่ด้วย 

หัวหน้านักสังคมสงเคราะห์ บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ กล่าวว่า การพูดเสียดแทง การพูดกระทบด่า ล้วนเป็นสาเหตุที่พัฒนาไปสู่ความรุนแรงในอนาคต

"ผู้หญิงสามารถป้องกันตัวเองได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความรุนแรง เช่น เมื่อฝ่ายชายพูดส่อเสียด ไม่ให้เกียรติ หากเราเจอก็ควรจะแสดงออกเพื่อให้เขาปรับเปลี่ยน ถ้าสามียอมรับเปลี่ยนได้ ก็ไม่มีการทำร้ายกัน แต่ถ้าไม่เปลี่ยนก็มีแนวโน้มทำร้าย ดังนั้นเราก็ขอคำปรึกษาจากศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ ก่อนเหตุการณ์จะบานปลายเลวร้ายลงถึงชีวิต"

คัญฑนิกห์ แนะนำว่า ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายจากสามีสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์สายด่วน 1300 ศูนย์ประชาบดี ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางศูนย์จะมีบ้านพักชั่วคราวพร้อมหน่วยงานเจ้าหน้าที่กฎหมายเพื่อขอความคุ้มครอง

นอกจากนี้ยังมีศูนย์การเรียนรู้และศูนย์บำบัดเพื่อช่วยเหลือให้ผู้โดนทำร้ายกลับไปสู่สังคมได้อย่างมั่นคง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

"เลือกผัวผิด(คิด)จนตัวตาย" เปิดวิธีป้องกันและแก้ไขเมื่อผู้หญิงถูกคู่ชีวิตทำร้ายร่างกาย

อย่าจำยอม หากเผชิญความรุนแรงจากคู่ครอง

ปัจจุบัน พิกุล เข้รับการบำบัดอยู่บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ

ระยะเวลาที่ผ่านมา 6 เดือนเต็ม เธอมีสภาพจิตใจและร่างกายดีขึ้นตามลำดับ แม้ยังไม่เต็มร้อยแต่ก็สามารถที่จะเรียนรู้และฝึกอาชีพจากทางศูนย์ ก่อนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเธอจะกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง

"เราสามารถเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวได้ เรายืนได้ด้วยตัวเอง ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้หากเราตั้งใจ ถ้าย้อนไปได้อยากใช้เวลาให้มากขึ้นในการดูคนมากขึ้น ไม่ด่วนตัดสินใจ แต่ก็ต้องขอบคุณทางศูนย์ที่ให้การช่วยเหลือให้กลับมามีวันนี้ได้ แม้ไม่เหลืออะไรมีเพียงบัตรประชาชนหนึ่งใบและงานที่กำลังจะได้ทำในอนาคต แต่ก็ดีกว่าการที่ต้องกลับไปอยู่ในจุดเดิมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอะไรเลย"

"ใครที่กำลังประสบกับปัญหาเหล่านี้อยู่ อย่าเก็บไว้คนเดียว โทร1300 ปรึกษาและให้เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ มันไม่ใช่เรื่องปกติของครอบครัว ไม่มีใครสมควรถูกทำร้ายจากหัวใจที่ยังรักด้วยกรณีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะความรักเป็นสิ่งสวยงามเราเริ่มได้จากตัวเรา” พิกุลกล่าวปิดท้าย