posttoday

โปรดเกล้าฯพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับแรกของไทย

28 ธันวาคม 2561

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ฉบับแรกของไทย มีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 30 วัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ฉบับแรกของไทย มีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 30 วัน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เมื่อ 25 ธ.ค. 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยได้มีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนที่ 112 ก แล้ว

ทั้งนี้ พรบ.จะใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สำหรับ พรบ.ดังกล่าว เป็นกฎหมายฉบับแรกในประเทศไทยที่ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกฎหมายหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในหลายด้านและมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยหลายหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายหลายฉบับ ทำให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาขาดความเป็นเอกภาพ กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายที่จะบูรณาการเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เกิดความเป็นเอกภาพ กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม วางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ ตลอดจนจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เป็น 1 ใน 3 เสาหลักที่เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศ  ร่วมกับ   แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนงาน   ทั้งระดับระดับนโยบาย ระดับชาติ จนถึง ระดับท้องถิ่น

สำหรับพรบ.นี้มีด้วยกัน 106  มาตรา  9 หมวด และบทเฉพาะกาล ประกอบด้วย หมวด 1 ทรัพยากรน้ำ หมวด 2 สิทธิในน้ำ หมวด3 องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หมวดที่ 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ หมวดที่ 5 ภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม หมวด 6 การอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ หมวด 8 ความผิดทางแพ่งในกรณีเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ หมวด 9 บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล ทั้งนี้ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติในหมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ และมาตรา 104 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป  ซึ่งเป็นการกำหนดใช้น้ำพื่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องยื่นขอใบอนุญาตใหม่ โดยระหว่างนี้ให้ใช้ใบเดิมไปก่อนะและแจ้งต่อผู้รักษากฎหมายนี้ภายใน 60  วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพรบ.ดังกล่าวมีประเด็นที่สังคมถกเถียงกันคือมาตรา 41  ในเรื่องการจัดเก็บค่าน้ำ  ซึ่งมีการแยกเป็น 3ประเภท ต่อมาได้ข้อยุติคือจะเก็บเฉพาะค่าน้ำประเภทที่ 2และ3 เท่านั้น โดย 1 คือน้ำสำหรับเรือนและเกษตรยั่งชีพจะไม่มีกาจัดเก็บค่าน้ำ  สำหรับน้ำประเภทที่ 2 คือการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และประเภทที่  3 คือการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้ปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

สำหรับอัตราค่าจัดเก็บค่าธรรมเนียม ได้มีการตราไว้ท้ายกฏหมายแบ่งเป็น

 

1. คำขอ ฉบับละไม่เกิน ๑๐๐ บาท

2.ใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สอง ฉบับละไม่เกิน  10,000  บาท

3.ใบอนุญาตการใช้น าประเภทที่สาม ฉบับละไม่เกิน 50,000 บาท

4. ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละไม่เกิน 500  บาท

5. การต่ออายุใบอนุญาตครั้งละเท่ากับ ค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาต

แต่ละฉบับ

6.การโอนใบอนุญาต ฉบับละไม่เกิน  500 บาท

ลิงก์ ราชกิจานุเบกษา

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/112/T_0044.PDF