posttoday

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (92)

06 มกราคม 2562

โดย: วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

โดย: วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย


ในช่วงเวลาที่ประทับอยู่ในอังกฤษนั้น ในหลวงทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ด้วยการเสด็จเที่ยวตามแต่โอกาสจะอำนวยให้ “ไปไหนไม่ค่อยสะดวกนักหรอกเพราะเงินทองก็ไม่ค่อยมี” สมเด็จฯ ทรงเล่า

และหลังจากที่คดีสิ้นสุดลงแล้ว ได้ไปเที่ยวที่อียิปต์ “ทางรัฐบาลเขาก็ว่าเราไปส้องสุมผู้คนที่นั่นเพื่อจะชิงอำนาจคืน” สมเด็จฯ ทรงเล่าต่อไป “แต่ฉันก็ว่า ถ้าจะชิงล่ะก็จะไปจากเมืองไทยทำไม ทำเสียแต่แรกแล้ว กรมพระชัยนาทไปเฝ้าฯ ก็ถูกหาว่ามาคบคิดกัน เพราะฉะนั้นก็เลยอย่าพบใครเสียเลยจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนกันทั้งสองฝ่าย อยากจะไปโลซานน์เฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ ก็ไม่กล้า เวลานั้นมีคนเขาว่า เราน่ะเป็นตัวเชื้อโรคเสียซ้ำไป”

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (92)

“แต่ถึงอย่างไรเราก็อยากจะให้พระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ ท่านได้เสด็จไปทรงศึกษาที่อังกฤษ ในหลวงท่านก็รับสั่งถามไปที่พระราชชนนีว่า ต้องการจะให้ช่วยอะไรบ้างไหม คือเราคิดไว้ว่า ถ้าจะเสด็จมาอังกฤษเราก็จะย้ายไปอยู่ที่อื่นเพราะไม่อยากให้เป็นเรื่อง พระราชชนนีก็ตอบมาว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณและไม่ขอรบกวน เรื่องมันเป็นอย่างนี้”

และทรงเล่าต่อไปอีกถึงความหวาดหวั่นที่จะถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลว่า “แม้แต่ผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษ คือพอสงครามโลกครั้งที่สองเกิด ทางนั้นเขาติดต่อบอกกับคนไทยหมดทุกคนว่า ใครจะกลับเมืองไทยทางนั้นจะจัดการให้ แต่เขาไม่บอกมาที่ฉันเลยแถมไม่เคยโผล่มาด้วย จนกระทั่งในหลวงเสด็จสวรรคตนั่นแหละถึงได้มาเซ็นชื่อ แต่ก็เขียนว่า ทางรัฐบาลให้มาแสดงความเสียใจ”

ต่อข้อมูลถามถึงเรื่องที่ทรงเป็นผู้หนึ่งในขบวนเสรีไทยประจำอังกฤษ สมเด็จฯ ทรงเล่าว่า “ฉันเป็นแต่เพียงไปลงชื่อกับเขาเป็นกำลังใจให้กับคนที่ทำงาน ฉันเองไปช่วยเขาทางด้านกาชาด แต่ฉันทำอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างที่พวกเสรีไทยฝึกโดดร่ม ฝึกอาวุธกันฉันก็ไปช่วยเขาทำเอง ตอนนั้นไม่ได้อยู่ในลอนดอนหรอก น่ากลัวมากทีเดียว แต่ก็มาลอนดอนอาทิตย์ละครั้งสองครั้ง” และทรงท้าวความย้อนไปอีกเล็กน้อยว่า “ตอนญี่ปุ่นบุกเมืองไทยนั้น ในหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว ทางรัฐบาลก็มีหนังสืออัญเชิญเสด็จกลับ แต่ฉันก็ไม่เคยนึกว่าจะได้กลับเมืองไทยหรอก จนกระทั่งเสร็จสงครามแล้ว ตอนกลับมาไม่มีบ้านอยู่หรอก เพราะวังสุโขทัยเขาใช้เป็นที่ตั้งกระทรวงสาธารณสุข ก็เลยต้องไปอาศัยอยู่วังสระปทุมถึง 2 ปี ถึงได้กลับมาอยู่ที่นี่ (วังสุโขทัย) ก่อนจะเข้าอยู่ต้องซ่อมเสียยกใหญ่ ทางรัฐบาลบอกให้อยู่ไปจนกว่าจะตาย หมายความว่าไม่ยอมคืนให้”

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (92)

“จอมพล ป. เคยมาเฝ้าเขาพูดว่า อยากจะล้างบาป เพราะทำกับท่านไว้มากเหลือเกิน จากนั้นแล้วก็เลยไปสร้างโรงพยาบาลพระปกเกล้าไว้ให้ที่จันทบุรี ดูเหมือนจะสร้างไปทั้งหมด 5 ล้านบาท สมเด็จฯ ทรงเล่าและทรงท้าวความย้อนไปก่อนที่จะเสด็จกลับว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยามานวราชเสวีเคยไปขอเฝ้า บอกว่า ข้าพระพุทธเจ้าตอนนั้นยังเด็ก คิดอะไรหัวมันรุนแรงเกินไป ไม่นึกว่าจะลำบากยากเย็นถึงเพียงนี้ ถ้ารู้ยังงี้ก็ไม่ทำ ฉันก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา

เรื่องมันแล้วไปแล้วไม่เคยเก็บเอามาคิด แต่ก็แปลกอยู่อย่างหนึ่ง ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ เสด็จสวรรคต พระพินิจชนคดีอยู่อุตส่าห์บินไปหาขอเฝ้าฯ ขอทราบเรื่อง ฉันก็บอกว่าฉันไม่รู้อะไรมากไปกว่าข่าวจากหนังสือพิมพ์เท่านั้น จะไปรู้เรื่องได้ยังไงอยู่ถึงโน่น”

ในเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชทรัพย์ที่ใช้จ่ายนั้น สมเด็จฯ ทรงเล่าว่า “ระหว่างที่ในหลวงครองราชย์นั้น โดยตำแหน่งไม่มีเงินปีเป็นของพระองค์เอง เพราะถือว่าใช้ด้วยกันกับพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นในหลวงได้อยู่ปีละ 6 ล้านบาท แต่ต่อมาก็เหลือ 3 ล้าน ในหลวงท่านทรงตัดยอดเงินเอง เพราะทรงเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ตอนที่เป็นคดีกันนั้นเมื่อสิ้นสุดแล้วและเมื่อทรงสละราชสมบัติทรัพย์สินส่วนพระองค์เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ก็พลอยถูกเขายึดไปด้วยหมด ทั้งๆ ที่พระองค์ท่านก็ได้ระบุไว้ชัดว่า สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงก่อนที่จะได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ ไม่ต้องอะไรหรอก แม้แต่เครื่องยศ หีบทองอันหนึ่งที่พระมงกุฎฯ พระราชทานให้ฉันวันแต่งงานก็เก็บเอาไปจนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้คืน ข้าวของที่เป็นส่วนของฉันเองแท้ๆ นั้น ก่อนจะออกเดินทางไปอังกฤษ ของบางส่วนฉันเอาติดตัวไป แต่บางส่วนก็เอาไปไว้ที่เพชรบูรณ์ เพราะสมเด็จพระพันปีหลวงท่านแบ่งของให้ลูกทุกคน จนผลที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์ปัจจุบัน) ท่านเอามาแจกนั่นแหละ ส่วนเงินที่ใช้จ่ายอยู่ทุกวันนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าอยู่หัวเป็นเงินที่ทรงเฉลี่ยไปตามพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนของฉันได้ปีละ 6 หมื่นบาท เฉลี่ยแล้วก็เดือนละห้าพันก็ต้องขายของเก่ากินไปบ้างเป็นธรรมดา ถ้าถามความเห็นฉันว่า เรื่องเงินปีในตำแหน่งของพระบรมราชินีละก็ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งต่างหากที่รัฐบาลควรจัดถวาย”

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (92)

สมเด็จฯ ทรงเล่าถึงกิจการที่จันทบุรีต่อไปว่า “มีที่ดินอยู่ทั้งหมดราว 600 ไร่เห็นจะได้ ฉันกลับจากอังกฤษแล้วสักปีหนึ่งหรือยังไงนี่แหละจำไม่ได้แน่ที่ไปจัดแจงทำขึ้น ไม่ได้ตั้งใจจะค้าขายอะไรมากหรอก คิดจะเอาไว้เป็นที่อยู่มากกว่า”

นี่คือส่วนที่ สมเด็จพระบรมราชินี พระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงพระกรุณาทบทวนความทรงจำพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ เป็นเวลาถึงสามชั่วโมงเศษ นับได้ว่าความทรงจำดังที่กล่าวมานี้ของพระองค์ได้ช่วยให้ความกระจ่างในอีกทางหนึ่ง เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ตราบกระทั่งเสด็จสวรรคต

ส่วนเหตุการณ์ที่เห็นสมควรจะได้นำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ ก็คือในระหว่างที่คณะก่อการเข้าบริหารประเทศและได้มีการติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างไรบ้าง จนถึงกับได้ทรงสละราชสมบัติและได้มีการสถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์สืบมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการของรัฐบาลเสมอมา โดยมีพระราชบันทึกที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญบ้าง เกี่ยวกับการออกกฎหมายต่างๆ บ้าง พระองค์พระราชทานความเห็นว่า อะไรจึงจะเหมาะสมและทางรัฐบาลก็ได้ส่งสำเนาเกี่ยวกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร แต่แล้วในที่สุด สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นับแต่ได้เสด็จพระราชดำเนินประทับยังประเทศอังกฤษก็ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ลงวันที่ 14 ต.ค. 2477 มีความว่า

ฉันได้รับพระราชโทรเลข ทรงพระราชปรารภถึงการงานอันได้ทรงพระราชปฏิบัติติดต่อด้วยรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรตามเวลาที่ล่วงแล้วมา ทรงสังเกตเห็นปรากฏแน่ในพระราชหฤทัยว่า รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมากรู้สึกแน่ใจว่า ไม่จำเป็นจะต้องปราณีปรานอมต่อพระองค์ท่านไม่ว่าในเรื่องใดๆ พอใจที่จะขัดพระราชดำริเสียทุกอย่าง ถ้าหากรัฐบาลมีประสงค์จะประสานงานต่อพระองค์ด้วยดีแล้วคงจะกราบบังคมทูลปรึกษาก่อนที่จะดำเนินการอันสำคัญไป ถ้าได้ทำดั่งนั้นความยุ่งยากอย่างหนึ่งอย่างใดก็จะไม่เกิดขึ้นได้ แต่รัฐบาลมิได้ทำดั่งนั้นการใดๆ รัฐบาลทำไปจนถึงที่สุด เสร็จเสียแล้วจึงกราบบังคมทูลพระกรุณา ไม่มีทางที่จะทรงทักท้วงให้แก้ไขโดยกระแสพระราชดำริอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะมีอะไรเหลือ นอกจากความขึ้งเคียดแก่กัน อันธรรมดาที่มีพระมหากษัตริย์ขัดกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรอยู่เช่นนี้ ไม่ว่าประเทศใดย่อมไม่เป็นสิ่งดีสำหรับประเทศนั้น ตามพฤติการณ์เช่นนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระองค์ไม่ควรจะดำรงราชสมบัติอยู่สืบไปเพราะไม่มีประโยชน์ที่จะช่วยปกปักรักษาผู้ใด ผู้หนึ่งได้เลยแล้ว จึงสมัครพระราชหฤทัยที่จะทรงสละราชสมบัติ พระราชทานโอกาสที่จะให้จัดตั้งพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ที่จะประสานงานได้เรียบร้อยเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวสยาม ในการทรงสละพระราชสมบัตินั้นจะไม่ทรงตั้งรัชทายาท พระราชทานโอกาสไว้ให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจัดเลือกเองตามความพอใจ จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขามาภายหลังโดยทางไปรษณีย์

(ลงพระนาม) นริศ

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

กระแสรับสั่งพระราชปรารภดังกล่าวนี้ ม.ร.ว.สมัครสมาน กฤดากร ได้ส่งจากอังกฤษเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2477 นับได้ว่าเป็นพระราชปรารภครั้งที่สองในอันที่จะทรงสละราชสมบัติ เพราะได้เคยมีมาครั้งหนึ่งแล้วภายหลังจากที่การปฏิวัติได้ผ่านไปแล้ว 6 วัน อันเป็นวันที่คณะผู้ก่อการได้เข้าเฝ้าฯ ซึ่งได้มีบันทึกลับเป็นรายละเอียดดังนี้

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (92)