posttoday

ปลายแสน ต้นล้าน "เปิดต้นทุน 1 ชีวิต" หากเกิดอุบัติเหตุ

17 ธันวาคม 2561

วิธีคำนวณค่าสินไหมทดแทนเยียวยา-บาดเจ็บ-พิการ-ตายจากอุบัติเหตุ ผู้ใช้ถนนพึ่งตระหนัก

วิธีคำนวณค่าสินไหมทดแทนเยียวยา-บาดเจ็บ-พิการ-ตายจากอุบัติเหตุ ผู้ใช้ถนนพึ่งตระหนัก  

สืบเนื่องจากการขับขี่ใช้รถบนท้องถนนในประเทศไทยปัจจุบัน เกิดเหตุความสูญเสียขึ้นหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ฯลฯ และล่าสุดเรื่องของสมรรถภาพในการขับขี่ของผู้สูงวัย สะท้อนความรับผิดชอบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนที่ต้องพึงพินิจพิเคราะห์ “การขับขี่ยิ่งขึ้น” เหนือค่าประกันบอดี้ตัวถังรถ ค่าซ่อมทำสีรถ 

อย่างไรก็ตามชีวิตคนมีค่ามากกว่าทรัพย์ทั้งหลายสิ่งและหากตีราคามูลค่าสูงถึงหลักล้านในการเยียวยาผู้ประสบภัย โดย “ทนายเกิดผล แก้วเกิด” ให้ความรู้เรื่อง การเยียวยาอุบัติเหตุ การคิดค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายที่กำหนดไว้ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ

ปลายแสน ต้นล้าน "เปิดต้นทุน 1 ชีวิต" หากเกิดอุบัติเหตุ

1.ได้รับบาดเจ็บไม่ถึงชีวิตหรือทุพพลภาพ

ค่ารักษาพยาบาลทั้งปัจจุบันและอนาคต อาทิ ค่ารักษาพยาบาลที่ผู้ป่วยบาดเจ็บหลังเกิดเหตุ ค่ากายภาพบำบัดหลังเกิดอุบัติเหตุ ค่าเดินทางมาพบแพทย์ ค่าศัลยกรรม  

ค่าขาดรายได้และค่าขาดประโยชน์ อาทิ พนักงาน/ลูกจ้าง ได้รับบาดเจ็บไม่สามารถทำงานได้ปกติ หรือเจ้าของธุรกิจเดินทางทำธุรกิจไม่ได้ขาดรายได้ เจ้าของธุรกิจไปเจราธุรกิจไม่ได้เสียค่าขาดประโยชน์ รวมไปถึงกรณีพาหนะได้รับความเสียหายไม่สามารถไปประกอบธุรกิจได้จัดเป็นค่าเสียประโยชน์  

โดยวิธีการคำนวณให้นำ “อายุxรายได้xอนาคต” ตัวอย่างเช่น ผู้เกิดเหตุได้รับอุบัติเหตุถูกรถชนบาดเจ็บต้องพักรักษาตัว 2 เดือน โดยเป็นลูกจ้างรายได้วันละ 300 บาท ในขณะที่มีความสามารถในการประกอบอาชีพยังมีการทำงานโอทีวันหนึ่ง 5 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 50 บาท รวมเป็นเงิน 550 บาทในหนึ่งวัน สัปดาห์หนึ่งทำงาน 6 วัน ตกเป็นเงิน 3,300 บาท หนึ่งเดือนรายได้สุทธิ 13,200 บาท หากต้องหยุดงาน 2 เดือน ก็เท่ากับว่าคิดเป็นเงินค่าเยียวยาทั้งสิ้น 26,400 บาท ในการเยียวยานอกเหนือจากการรักษาค่าพยาบาล

ส่วนในกรณีเกิดเหตุทุพพลภาพหากผู้ประสบเหตุ อายุ 20 ปี  มีร่างกายที่แข็งแรงให้นำรายได้ต่อหนึ่งปีคูณด้วยจำนวนอายุ 60 ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์การเกษียณอายุงาน อาทิเช่น เงินเดือน 10,000 บาท ทำงาน 1 ปี มีรายได้ 120,000 บาท เท่ากับว่า 120,000 x 40 เท่ากับ 4,800,000 บาท  ทั้งนี้ค่าความสามารถในการประกอบอาชีพในอนาคตสามารถเพิ่มหรือลดลงได้ตามหน้าที่การงานโดยขึ้นอยู่กับการยื่นพิสูจน์ต่อศาลของผู้ประสบเหตุ

ค่าความเสียหายทางด้านร่างกายและจิตใจ ไม่สามารถประเมินค่าเป็นราคาได้ อาทิเช่น  สาวพริตตี้ได้รับอุบัติเหตุกรามหัก ใบหน้าได้รับความเสียหาย ในอนาคตไม่สามารถประกอบอาชีพได้เช่นเดิมอีก หรือ นักมวยอนาคตไกลสามารถเป็นแชมป์ได้ประสบเหตุแขนขาดไม่สามารถชกมวยอาชีพได้ต่อไป ตรงส่วนนี้ก็จะมีการคิดคำนวณเยียวยาเพิ่มเติมนอกเหนือค่าเยียวยาข้างต้น ตั้งแต่ระดับแสนบาทจนถึงล้านบาท โดยอยู่ที่ดุลพินิจของศาลจากการพิสูจน์ต่อศาลของผู้เสียหาย

ปลายแสน ต้นล้าน "เปิดต้นทุน 1 ชีวิต" หากเกิดอุบัติเหตุ

2.กรณีเสียชีวิตการเยียวยามีทั้งหมด 2 รูปแบบ

ค่าปลงศพหรือค่าประกอบพิธีกรรมศาสนา

ค่าขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู ได้แก่บิดา มาดา ภรรยา หรือบุตรที่อายุไม่เกิน 20 ปี

โดยวิธีการคำนวณแตกต่างจากกรณีบาดเจ็บทุพพลภาพ การคิดคำนวณจะคิดคำนวณค่าเยียวยาจากการที่บุคคลประสบเหตุ ก่อนเสียชีวิตมีพฤติการณ์การดูแลครอบครัวอย่างไร เช่นตัวอย่าง พนักงานขับรถอายุ 30 ปี เงินเดือนสุทธิ 10,000 บาท มีภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัว ผ่อนรถ 2,000 บาท ค่าบ้าน 4,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000บาท ที่เหลือใช้จ่ายส่วนตัว 2,000 บาท ส่งให้บุพการี 2,000 บาท ให้นำค่าเลี้ยงดูคูณจำนวนปีและคูณด้วยอายุการทำงานจนถึงเกณฑ์อายุเกษียณ เท่ากับ 2,000x12x30 รวมเป็นค่าขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูทั้งสิ้น 720,000 บาท

“สิ่งสำคัญการพิสูจน์ต่อศาลให้ดีที่สุดคือการทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือนให้ละเอียดครบถ้วน  เนื่องจากบางอาชีพไม่มีเอกสารเงินเดือน ทำให้ยากต่อการพิสูจน์ แต่หากมีวินัยในการทำบัญชีให้ชัดเจน ต่อให้ขายหมูปิ้งก็พิสูจน์ได้ เพราะธุรกิจมีใบซื้อขายชัดเจน ทุกเช้าซื้อหมูมาทำหมูปิ้งกี่กิโลกรัม เก็บบิลราคาให้ครบถ้วน นอกจากนี้ก็อยากจะให้ผู้ขับขี่มีความสำนึกอยู่ในตัว ช่วยกันระมัดระวัง เกิดความเสียหายขึ้นต้นทุนชีวิตแต่ละคนสูงมาก ตั้งแต่หลักแสนบาทปลายๆ จนถึงหลายล้านบาท ฉะนั้นคุณควรมีความรับผิดชอบก่อนสตาร์ทรถทุกครั้ง”