posttoday

"3ทักษะที่เพิ่มขึ้นเมื่อนักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียน" เปิดใจ "ผอ.กรุงเทพคริสเตียน"

08 มกราคม 2562

เปิดใจ "ผอ.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย" กับที่มาที่ไปของการอนุญาตให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทมาเรียน และความเชื่อมั่นที่ว่า "การละเว้นแต่งชุดยูนิฟอร์มนักเรียนมาโรงเรียนจะช่วยพัฒนาเด็กๆ ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม"

เปิดใจ "ผอ.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย" กับที่มาที่ไปของการอนุญาตให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทมาเรียน และความเชื่อมั่นที่ว่า "การละเว้นแต่งชุดยูนิฟอร์มนักเรียนมาโรงเรียนจะช่วยพัฒนาเด็กๆ ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม"

*****************************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

กลายเป็นกระแสฮือฮาในสังคมไทยอย่างรวดเร็วสำหรับ "โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย" ที่อนุญาตให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาเรียนแทนเครื่องแบบนักเรียนในทุกๆ วันอังคาร ตั้งแต่วันอังคารที่ 8 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ของนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมเกิดขึ้นทั้ง 2 ด้าน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นประเด็นชวนให้ผู้คนถกเถียงกันสนั่นในสังคมออนไลน์

แต่สำหรับ "ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์" ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผู้ริเริ่มและตัดสินใจให้นักเรียนสวมชุดไปรเวทมาเรียนได้นั้น เขาเชื่อว่า "การละเว้นแต่งชุดยูนิฟอร์มนักเรียนมาโรงเรียนจะช่วยพัฒนาเด็กๆ ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม"

 

"3ทักษะที่เพิ่มขึ้นเมื่อนักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียน" เปิดใจ "ผอ.กรุงเทพคริสเตียน"

แต่ง "ชุดไปรเวท" มาเรียนดีอย่างไร ?

ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า แนวคิดนี้เริ่มต้นจากเรื่องพื้นฐานอย่าง "ความสุข" ของนักเรียน เพราะเมื่อนักเรียนมีความสุขก็จะส่งต่อพัฒนาไปยังด้านอื่นๆ ตามกลไกด้วยตัวของเขาเอง

“การที่เด็กได้เปลี่ยนชุดแต่งกายเขาจะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น และเมื่อนักเรียนมีความสุขมันก็ต่อยอดไปถึงเรื่องความสามารถในตัวเขาที่จะส่งออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องนี้เราคุยกันมาเป็น 10 ปี และปีนี้เป็นปีที่พร้อมทั้งเรื่องเป้าหมายของโรงเรียนในปีนี้มุ่งสร้างศูนย์การเรียนรู้เป็นโรงเรียนแห่งความสุข ทั้งเรื่องการจัดงานสืบสานความเป็นไทย งานดังกล่าวให้เด็กแต่งตัวอนุรักษ์ด้วยชุดไทยไม่ใช่ชุดเครื่องแบบนักเรียน เด็กรู้สึกมีความสุข ดูมีความกระตือรือร้นอย่างเห็นได้ชัด" 

ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ให้ความคิดเห็นอีกว่า การทดลองให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทยังช่วยให้รู้ถึงตัวตนเด็กนักเรียนแต่ละคนนั้นมีความต่างกันอย่างไร ซึ่งจุดนี้ทำให้ครูอาจารย์ได้เล็งเห็นและช่วยให้พัฒนาความสามารถที่ด้อยให้กลายเป็นความโดดเด่นเท่าๆ กับความสามารถอื่นๆ ที่มีอยู่เดิม

"ปัจจุบันคำว่าเรียนดีมันไม่ใช่เรื่องไปพัฒนาสติปัญญาอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของไลฟ์สกิล เรื่องของความสามารถด้านอื่นๆ อีกด้วย คือคนที่เรียนเก่งวิชาการกับคนที่เรียนไม่เก่งสอบตก แต่เขาก็มีอนาคตที่ดีได้ นั่นคือนิยามคำว่าเรียนดีในสมัยใหม่ ดีในทางของตัวตนเขา ยกตัวอย่างคือหากมีเด็กที่แต่งตัวกันเพื่อแข่งแบรนด์เนม เราพบปัญหาทันทีในรายนักเรียนคนนั้น คุณครูก็สามารถปรับและแก้ไขได้"

"ถ้าใส่ชุดนักเรียนยูนิฟอร์มมันเหมือนเป็นหน้ากาก เราไม่รู้ว่าเด็กนักเรียนแต่ละคนเป็นอย่างไร ปัญหานี้ก็อาจจะสะสมจนเติบโตที่ยากแก้ไข หรือเรื่องอื่นๆ ที่หลายฝ่ายกังวลอีกก็ดี ไม่ว่าเขาจะมาแบบไหนมันยิ่งดี เราได้มาฝึกอบรมมาขัดเกลาเขาได้"

"3ทักษะที่เพิ่มขึ้นเมื่อนักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียน" เปิดใจ "ผอ.กรุงเทพคริสเตียน"

กล้าแสดงออก-ทัศนคติดี-เข้าใจสังคม "3 ทักษะ" เพิ่มเมื่อไม่ใส่ชุดนักเรียน

สำหรับการทดลองให้นักเรียนใส่เสื้อผ้าไปรเวทมาเรียนหนังสือ นอกจากเรื่องของงานวิจัยที่ระบุในเรื่องของการพัฒนาความกล้าแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์แล้วนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ยังกล่าวด้วยว่า การปรับเปลี่ยนให้นักเรียนสวมใส่เสื้อผ้าไปรเวทยังช่วยให้เพิ่มความสามารถในชีวิตประจำวันของนักเรียน ซึ่งนับเป็นปัจจัยเชื่อมโยงที่สำคัญอย่างยิ่งของการประสบความสำเร็จในชีวิต

อย่างที่กล่าวไปนิยามคำว่าเรียนดี ณ ตอนนี้ ความเป็นตัวตนรู้จักตนเองย่อมดีกว่า ดังนั้นโรงเรียนต้องทำหน้าที่เป็นเหมือนสังคมจำลองสภาพสังคมจริง เพราะฉะนั้นโรงเรียนต้องเอาสังคมจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้มาใช้ในโรงเรียนเพื่อที่จะเอาสภาพสังคมเหล่านี้มาสอนเด็ก ฝึกเด็ก เมื่อเขาออกไปในสังคมจริง เขาจะได้เป็นไปในทิศทางที่ดี เป็นไปในทิศทางที่ถูกที่ควรที่สังคมส่วนใหญ่ให้การยอมรับ

“สังคมในปัจจุบันไม่ใช่แค่สังคมผู้ใหญ่เหมือนในอดีต มีสังคมผู้สูงอายุ สังคมผู้ใหญ่ใหญ่ สังคมเด็ก มีคำถามที่ว่าทำไมต้องในช่วงนี้คือหากรอบให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยก่อนแล้วค่อยไปคิดเรื่องการแต่งกายมันก็อาจจะช้าเกินไป เพราะกลุ่มเด็กนักเรียนที่กล้าแสดงออกอยู่แล้วจะทำให้เห็นข้อเกินของเขาบางอย่างคุณเกินไปเราก็ช่วยขัดเกลาได้ทัน ส่วนกลุ่มที่ไม่กล้าแสดงออกก็จะช่วยเสริมทำให้เขากล้าสำแดงตัวตนมากขึ้นก่อนก้าวข้ามสังคมเด็กไปเข้าสู่สังคมผู้ใหญ่” 

นอกจากการแต่งชุดไปรเวทช่วยสร้างให้นักเรียนมีความการกล้าแสดงออกมากขึ้นในทิศทางที่ถูกที่ควร และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมในยุคปัจจุบัน อีกประการหนึ่งที่มีสาระสำคัญคือการฝึกการเรียนรู้และทัศนคติที่สามารถผสมผสานนำมาปรับใช้ได้จริงในชีวิตตามครรลองของสังคมไทย 

“ที่ทางโรงเรียนไม่ได้บังคับให้แต่งชุดไปรเวททุกคนในวันอังคาร เนื่องจากมีคำถามเรื่องของการเห็นต่างซึ่งในเรื่องนี้ของนักเรียนบางคนก็เลือกที่จะแต่งชุดนักเรียนตามระเบียบ แต่ก็จะมีเพียง 5 % เท่านั้นในวันแรก ซึ่งข้อคิดต่อไปที่เขาจะได้รับในความต่างตรงนี้คือเขาก็จะเรียนรู้แล้วว่า ทุกวันอังคารทุกคนใส่ชุดไปรเวทกันหมดแล้วเขาทำอย่างไรดี ต่อมาตรงนี้ยังเป็นการฝึกกฎระเบียบในการเคารพสิทธิประชาธิปไตย คือเราคิดต่างได้ แต่สุดท้ายทุกคนก็เคารพมติเคารพกฎกติกาที่เป็นนโยบายของโรงเรียนว่า วันอังคารแต่งชุดไปรเวท ไม่ใช่ชุดนักเรียน” ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยกล่าว 

"3ทักษะที่เพิ่มขึ้นเมื่อนักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียน" เปิดใจ "ผอ.กรุงเทพคริสเตียน"

"ดีมากหรือดีน้อย" อยู่ที่ปรับให้เข้ากับบริบท

ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยบอกว่า การทดลองให้นักเรียนสวมชุดไปรเวทมาเรียนนี้จะสิ้นสุดในช่วงปิดเทอมปีการศึกษา 2561 ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 6 สัปดาห์หลังจากนี้ ซึ่งหากปิดภาคการศึกษาแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี ในการสร้างความสุขเป็นโรงเรียนแห่งความสุข “school of happiness” มีค่าเป็นที่พึ่งพอใจ ขั้นตอนต่อไปคือการวัดผลลัพธ์การแต่งชุดไปรเวทช่วยให้พัฒนาทักษะสกิลความสามารถของนักเรียนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

“เราไม่ได้ไปคิดตามแบบอย่างเมืองนอก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้คิดว่าเราเป็นแบบของเราอย่างนี้โดยเราไม่สนใจคนอื่น เราทำโดยมองบริบทของโรงเรียนเรา เราบริโภคข้อมูลข่าวสาร เราเป็นนักการศึกษาก็ต้องเอามาคิดวิเคราะห์แล้วเอาสิ่งที่เหมาะที่สุดมาพัฒนาเด็กในบริบทของเราสำหรับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย”

ท่ามกลางกระแสสังคมที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากแต่สิ่งที่สำคัญคือการที่เด็กได้มีความสุขและค้นพบความเป็นตัวต้นที่แท้จริง 

“เรื่องนี้มีทั้งข้อดีทั้ง2แบบอย่าง ในแง่ที่นักการศึกษาเราก็ศึกษาข้อมูลเห็นว่าฝั่งนิยมไปรเวทที่นำเสนอมาน่าสนใจและโรงเรียนในประเทศต่างๆ ณ ปัจจุบันเองมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เอายูนิฟอร์มแล้วใส่ชุดไปรเวทอย่างเดียว คำตอบที่ได้ทุกครั้งที่ถามส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าการใส่ชุดไปรเวทมามันคือตัวตนที่แท้จริง ฉะนั้นนักเรียนเด็กเขาจะรู้ว่าต่อให้คุณมีความแตกต่าง คุณก็สามารถที่รวมตัวกันสร้างและทำอะไรสำเร็จได้ เพราะเรื่องของไลฟ์สกิลชีวิตและเรื่องของความสามารถด้านอื่นๆ สำคัญไม่แพ้ความรู้” 

"3ทักษะที่เพิ่มขึ้นเมื่อนักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียน" เปิดใจ "ผอ.กรุงเทพคริสเตียน"

"3ทักษะที่เพิ่มขึ้นเมื่อนักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียน" เปิดใจ "ผอ.กรุงเทพคริสเตียน"

"3ทักษะที่เพิ่มขึ้นเมื่อนักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียน" เปิดใจ "ผอ.กรุงเทพคริสเตียน"

ภาพ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย