posttoday

"โรคซึมเศร้าหลังคลอด" ภัยเงียบ"อันตราย"ต่อชีวิตและลูกน้อย

23 ธันวาคม 2561

ทำความรู้จักโรคซึมเศร้าหลังคลอดให้ดียิ่งขึ้น ร้ายแรงแค่ไหน แบบใดคือป่วย พร้อมวิธีการป้องกัน จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ทำความรู้จักโรคซึมเศร้าหลังคลอดให้ดียิ่งขึ้น ร้ายแรงแค่ไหน แบบใดคือป่วย พร้อมวิธีการป้องกัน จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

จากสถิติพบว่า ร้อยละ 15 จากจำนวนคุณแม่ทั้งหมดที่ตั้งครรภ์มักจะเป็น "โรคซึมเศร้าหลังคลอด" โดยล่าสุดดาราสาวชื่อดังอย่าง "ชมพู่ อารยา" ก็มีอาการป่วยซึมเศร้าหลังคลอดลูก

โรคซึมเศร้าหลังคลอดต่างหรือเหมือนกับโรคซึมเศร้าอื่นๆ อย่างไร 

ร้ายแรงถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตายหรือมีอันตรายต่อเด็กหรือไม่ ฯลฯ

คำถามสำคัญที่น่าคิดที่สุดก็คือ โรคซึมเศร้าหลังคลอด แท้จริงแล้วเรารู้จักมันดีแล้วหรือยัง ?

“นพ.ปทานนท์ ขวัญสนิท” แพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เริ่มต้นอธิบายว่า "โรคซึมเศร้าหลังคลอด" หรือ "Postpartum depression" เป็นโรคที่มีผลจากทางอารมณ์หรือฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยระดับความรุนแรงของโรคไม่ต่างจากโรคซึมเศร้าประเภทอื่นๆ ซึ่งลักษณะอาการหรือระดับความรุนแรงอาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือโรคซึมเศร้าหลังคลอดยังส่งผลต่อบุตรลูกน้อยในเรื่องพัฒนาการทุกๆ ด้านตั้งแต่อยู่ในท้องกระทั่งโต

“โรคซึมเศร้าหลังคลอดอาจจะไม่ได้เป็นหลังคลอดทันที สามารถเป็นได้ทั้งช่วงก่อนคลอดในระหว่างครรภ์ ซึ่งอาการป่วยจะทำให้ทารกมีปัญหาเรื่องพัฒนาการล่าช้า เพราะผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขกับชีวิต เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ทำให้ส่งผลในเรื่องโภชนาการบำรุงครรภ์ในกรณีป่วยระหว่างตั้งท้อง หรือเมื่อคลอดบุตรออกมาแล้วอาจจะเกิดการละเลยไม่ได้ให้นมลูกพอตามที่ร่างกายต้องการทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ”

นายแพทย์ชำนาญการพิเศษโรคซึมเศร้า บอกอีกว่า พฤติกรรมของผู้ป่วยในเรื่องนี้ยังส่งผลต่อทางด้านอารมณ์ได้อีกด้วย อาทิเช่น กรณีละเลยดูแลสุขอนามัยไม่ได้เปลี่ยนผ้าอ้อมเวลาอุจจาระหรือปัสสาวะ การพัฒนาการทางอารมณ์ความรู้สึกปลอดภัยในการเจริญเติบโตก็พัฒนาอย่างจำกัด นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลังคลอดยังอาจส่งผลกระทบความสัมพันธ์ครอบครัว จากสาเหตุของการไม่สามารถทำหน้าที่บทบาทของตัวเองที่ดีได้ ทำให้เด็กมีปัญหาสุขภาพจิตเมื่อโตขึ้น

3ปัจจัย สาเหตุโรคซึมเศร้าหลังคลอด

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผยสาเหตุของโรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัย ได้แก่

1.ปัจจัยทางด้านชีววิทยา จากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจน ลดลงอย่างกระทันหันจากการคลอด ซึ่งฮอร์โมน 2 ชนิดนี้มีผลต่อการสร้างสารซีโรโทนินสารที่ควบคุมทางด้านอามรณ์ให้ปรกติ หากสารซีโรโทนินลดลงก็ทำให้เสี่ยงต่อการป่วย

2.ปัจจัยทางด้านจิตใจ เกิดจากความเข็มแข็งทางจิตใจ กระบวนการในการรับมือเมื่อเจอเรื่องกระทบ เป็นผู้ที่ไม่สามารถจัดการได้ดีเป็นทุนเดิม มีภาวะพึ่งพิงบุคคลอื่นตลอดเวลา เมื่อบวกเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนในการเป็นแม่คนส่งผลทำให้เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ง่ายขึ้น ซึ่งรายงานพบว่าส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลังคลอด สาเหตุของการป่วยเกิดจากการที่คนไข้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่ก่อนหน้านี้

3.ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม คือ การที่สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้สุขภาพจิตดี อาทิ เศรษฐกิจส่งผลคุณภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว ที่อยู่อาศัยมีอิทธิพลต่อประสบการณ์ในชีวิต หรือเรื่องความสัมพันธ์ครอบครัว หากมีการทะเลาะของคู่สมรสหรือระหว่างครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ระหว่างที่ตั้งครรภ์ และหลังตั้งครรภ์ ปัจจัยเหล่านี้สามารถผสมรวมกันทำให้คุณแม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ง่ายขึ้น

"โรคซึมเศร้าหลังคลอด" ภัยเงียบ"อันตราย"ต่อชีวิตและลูกน้อย

วิธีสังเกตและช่วยเหลือ

ด้านวิธีสังเกตผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีด้วยกัน 9 อย่าง เช่น หมดความสนใจในกิจกรรมต่างๆ เบื่อทุกสิ่งอย่างรอบตัว กินอาหารได้น้อยลง นอนไม่หลับ เหมือนเคลื่อนไหวหรือความคิดช้าลง อ่อนเพลียไม่มีแรง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า สมาธิลดลง ความจำแยกลง สุดท้ายคิดเรื่องของการตาย การฆ่าตัวตาย หากมีอย่างน้อย 5 ข้อขึ้นไป และเป็นต่อเนื่องระยะเวลานานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ขณะที่เกิดขึ้นหลังคลอดลูก 1-6 เดือน เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลังคลอด

โดยระดับอาการของการซึมเศร้าหลังคลอดมีทั้งหมดด้วยกันทั้งรุนแรงน้อย อย่าง ภาวะทางจิตใจ Postpartum blue หรือ อาการภาวะเศร้าหลังคลอด ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน 2-3 วันหลังคลอดบุตรเพราะเปลี่ยนบทบาทเป็นคุณแม่ทำให้มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย โดยอาการแสดงความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์สูงสุดไม่เกิน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นภายใน 2 สัปดาห์จะค่อยๆ หายและเป็นปกติเอง และรุนแรงระดับร้ายแรงกลายเป็น โรคทางจิต อย่าง โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) ที่เริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเลี้ยงดูทารก และสุดท้าย โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) โรคจิตหลังคลอด มีรูปแบบแสดงอาการประสาทหลอน หูแววได้ยินเสียงกระซิบให้ฆ่าลูก

“วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดควรเริ่มตั้งแต่วางแผนการมีบุตร เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ฉะนั้นก่อนที่จะตั้งท้องหรือวางแผนตั้งครรภ์ เราพยายามที่ให้คำแนะนำมารดาในการดูแลตัวเองไม่ว่าจะเรื่องการจัดการกับความเครียด การตั้งครรภ์หรือภาวะหลังจากคลอดบุตรไปแล้ว มีการให้คำปรึกษาเมื่อเกิดวิกฤตปัญหาอย่างเช่นสัมพันธ์ภาพระหว่างภรรยากับสามี  อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรเริ่มต้นทำกันทุกคนก่อนที่จะกลายเป็นผู้ป่วย” นายแพทย์ปทานนท์ กล่าว