posttoday

เปิดกฎหมายเยียวยาผู้เสียชีวิต จากเหตุก่อการร้ายที่ฝรั่งเศส

17 ธันวาคม 2561

อัยการเผยข้อกฎหมายการเยียวยาของประเทศฝรั่งเศส หากญาติเสียชีวิตจากเหตุก่อการร้าย

อัยการเผยข้อกฎหมายการเยียวยาของประเทศฝรั่งเศส หากญาติเสียชีวิตจากเหตุก่อการร้าย

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.  ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (ทุน ก.พ.) ที่ไปศึกษากฎหมายที่ปารีสและสตราสบูร์ก โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายข้อกฎหมายการเยียวยาของประเทศฝรั่งเศส หลังเกิดเหตุนายอนุพงษ์ สืบสมาน นักท่องเที่ยวไทยถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุก่อการร้าย ว่า กฎหมายฝรั่งเศสกำหนดให้มีกองทุนช่วยเหลือผู้เสียหายจากการก่อการร้ายและการกระทำความผิดทางอาญา ซึ่งผู้เสียหายจากการก่อการร้ายทุกคนไม่ว่ามีสัญชาติใดล้วนมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาทั้งสิ้น และผู้เสียหายยังคงมีสิทธิจากบริษัทประกันภัยที่ทำไว้ควบคู่กันได้

กรณีเสียชีวิตจากการก่อการร้าย กฎหมายฝรั่งเศสกำหนดให้จ่ายเงินเยียวยากับญาติตามกฎหมาย อาทิ บุตร ภรรยา บิดา มารดา ปู่ย่าตายาย หลาน และพี่น้องของผู้เสียชีวิต ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ของผู้เสียชีวิตที่ต้องรับผิดชอบต่อญาติ โดยจำนวนเงินเยียวยาแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

ขณะที่การยื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุน อาจจะเป็นอัยการประจำสาธารณรัฐเป็นผู้ดำเนินการและกองทุนจะติดต่อกับผู้เสียหายเพื่อจ่ายเงินเยียวยาต่อไป หรือผู้เสียหายสามารถติดต่อโดยตรงไปยังกองทุนเพื่อขอรับเงินเยียวยา โดยกองทุนจะให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยพิจารณาจากเอกสารต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด ภายในระยะเวลา 1 เดือนนับจากวันที่ยืนรับคำร้องกองทุนจะจ่ายเงินเยียวยาก้อนแรกให้ผู้เสียหายก่อน เพื่อจะได้มีเงินไว้ใช้จ่ายอันจำเป็นอันเนื่องมาจากเหตุก่อการร้าย ส่วนเงินเยียวยาความเสียหายที่เหลือทั้งหมดจะจ่ายให้ในภายหลังหรือในระยเวลา 3 เดือน นับจากวันที่กองทุนได้รับเอกสารครบถ้วน

กรณีผู้เสียหายปฏิเสธข้อเสนอจำนวนเงินเยียวยา ผู้เสียหายจะต้องส่งหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเพื่อปฏิเสธการรับเงินเยียวยาไปยังกองทุนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รับข้อเสนอจากกองทุน จากนั้นผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ เพื่อขอให้พิจารณากำหนดจำนวนเงินเยียวยาความเสียหายที่เหมาะสมได้ และหากศาลมีคำตัดสินอย่างไร กองทุนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเยียวยาให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาล สำหรับความเสียหายต่อจิตใจจะพิจารณาความเสียหายจากความสัมพันธ์กับผู้เสียชีวิตที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ การจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายทางจิตใจจะพิจารณาจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายจากลำดับความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับผู้เสียชีวิต เช่น

- สามีหรือภรรยา กรณีคู่สมรสเสียชีวิต ได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 35,000 ยูโร (ปัจจุบัน 1 ยูโร ประมาณ 37 บาท) หรือประมาณ 1,295,000 บาท

- บิดามารดา กรณีบุตรที่เสียชีวิตมีอายุไม่เกิน 25 ปี ได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 35,000 ยูโร หรือประมาณ 1,295,000 บาท

- บิดามารดา กรณีบุตรที่เสียชีวิตมีอายุเกิน 25 ปี และพักอาศัยอยู่ด้วยกัน ได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 30,000 ยูโร หรือประมาณ 1,110,000 บาท

- บิดามารดา กรณีบุตรที่เสียชีวิตมีอายุเกิน 25 ปี แต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกัน ได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 25,000 ยูโร หรือประมาณ 925,000 บาท

- พี่และน้อง กรณีพักอาศัยอยู่ด้วยกันกับผู้เสียชีวิต ได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 15,000 ยูโร หรือ 555,000 บาท

- พี่และน้อง กรณีไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกันกับผู้เสียชีวิต ได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 12,000 ยูโร หรือ 444,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีอัตราการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายทางจิตใจที่กำหนดไว้กรณีผู้เสียหายเป็นลูกหลาน และปู่ย่า ตายาย ของผู้ตายอีกด้วย

ดร.ธนกฤต ระบุว่า กรณีการเสียชีวิตของนายอนุพงษ์ ตอนนี้เจ้าหน้าที่สถานทูตไทย ณ กรุงปารีส ได้เข้ามาช่วยเหลือเบื้องต้นในการขอรับเงินเยียวยาความเสียหายจากกองทุนแล้ว ซึ่งยังคงมีขั้นตอนที่ผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

ที่มา : https://www.facebook.com/shares/view?id=1975456112550291&av=100001638406698

เปิดกฎหมายเยียวยาผู้เสียชีวิต จากเหตุก่อการร้ายที่ฝรั่งเศส ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล