posttoday

ลุ้นฝนตกช่วยลดฝุ่นละออง

27 ธันวาคม 2561

กรมควบคุมมลพิษลุ้นฝนตกช่วง 28 ธ.ค.นี้ ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองใน กทม. เบื้องต้นพบฝุ่นละอองหลายจุดเกินมาตรฐาน

กรมควบคุมมลพิษลุ้นฝนตกช่วง 28 ธ.ค.นี้ ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองใน กทม. เบื้องต้นพบฝุ่นละอองหลายจุดเกินมาตรฐาน

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงนี้จนถึงปีใหม่เชื่อว่าค่าฝุ่นละอองจะลดลง เนื่องจากประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัด ทำให้ปริมาณรถยนต์ในกรุงเทพมหานครลดลง ประกอบกับที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าสภาพอากาศจะดีขึ้น และในวันที่ 28 ธ.ค.นี้อาจมีฝนตก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองได้อีกทางหนึ่ง

นายประลอง กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการฉีดน้ำเพื่อลดฝุ่นละอองในทุกเขตที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ขณะที่กรุงเทพฯ ได้สั่งการทั้ง 50 เขต ทำความสะอาดพื้นผิวจราจร ควบคุมโครงการก่อสร้างคอนโดไม่ให้เกิดฝุ่นละอองมากขึ้น ส่วนระยะยาวได้หารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อดำเนินมาตรการสนับสนุนให้ใช้ E20 รถไฟฟ้าและรถไฮบริด เนื่องจากแหล่งกำเนิดมลพิษร้อยละ 60 เกิดจากน้ำมันและเชื้อเพลิง

"ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะสถานการณ์ขณะนี้ไม่ได้รุนแรง แนะนำให้ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ โรคปอด ภูมิต้านทานต่ำสวมหน้ากากอนามัย N95 ส่วนประชาชนทั่วไปยังไม่มีความจำเป็น เพราะสภาพอากาศไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤต" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

ขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษได้รายงานสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ยังพบว่าหลายพื้นที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน โดยพื้นที่ริมถนนตรวจวัดได้ระหว่าง 46-76 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินค่ามาตรฐาน 21 พื้นที่ ส่วนพื้นที่ทั่วไปตรวจวัดได้ระหว่าง 38-85 มคก.-ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐาน 11 พื้นที่

กรมควบคุมมลพิษ รายงานด้วยว่า ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสาเหตุมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยา โดยคาดการณ์ว่าคุณภาพอากาศในวันนี้ (27 ธ.ค.) จะอยู่ในระดับปานกลาง และกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในวันที่ 28-29 ธ.ค. 2561 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีฝนตก ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษยังขอความร่วมมือประชาชนและผู้ประกอบการห้ามใช้รถยนต์ที่มีควันดำอย่างเด็ดขาด งดการเผาในที่โล่งทุกประเภท และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นละออง

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงข่าวลือแจ้งเตือน 9 จังหวัดของภาคใต้ทะเลอันดามันและ อ่าวไทย ระวังซ้ำรอยคลื่นยักษ์ถล่มประเทศอินโดนีเซีย จากกรณีภูเขาไฟกรากะตัวปะทุขึ้น ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและเกิดความสับสนเกี่ยวกับข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง

กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุอีกว่า ทั้งนี้แนวภูเขาไฟที่มีอยู่บริเวณทะเลอันดามันมีความแตกต่างทั้งทางด้านลักษณะทางกายภาพ ระยะทางของแหล่งกำเนิดถึงชายฝั่งที่มากกว่า ความลึกและลักษณะของท้องทะเลและขอบของชายฝั่งที่ลึกกว่า ตลอดจนพฤติกรรมของการเกิดภูเขาไฟแถบนี้ที่เกิดน้อยกว่า ซึ่งมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และไม่สามารถเทียบเคียงบริบทกับเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่อินโดนีเซียได้

"ด้วยเหตุนี้ไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยลักษณะดังกล่าวน้อยกว่าและมีผลกระทบน้อยเช่นกัน โดยปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนเข้าหาฝั่งที่มีผลกระทบรุนแรงเกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเล" กรมอุตุ นิยมวิทยา ระบุ

อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี 2547 ภาครัฐได้ลงทุนและพัฒนาระบบการตรวจวัด แผ่นดินไหวของไทยให้มีศักยภาพและมาตรฐานสากลในปัจจุบัน