posttoday

คำตอบจากหมอโรคทรวงอก "ฝุ่นละอองPM2.5" ทำร้ายเราอย่างไรบ้าง?

14 มกราคม 2562

นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ให้คำตอบ "ฝุ่นละอองPM2.5" ก่อให้เกิดอันตรายอย่างไรกับมนุษย์ พร้อมคำแนะนำในการป้องกัน

นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ให้คำตอบ "ฝุ่นละอองPM2.5" ก่อให้เกิดอันตรายอย่างไรกับมนุษย์ พร้อมคำแนะนำในการป้องกัน

กรุงเทพฯกำลังเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมครอน หรือ ที่เรียกกันว่า PM 2.5 อย่างหนัก

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่วัดได้ในหลายพื้นที่เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในข่าย "เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ" ของผู้คน

หากไม่ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกเพียง แสบจมูก หรือ หายใจไม่สะดวก ทว่าความจริงแล้วฝุ่นละอองขนาดเล็กมีพิษร้ายและก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวอย่างรุนแรง

รองศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล แห่ง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้อธิบายไว้ในบทความเรื่อง "ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM2.5" ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ "สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ไว้อย่างน่าสนใจ

3 ผลร้ายจากฝุ่นละออง PM2.5

รองศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิพัฒน์ อธิบายว่า เนื่องจากขนาดที่เล็กของอนุภาค ทำให้เมื่อมันถูกมนุษย์สูดผ่านรวมเข้าไปกับลมหายใจ สามารถผ่านลงไปได้ลึกจนถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอดเราได้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อหลอดลมฝอยและถุงลม

นอกจากนี้ด้วยคุณสมบัติขนาดจิ๋วจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางส่วนของมันจึงเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมแล้วไชชอนผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้

ความร้ายกาจของมันต่อปอดของมนุษย์ เป็นผลจากการกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ รบกวนดุลแคลเซียมจนทำให้เกิดการอักเสบ และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์จนเกิดผลร้ายที่สำคัญ 3 ประการคือ

1.ทำให้คนที่มีโรคระบบการหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ทั้งโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด และ โรคถุงลมโป่งพอง

2.ทำให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

3.ในระยะยาวส่งผลให้การทำงานของปอดถดถอย จนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองได้แม้จะไม่สูบุหรี่ก็ตาม และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น

คำตอบจากหมอโรคทรวงอก "ฝุ่นละอองPM2.5" ทำร้ายเราอย่างไรบ้าง?

ป้องกันตัวเองจากฝุ่นPM2.5อย่างไร?

นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า ช่วงที่มีค่า PM2.5 ในอากาศสูงเกินค่าปกติขององค์การอนามัยโลก คือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ของกรมควบคุมมลพิษ ยังใช้ที่ค่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบการหายใจหรือโรคหัวใจเรื้อรังไม่ควรออกนอกบ้าน

หากหลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องเดินทางไปในที่สาธารณะ ให้ใส่หน้ากากพิเศษชนิดที่เรียกว่า “เอ็นเก้าสิบห้า”(N95) โดยเฉพาะชนิดที่มีผงถ่านเสริมการดักจับอนุภาคขนาดจิ๋ว โดยต้องสวมให้ถูกต้องอย่างกระชับกับรูปหน้า

สำหรับคนทั่วไปที่จำเป็นต้องออกนอกบ้านให้อย่างน้อย ใส่ “หน้ากากอนามัย” ที่ยังพอกรองอนุภาคขนาดประมาณ 3 ไมครอนได้ โดยต้องใส่ให้ถูกต้องเช่นกัน คือ หันด้านที่เป็นสีเขียวและเป็นมันกว่าออกด้านนอก และให้ส่วนที่มีแผ่นเสริมความแข็งแรงและช่วยการเข้ารูปอยู่ด้านบนของจมูก

คำตอบจากหมอโรคทรวงอก "ฝุ่นละอองPM2.5" ทำร้ายเราอย่างไรบ้าง?

ที่มา www.thoracicsocietythai.org/2019/01/13/pm-explained/