posttoday

"สมิทธ"ชี้พายุปาบึกยิ่งเคลื่อนตัวช้ายิ่งเสี่ยงเกิดอุทกภัยใหญ่จากฝนสะสม

04 มกราคม 2562

"สมิทธ ธรรมสโรช" ชี้พายุปาบึกยิ่งเคลื่อนตัวช้าจะทำให้ฝนตกสะสมมากเสี่ยงเกิดอุทกภัย ขณะที่ สทนช. คาด 6ม.ค.นี้พายุเคลื่อนผ่านภาคใต้ลงสู่อันดามัน

"สมิทธ ธรรมสโรช" ชี้พายุปาบึกยิ่งเคลื่อนตัวช้าจะทำให้ฝนตกสะสมมากเสี่ยงเกิดอุทกภัย ขณะที่ สทนช. คาด 6ม.ค.นี้พายุเคลื่อนผ่านภาคใต้ลงสู่อันดามัน

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.62 นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากที่พายุปาบึกขึ้นฝั่งแล้วจะอ่อนกำลังลง โดยลักษณะของอิทธิพลพายุจะมีการแช่ตัวก่อนเคลื่อนผ่านไปยังอันดามัน ซึ่งหากแช่ตัวอยู่นานจะก่อให้เกิดฝนตกสะสมเป็นอุทกภัยใหญ่และดินถล่มได้ โดยควรเตรียมอพพยชาวบ้านที่อยู่เชิงเขาเพราะภาคใต้เป็นพื้นที่ภูเขา ดินอุ้มน้ำได้ไม่นาน

ด้าน นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า หากพายุเคลื่อนช้าจะอันตราย เพราะฝนตกหนักอยู่ตลอดเวลา จะเกิดปัญหาเพราะน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากในเวลากลางคืน

ทั้งนี้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ที่ลาดเชิงเขาที่ลุ่มน้ำ จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากสำหรับคืนนี้ ต้องมีคนตื่นอยู่ตลอดเวลา คืนนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ยิ่งบางที่ไม่มีไฟฟ้าจะลำบาก ซึ่งขอเน้นย้ำว่าเป็นห่วงเรื่องฝนตกหนักและตกแช่

ขณะที่ เวลา 19.00 น. นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปฏิบัติการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยสถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” (Pabuk) และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากพายุเคลื่อนขึ้นฝั่งแล้ว ทำให้เกิดคลื่นลมแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร น้ำทะเลหนุนเข้าท่วมถนน เขตชุมชน ตำบลขนาบนาค อำเภอหัวไทร อำเภอเมือง อำเภอปากพนัง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งลมกระโชกแรงมีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายบริเวณกว้าง

สำหรับทิศทางการเดินทางของพายุโซนร้อน “ปาบึก” นั้น กรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) แจ้งว่า เวลา 17.45 น. ศูนย์กลางของพายุอยู่บริเวณอำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็ว 13 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและจะเคลื่อนที่ปกคลุมจังหวัดสุราษฎร์ธานีในคืนนี้ (4 ม.ค 62) ส่งผลให้เกิดฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 ตั้งแต่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ จังหวัดพัทลุง ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ดังกล่าวลดลงและเป็นฝนฟ้าคะนอง

จากนั้นพายุจะเคลื่อนตัวผ่านภาคใต้ตอนบนผ่านลงไปสู่ทะเลอันดามัน ในวันที่ 6 มกราคม 2562 โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามัน คลื่นสูง 2-3 เมตร

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพายุดังกล่าว ยังคงต้องเฝ้าระวังคลื่นลมแรงและระดับน้ำยกตัว ตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น.(ในวันนี้) โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ดังนี้

จังหวัดชุมพร ที่อำเภอละแม อำเภอหลังสวน อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี อำเภอเมือง

จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อำเภอท่าฉาง อำเภอดอนสัก อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอพุนพิน อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน

อีกทั้งยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง เนื่องด้วยขณะนี้หลายพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีฝนตกหนักมากกว่า 100 มิลลิเมตร บริเวณอำเภอเมือง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอพรหมคีรี อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอสิชล อำเภอลานสกา อำเภอทุ่งสง อำเภอพิปูน ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำหลากจากเทือกเขาหลวงไหลหลากเข้าสู่ชุมชนบริเวณคลองท่าดี อำเภอเมือง คลองกลาย อำเภอท่าศาลา คลองท่าเลา อำเภอทุ่งสง และพื้นที่ต้นแม่น้ำตาปี อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณอำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอดอนสัก อำเภอบ้านนาสาร อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอวิภาวดี อำเภอพนม และอำเภอบ้านตาขุน ด้วย ซึ่ง สทนช. จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งที่อาจเกิดขึ้นและบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้น้อยที่สุด

"สมิทธ"ชี้พายุปาบึกยิ่งเคลื่อนตัวช้ายิ่งเสี่ยงเกิดอุทกภัยใหญ่จากฝนสะสม

"สมิทธ"ชี้พายุปาบึกยิ่งเคลื่อนตัวช้ายิ่งเสี่ยงเกิดอุทกภัยใหญ่จากฝนสะสม