posttoday

ทำความรู้จัก "โต้ง-ศราวุฒิ สินปรุ" วิศวกรหัวใจน่ากราบกับโครงการท้าทำความดี "RunBloodNow"

18 ธันวาคม 2561

เรื่องราวของวิศวกรหนุ่มวิ่ง 700 กิโลเมตร แลกบริจาคเลือด 7,000,000 ซีซี ให้ประชาชนคนไทยร่วมกันท้าแข่งบริจาคเลือด ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “RunBloodNow”

โดย รัชพล ธนศุทธิสกุล

“ผ้าขาวม้าแมน” แนะนำอย่างนี้หลายคนคงจะงุนงงสงสัย หากแต่ในวงการวิ่งไม่มีใครไม่รู้จัก กระนั้นสำหรับใครที่เกิดไม่ไหวโตไม่ทันวงการวิ่งมาราธอนในยุคแรกเริ่ม จะแนะนำให้คราวๆ ถึงชายหนุ่มเมืองย่าโม ดีกรีวิศวกรเมืองอุตสาหกรรมมาบตาพุด หลงรักการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจ และบังเอิญจับพลัดจับผลูคว้าผ้าข้าวม้าติดเป็นปีกวิ่งเล่นเข้าเส้นชัย ตั้งแต่บัดนั้น ไม่ว่าที่ไหน สนามใด เป็นต้องมีปรากฎ

ณ เวลานี้ วิศวกรหนุ่มเมืองยาโม่วัย 37หรือ “โต้ง-ศราวุฒิ สินปรุ” เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในวงการวิ่งกว่า 10 ปี จนทำให้ตระหนักนึก ‘คุณค่าแห่งการให้’ ตกผลึก “RunBloodNow” โครงการชาเลนเจอร์ท้าทำความดีด้วยการบริจาคเลือด

โดยใน วันที่ 16 ธันวาคมนี้ การวิ่งทั้งหมด 10 วัน ระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร จากจังหวัดระยอง-หนองคาย ได้ปิดฉากลงแล้ว แต่การบริจาคยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวันสิ้นปีวันที่ 31 ธันวาคม 

ทำความรู้จัก "โต้ง-ศราวุฒิ สินปรุ" วิศวกรหัวใจน่ากราบกับโครงการท้าทำความดี  "RunBloodNow"

วิศวะหนุ่มผู้ “รัก” การวิ่ง

ไม่ต่างไปจากเด็กหนุ่มบ้านๆ น้อยใหญ่ต่างจังหวัดมักมีกิจกรรมกลางแจ้งสันทนาการความบันเทิงยามว่างเป็นการเตะฟุตบอล หรือไม่ก็หาอะไรกลมๆ แบ่งทีมยัดห่วงบาส ศราวุฒิเองในช่วงปี พ.ศ. 2524 ก็เป็นหนึ่งในรุ่นขาสั้นวันวานคนหนึ่งที่หลงรักในทางสายนี้แห่งเมืองย่าโม จ.นครราชสีมา

ศราวุฒิ เล่าว่า สมัยวัยเด็กก็เป็นไปตามนิสัยธรรมชาติ ชอบเล่นอะไรที่ใช้พลัง ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าหลงรักหรือเพราะการเป็นผู้ชายจึงต้องไปผลาญใช้แคลอรี่กับกิจกรรมออกแรง เผลอตัวมาอีกทีก็กลายเป็นหนุ่มกระทงร่างกำยำผิวกร้านแดดดูไม่เข้าทีกับงานวิศวกรดีกรีปริญญาวุฒิวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยขอนแก่นและการจัดการนวัตกรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ผู้ชายถ้าไม่เล่นกีฬาก็ไม่รู้จะเล่นอะไร ในยุคสมัยเราคนรุ่น 37 ปีตอนนี้ ไม่ดนตรีก็กีฬา ที่เราจะพอทำได้ฆ่าเวลา แต่ทำไมทำมามันดันมาฆ่าเราเอง คือเราติดมันไปเองโดยไม่รู้ตัวเลยทุกอย่าง ฟุตบอล ตระกร้อ บาส วิ่ง หลังจากนั้นมันก็ส่งต่อให้เราเป็นคนที่รักสุขภาพอัตโนมัติ”

ศราวุฒิ เล่าว่า ในบรรดากีฬาที่โปรดปรานมากที่สุดยอมยกเป็นภรรยาคู่ชีวิตก็คือเรื่อง วิ่ง โดยรักแรกเมื่อตอนปี พ.ศ. 2552 นับถึงตอนนี้ก็ตกหล่มเสน่ห์มากว่า 9 ปี

“ร่วมรายการหมดทุกประเภทของการวิ่งที่มีในประเทศไทย ไม่ว่าจะ ฟันรัน  มินิมาราธอน ฮาล์ฟ หรือ ระยะฟูลมาราธอน 42 กิโลเมตร Finisher ทุกครั้ง จนมาวิ่งแบบอัลตร้ามาราธอน กว่าจะจบได้ต้องรอครั้งถัดไปเป็นปี ซึ่งไอ้การที่ไม่ถึงเส้นชัยนี้แหล่ะที่มันสอนผมให้ได้บทเรียนครั้งใหญ่ในชีวิต”

ชีวิตที่ศราวุฒิบอกนั่นหมายความถึงเรื่องที่ไม่ใช่แค่การวิ่ง ระบบการฝึกฝน การเตรียมตัวก่อนลงวิ่ง รวมไปถึงทักษะแลเทคนิคต่างๆ  หากแต่ยังครอบคลุมไปถึงการต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคด้วยหัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ 

“ฮีทสโตรก ความร้อนที่ต้องเจอเวลาวิ่งถนนหรือวิ่งเทรลโดนตะคริวกินตลอด ไหนจะสะดุดหิน หน้าไม่ระวังไปตีกับกิ่งไม้ มันทำให้เรามีการเตรียมตัวทุกเรื่อง จัดระเบียบขั้นตอน วางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ทำอย่างไรให้เรากลับมาสู่เกม การวิ่งมันอะแดปนำมาปรับใช้ได้ ชีวิตก็เลยค่อนข้างไม่มีปัญหาอะไร พอทุกอย่างลงตัวนิสัยก็ดีขึ้น ใจร้อนยากขึ้น วิ่งนานๆ ก็เหมือนกับการทำสมาธิกับมันไม่ต่างจากการกรรมฐาน เพราะเราอยู่กับตัวเองเพื่อพิจารณาความเจ็บปวดของร่างกาย” ศราวุฒิ กล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า

ทำความรู้จัก "โต้ง-ศราวุฒิ สินปรุ" วิศวกรหัวใจน่ากราบกับโครงการท้าทำความดี  "RunBloodNow"

พ่อป่วยจึงได้ช่วยคน

นอกจากความสามารถในเรื่องของการวิ่ง ศราวุฒิยังชื่นชอบในการเป็นจิตอาสา โดยที่ก่อนหน้านี้ก็มักจะลงแรงไปแคมป์ร่วมกิจกรรมกับคณะเรียนมหาวิทยาลัยไม่ขาด ฉะนั้นเมื่อเกิดวิกฤตที่ไม่คาดฝันซึ่งศราวุฒิเองไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเหตุนั้นเกิดขึ้นแล้ว คนอย่างเขาจึงไม่ปล่อยให้มีเป็นครั้งที่ 2 ตราบเท่าที่มีกำลังทำ

 “เรื่องของเรื่องพ่อผมป่วยกระทันหัน ด้วยโรคเลือดออกในกระเพาะอาหารจากการดื่มเหล้า โรคนี้เป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณอาการ จู่ๆ มันจะเป็นอาการมันสำแดงขึ้นมาเลย ซึ่งในช่วงของการรักษา ภาพมันมีแต่ภาพเลือดเต็มกระโถนที่ออกมา เนื่องจากเลือดมันไหลเต็มอยู่ในช่องท้อง การพยาบาลรักษาก็ต้องมีให้เลือด มันก็จะวนลูป ซึ่งเลือดเหล่านั้นทำให้พ่อผมเป็นพ่อผมทุกวันนี้อยู่ แล้วก็เลิกลาขาดกับเหล้าได้ ผมเลยรู้สึกว่าถ้าผมทำอะไรได้สักอย่างเพื่อตอบแทนเลือดบริจาค มันเหมือนเป็นมุทิตาจิตที่ผมอยากจะขอบคุณที่ช่วยเหลือพ่อ ณ  วันนั้น”

ศราวุฒิ เล่าว่า หลังนาทีชีวิตหลังลั่นวาจาสัญญาใจกับตัวเอง สิ่งที่จะตอบแทนโลหิตธารน้ำใจจากมิตรผู้ไม่ประสงค์ออกนามนั้น ไม่ว่าจะหันไปทางใดที่จะคิดทำ มันไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร กระนั้นอย่างไรก็ตามในขณะที่ชีวิตดำเนินตามระบบตื่นเช้ามาวิ่ง สายกลางวันบ่ายทำงาน ตกเย็นก็ยังม่วนอยู่กับการวิ่ง จู่ๆ ไอเดียก็มาปิ๊งถึงการวิ่งเป็นสิ่งที่รักและถนัด แล้วอะไรจะปฏิเสธโอกาสที่จะทำได้ทั้งสองอย่างควบคู่กัน

“โครงชื่อว่า RunBloodNow เพราะ 1.วินาทีที่พ่อต้องการเลือดเป็นวินาทีที่เร่งด่วน หากไม่มีเลือดเพียงพอจะเป็นอย่างไร 2.ทุกครั้งที่เห็นข่าวประกาศของอุบัติเหตุหรือสภากาชาดไทยขอรับประกาศเลือด หมายความว่าเป็นที่ต้องการ ด่วน”

โดยโครง RunBloodNow  เป็นการวิ่งรณรงค์ให้คนบริจาคโลหิต โดยศราวุฒิวิ่งติดต่อกัน 10 วัน เริ่ม 5 ธ.ค. จนถึงวันที่ 16 ธ.ค. ตั้งแต่จังหวัดระยอง-หนองคาย รวม 700 กิโลเมตร เพื่อเลือด 7,000,000 ซีซี จากพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วประเทศตลอดเดือนธันวาคมนี้

วิธีเข้าร่วมสนุกชาเลนเจอร์ RunBloodNow สามารถทำได้ง่ายๆ เพียง  1 คน ท้าแชร์เพื่อนอีก 3 คน เพื่อไปบริจาคพร้อมกับถ่ายรูปติดแฮชแท็ก#RunBloodNow หรือ ในกรณีที่ไม่สะดวกบริจาคเลือดในตอนนี้เพียงแค่ออกไปวิ่ง 3 กิโลเมตร ถ่ายรูปพร้อมติดแฮชแท็ก# RunBloodNow ก็ร่วมชาเลนเจอร์ได้เช่นเดียวกัน

ทำความรู้จัก "โต้ง-ศราวุฒิ สินปรุ" วิศวกรหัวใจน่ากราบกับโครงการท้าทำความดี  "RunBloodNow"


 
อยากให้เลือดในหัวใจเรา ได้มีโอกาสไปวิ่งในหัวใจคนอื่น

“อยากให้เลือดในหัวใจเรา ได้มีโอกาสไปวิ่งในหัวใจคนอื่นบ้าง”

ฟังอาจจะดูน้ำเน่าในคำบอกเล่าแม้แต่ตัวศราวุฒิเองนั้นยังเอ่ยปาก หากแต่ถ้ามองให้ลึกลงไปมันเป็นการส่งต่อที่ต้องใช้หัวใจจริงๆ ถึงจะพูดได้ตรงกับชีวิต

“มันเหมือนเราส่งความรักไปถึงคนอื่นโดยที่เราไม่รู้จักเขาเลยว่าเขาเป็นใคร ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงเข้าใจ โดยเฉพาะกับพี่น้องคนจังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ต้องเคยพบเหตุการณ์สูญเสียกันเป็นอย่างดี เนื่องจากจังหวัดทั้ง 8 จังหวัดเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด และถ้าการที่เราขาดเลือดในวันเวลาที่จำเป็น โอกาสที่ยังไม่ปิดตายมันเหมือนปิดตายไปโดยปริยายสำหรับผู้ป่วย”

ที่สำคัญในช่วงของเดือนธันวาคมอีกไม่นานจะเข้าเดือนหน้าและก้าวขึ้นปีพุทธศักราชใหม่ เป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดสิ่งที่ถ้าศราวุฒิพอจะทำได้ก็คือเรื่องของการสำรองเลือดในการช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุให้ก้าวพ้นข้ามไปฟ้าใหม่ปีหน้าพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้สถิติอุบัติเหตุเสียชีวิตจังหวัดชลบุรีติดอันดับที่ 2 จังหวัดนครราชสีมาอันดับที่ 3 จังหวัดอุดรธานีอันดับที่ 4 ส่วนจังหวัดระยองลำดับที่ 6 ซึ่งเทียบได้กับครึ่งต่อครึ่งของ 8 จังหวัดที่วิ่งโครงการวิ่งผ่านรณรงค์

“เพราะจริงๆ แล้วเรื่องของการวิ่งที่ผมพยายามให้ทุกคนร่วมแชร์และส่งต่อร่วมกันทำ มันก็เป็นเพียงแค่ปกหนังสือเท่านั้น เนื้อหาข้างในไม่ใช่ทั้งการวิ่งและผม แต่มันคือเรื่องราวของทุกๆ คนที่แชร์ ทุกๆ คนที่แชร์ได้เข้ามาร่วมกันเขียนไดอารี่เล่มนี้ให้มันออกมาเป็นจริงสู่สายตา เราจะเขียนด้วยความประทับใจ เขียนด้วยความทรงจำ  #RunBloodNow ขอเป็นพื้นที่”

ทำความรู้จัก "โต้ง-ศราวุฒิ สินปรุ" วิศวกรหัวใจน่ากราบกับโครงการท้าทำความดี  "RunBloodNow"

1ยูนิตพลิกชีวิต10 หัวใจ

หลังลัดเลาะเส้นทางจุดเริ่มต้นตลอดจนการริเริ่มโครงการ RunBloodNow ของศราวุฒิ ทำให้เราได้รู้จักตัวตน อุดมการณ์ รวมไปถึงแง่งามความคิดของวิศวะหนุ่มผู้นี้ ยังมีโครงการอื่นๆ ที่จะตามมาอีกหลังจากนี้ ซึ่งแม้อาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่าแบบไอดอลต้นฉบับ “ตูน บอดี้สแลม” แต่สำหรับคนธรรมดาคนหนึ่งต้องมีความหนักแน่นพอสมควร

“มีนิทานเรื่องที่ผมถือคติยึด ชื่อเรื่องว่า เศรษฐีอาหรับกับลูกชายทั้ง 3 เศรษฐีอาหรับคนหนึ่งทำพินัยกรรมไว้เมื่อเขาตายให้แบ่งอูฐทั้งหมด 17 ตัว ให้กับลูกๆ ทั้ง 3 คน คนโตได้ส่วนแบ่ง1 ใน 3 คนรองได้ส่วนแบ่ง 1 ใน 6 คนน้องเล็กสุดได้ในสัดส่วน 1 ใน 9 จากนั้นไม่นานเศรษฐีอาหรับตายลง ลูกๆ ต่างทะเลาะกันเรื่องการแบ่งอูฐ ซึ่งเหตุผลที่แตกความสามัคคีกันด้วยเหตุผลที่ทุกคนต่างคิดว่าตัวเองต้องได้มากกว่า”

ศราวุฒิ กล่าวพลางเว้นวรรคชั่วอึดใจคล้ายอยากให้ทุกๆ คนไทยได้ทบทวน ก่อนจะค่อยเล่านินาทต่อว่า ในระหว่างที่พี่น้องโต้เถียงกัน ก็บังเอิญมีนักปราชญ์ชราคนหนึ่งเดินผ่านและได้ยินเรื่องราวของ 3 พี่น้อง นักปราชญ์ชราจึงบอกแก่พี่น้องทั้ง3คน ให้เอาอูฐของตัวเองไป 1 ตัว เรื่องมหัศจรรย์เกิดขึ้น ทุกคนต่างหารกันลงตัว โดยอูฐของนักปราชญ์เป็นส่วนเกิน 

“ถ้าเราให้ไปก่อนปัญหาทุกอย่างคลี่คลายหมดเลย ที่มันไม่คลี่คลายเพราแต่ละคนอยากจะได้ๆ ฉันต้องได้เท่านี้เท่านั้น แต่ถ้าเราให้ก่อน ปัญหาคลี่คลายและอูฐตัวนั้นมันก็กลับมาหาเราอีก ฉะนั้นตอนนี้ผมอายุ 37 ปี ถ้าเทียบคิดเวลาเป็นชั่วโมงเท่ากับ 10,000 โดยที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 ชั่วโมงต่อ1ชีวิต ผมจึงทำทุกวันให้เหมือนเป็นวันพิเศษ เพื่อสร้างความพิเศษเพิ่มขึ้นบนโลกใบนี้เช่นเดียวกับเลือด 1 ยูนิต สามารถแบ่งช่วยรักษาผู้คนได้ถึง 3 ประเภท และเหนือกว่านั้น 1 ชีวิตที่แลกเลือดมีลมหายใจต่อ อีก 10 ชีวิตรอบตัวเขาก็มีลมหายใจไปด้วย”

ทำความรู้จัก "โต้ง-ศราวุฒิ สินปรุ" วิศวกรหัวใจน่ากราบกับโครงการท้าทำความดี  "RunBloodNow"

ทำความรู้จัก "โต้ง-ศราวุฒิ สินปรุ" วิศวกรหัวใจน่ากราบกับโครงการท้าทำความดี  "RunBloodNow"

ทำความรู้จัก "โต้ง-ศราวุฒิ สินปรุ" วิศวกรหัวใจน่ากราบกับโครงการท้าทำความดี  "RunBloodNow"