posttoday

ดีเอสไอถก7หน่วยงานรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ปี 62

28 ธันวาคม 2561

ดีเอสไอเตรียมรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ปี 62 ถก 7 หน่วยเฝ้าระวังเปิดเว็บไซต์-ตัดสัญญาณเครือข่าย-ตรวจสอบ ISP เตือนประชาชนตรวจสอบก่อนให้ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน

ดีเอสไอเตรียมรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ปี 62 ถก 7 หน่วยเฝ้าระวังเปิดเว็บไซต์-ตัดสัญญาณเครือข่าย-ตรวจสอบ ISP เตือนประชาชนตรวจสอบก่อนให้ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมกับ 7 หน่วยงานเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กสทช.,ปปง. กระทรวงดิจิทัลฯ สมาคมธนาคารไทย ฯลฯเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยไซเบอร์ และการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ว่าตลอดปี 2561 ที่ผ่านมากองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศฯ ได้สืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง พบว่าการก่อคดีอาชญากรรมมักจะนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงบุคคลที่เป็นเป้าหมายได้สะดวกรวดเร็ว มีการใช้ระบบเก็บข้อมูลใน Cloud เพื่อการปกปิดแหล่งที่ตั้งของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย และปิดบังอำพรางตัวตนที่แท้จริงใช้การชำระเงินผ่านระบบ e-wallet หรือเงินสกุลดิจิตอล เช่น บิทคอยน์ และที่เลวร้ายที่สุดคือประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมโดยไม่รู้ตัว

"บางคนเป็นเครื่องมือขององค์กรอาชญากรรม เช่น การถูกแอบอ้างชักชวนให้เปิดบัญชี หรือการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อปกปิดและถ่ายโอนผลประโยชน์ ซึ่งผลจากการหารือได้ข้อสรุป คือ จะต้องมีมาตรการปิดกั้นเว็บไซต์ และทำงานเชิงรุกเป็นทีม การตัดโครงข่ายของ กสทช. การเปิดเวทีให้เยาวชนมีส่วนร่วม การควบคุมการให้บริการอินเทอร์เน็ต การตรวจสอบ ISP มาตรการในการควบคุมร้านเกมส์ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน (Log File)" อธิบดีดีเอสไอ กล่าว

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันการกระทำความผิดผ่านสื่ออิเลคทรอนิคส์นั้น เพื่อให้รู้เท่าทันอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ในปี 2562 ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการซื้อขายสินค้า/บริการ การชำระเงิน การโฆษณาโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ที่ไม่มีอยู่จริง (Fraudulent)และตรวจสอบการมีอยู่จริงของผู้ขายสินค้าหรือบริการ หากเกิดความสงสัยหรือไม่แน่ใจต้องทำการตรวจสอบกลับไปยังหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการประเภทนั้นๆ หรือการหลอกลวงให้เข้าเว็บไซต์ปลอมที่ทำเลียนแบบเว็บไซต์จริง (Phishing) เพื่อมุ่งหวังเงิน โดยใช้วิธีการหลอกผู้เสียหายให้กรอกข้อมูลสำคัญส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางธนาคาร

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเครือข่ายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ยังใช้วิธีการหลอกลวงว่าเป็นบุคคลอื่นโดยการปลอมอีเมล์ (Fake Mail) และการเข้าถึงข้อมูลอีเมล์  โดยไม่ชอบ (Hack Mail) ให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน โดยจะมีการจัดทำอีเมล์ปลอมที่มีชื่อ (Account) เหมือนอีเมล์จริง หรือการลักลอบเข้าถึงหรือทำการยึดอีเมล์ (Account) ของบุคคลอื่นโดยมิชอบ หรือหลอกลวงบุคคลที่ติดต่อทางอีเมล์ว่า มีความจำเป็นต้องการใช้เงิน ฯลฯ ดังนั้นจึงควรตรวจสอบกลับไปยังตัวบุคคลเจ้าของอีเมล์ที่ได้รับการติดต่อมาก่อนให้ความช่วยเหลือทุกครั้ง, รวมทั้งการรับจ้างเปิดบัญชีเงินฝาก เข้าข่ายการกระทำความผิดในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดอาญาด้วยเช่นกัน

ภาพประกอบข่าว