posttoday

ศาลพร้อมก้าวสู่ D-Court วางโรดแมปเตรียม 4 ข้อ

11 มกราคม 2562

โฆษกศาลยุติธรรม เผย ทั้ง ก.พ.-นักวิชาการเทคโนฯ กก.ประชุมขับเคลื่อนดิจิทัลฯ มติชัด ศาลพร้อมก้าวสู่ D-Court วางโรดแมปเตรียม 4 ข้อ ขณะที่ศาล ลุ้นมี Court marshal หลัง สนช.ผ่านหลักการร่าง ก.ม. รอตั้ง กมธ.ถก

โฆษกศาลยุติธรรม เผย ทั้ง ก.พ.-นักวิชาการเทคโนฯ กก.ประชุมขับเคลื่อนดิจิทัลฯ มติชัด ศาลพร้อมก้าวสู่ D-Court วางโรดแมปเตรียม 4 ข้อ ขณะที่ศาล ลุ้นมี Court marshal หลัง สนช.ผ่านหลักการร่าง ก.ม. รอตั้ง กมธ.ถก

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.62  นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ภายหลังสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ที่มี นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานแล้ว เมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดี 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ครั้งแรก

โดยในการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ซึ่งประกอบด้วย นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการ ก.พ. ,  ดร. อานนท์ ทับเที่ยง ประธานสาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และรศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลภายนอก ได้ให้ความเห็นสรุปว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่ดิจิทัล พร้อมทั้งได้เล่าประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงและความพยายามของหน่วยงานอื่นให้ที่ประชุมรับทราบ รวมทั้งได้กล่าวชื่นชมที่ศาลยุติธรรมปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีโครงการที่ดำเนินการไปแล้วเป็นจำนวนมากพอสมควร ซึ่งหากมีทิศทางการทำงานที่ถูกต้องและชัดเจน จะทำให้บรรลุเป้าหมายเป็น D-Court ในปี 2563 (ค.ศ.2020) ได้

ขณะที่เมื่อเป้าหมายและนโยบายชัดเจนแล้ว สิ่งที่ควรดำเนินการต่อไปโดยสรุป คือ 1. นอกจากการเตรียมเรื่อง IT แล้ว สิ่งที่สำคัญคือเตรียมคนในองค์กรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะต่อไประบบการทำงานต้องถูกปรับเปลี่ยน

2. จัดทำ Enterprise Architecture (EA) คือ การบูรณาการ IT เข้ากับ Business (ซึ่งในที่นี้หมายถึงการดำเนินงานตามกฎหมายของศาลยุติธรรม) เพื่อวางระบบ IT กับการทำงานของศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องต่อการทำงาน และวิสัยทัศน์องค์กร รวมถึงใช้งบประมาณสำหรับ IT อย่างคุ้มค่าด้วย

3. กำหนด Expected Digital Transformation (EDO) หรือความคาดหวังในการปรับเปลี่ยนสู่ D-Court คืออะไร ต้องส่งเสริมให้บุคลากรได้ทราบถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลง

4. การปรับเปลี่ยนสู่ D-Court ต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลด้วย ซึ่งที่ประชุมมีมติรับข้อเสนอแนะทั้งหมดไปขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมตามเป้าหมายต่อไป อย่างไรก็ดีในรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายดารขับเคลื่อนศาลยุติธรรมสู่ยุคดิจิทัลนั้น "นายสราวุธ" เลขาธิการศาลยุติธรรม มีกำหนดจะแถลงให้สื่อมวลชนทราบ พร้อมการสรุปผลงานศาลยุติธรรมช่วงรอบปี ในวันที่ 18 ม.ค.นี้ด้วย

ทั้งนี้นอกจากความคืบหน้าการขับเคลื่อนให้สำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมรับยุตดิจิทัลแล้ว  นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าของการเดินหน้าให้มีตำรวจศาล หรือ Court Marshal ด้วยว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ประชุม สนช. ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. .... (วาระหนึ่ง) แล้วมีมติรับหลักการ ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน