posttoday

จากคนบาปสู่นักบุญ "ขนมปังเทวดา" พ่อค้าผู้เอื้ออาทรแห่งโรงพยาบาลสงฆ์

13 ธันวาคม 2561

เส้นทางชีวิตของ "กองศักดิ์ จันทะสี" พ่อค้าขายขนมปังย่านโรงพยาบาลสงฆ์ กับเรื่องราวความหวังที่ต้องการสร้างสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

เส้นทางชีวิตของ "กองศักดิ์ จันทะสี" พ่อค้าขายขนมปังย่านโรงพยาบาลสงฆ์ กับเรื่องราวความหวังที่ต้องการสร้างสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

**********************************

โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล

จากย่านศรีอยุธยาจนถนนกรุงเกษมผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นมักจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับ ชายหนุ่มวัยกลางคนเจ้าของรถเข็นขายขนมปังที่มักปักหลังอยู่ย่านโรงพยาบาลสงฆ์

มองเผินๆรถเข็นขนมปังของเขาอาจดูเหมือนรถขายขนมปังทั่วๆไป ทว่าป้ายอักษรตัวโตด้านหน้าที่ระบุว่า "คนท้องกินฟรี เด็ก คนยากไร้ คนพิการ ผู้ป่วยไข้ทุกโรค กินฟรี ไม่เสียเงิน" ก็ทำให้ใครหลายคนต้องสะดุดใจ

"กองศักดิ์ จันทะสี" คือชื่อของชายวัย 43 ปี พ่อค้าขายขนมปังผู้นี้....

"มันไม่ง่ายเลยชีวิตตัวคนเดียว" ชายหนุ่มเอ่ยปากเป็นคำแรกก่อนเริ่มบทสนทนากับโพสต์ทูเดย์ และต่อจากนี้เป็นเรื่องราวชีวิตของพ่อค้าขนมปังธรรมดาๆ ที่มีหัวใจอันยิ่งใหญ่ของการ "ให้"

จากคนบาปสู่นักบุญ "ขนมปังเทวดา" พ่อค้าผู้เอื้ออาทรแห่งโรงพยาบาลสงฆ์

อดีตเด็กบ้านแตกหลงเดินทางผิด

กองศักดิ์ เกิดเมื่อปี2518 ที่บ้านโพนสูง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เป็นลูกคนกลางจากทั้งหมด 6 คน ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ชีวิตเติบโตมาพร้อมความแร้นแค้นและผืนนาอันแห้งแล้งในสมัยนั้น

"มันไม่ง่ายเลยชีวิตเมื่อก่อนนี้ ที่นาไม่ได้ดีแบบเดี๋ยวนี้เพราะไม่มีเทคโนโลยี นาบ้านผมแค่ 7 ไร่ ยังดูแลให้มันดีขึ้นไม่ได้เลย ผืนนามันมีหินมีทรายปนทำอย่างไรก็แก้ไม่ตก เราแค่ชาวบ้านไม่มีความรู้ ก็ต้องอดๆ อยากๆ ไข่ 1 ฟองต้องแบ่งกันกินกับพี่น้องทั้งหมด"

กองศักดิ์ เล่าว่า ชีวิตยิ่งยากจนลงอีกเมื่อพ่อมาประสบอุบัติเหตุตกบันไดเสียชีวิต ขณะที่แม่ก็ไปแต่งงานใหม่ ชีวิตวัยเด็กจึงเหมือนกับขาดความอบอุ่น เขาเริ่มเกเรไม่รักเรียน สนใจแต่อยากจะออกไปใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง

"ผมยังเคยบอกกับแม่เลยว่าจะไปยึดอาชีพขอทาน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไปขอ เพราะไปรู้ว่าขวดกับเศษเหล็กมันขายได้ก่อนเลยไปเก็บขายแทน เลิกเรียนแค่ป.6 ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนั้น"

กระทั่งอายุเข้าเกณฑ์ทำบัตรประชาชนเปลี่ยนจากเด็กชายเป็นนายกองศักดิ์ เขาก็ออกเดินทางจากบ้านเกิดไปแสวงหาความหมายของชีวิต พร้อมความหวังที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

"ครั้งแรกแบกกระเป๋าเสื้อผ้า 2-3 ชุด มาทำงานเป็นเด็กปั๊มที่ อ.ศรีราชาได้เงินเดือน 700 บาท"

กองศักดิ์ เล่าว่า วินาทีที่ได้เงินเดือนแรกนั้น ดีใจยกใหญ่เดินไปซื้อน้ำอัดลมตะบี้ตะบันกินๆ เพราะในวัยเด็กกว่าจะได้กินน้ำอัดลมก็ต้องมีงานบุญใหญ่หรือไม่ก็ช่วงฤดูเกี่ยวข้าวเท่านั้น

เวลาผ่านไป ชีวิตกองศักดิ์โลดโผนโจนทะยานไปกับการแสวงหา เปลี่ยนงานโน้นทีงานนี้หน เป็นตั้งแต่เด็กเสิร์ฟไร้ที่นอนอาศัยเอนหลังหลับข้างโต๊ะ กินข้าวเหลือของแขก จนกระทั่งเป็นเด็กเดินตั๋วหนังงีบหลับบนเบาะเก้าอี้ในห้องแอร์

"เรามันก็เด็กพ่อแม่ไม่ค่อยสั่งสอน ใครว่าอะไรหน่อยก็เลือดร้อนไม่ฟังคำเตือน ไอ้ยาจ๊อกกี้หรือยาม้าก็เคยกินเพราะมันกินแล้วมีแรงทำงานไม่หยุด จนต้องออก ชีวิตไร้แก่นสาร คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ได้ในตอนนั้น มันจะดิ่งลงเหวอย่างเดียว สุดท้ายกลับมาตายรังที่บ้าน"

"ตอนกลับบ้านว่างๆ เพื่อนในหมู่บ้านก็ชวนมาทำงานเป็นบ๋อยคาเฟ่ที่กรุงเทพฯ เราก็ลุ่มหลงไปกับแสงสี  ชีวิตพังเละ ติดหญิง โดนสาวหลอก จนมีแฟนก็ยังไม่เลิกนิสัยเสเพลกระทั่งผู้หญิงมีคนมาจีบที่ดีกว่าเรา เขาก็ทิ้งเราไป"ชายหนุ่มเล่า

กองศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงนั้นชีวิตเสียหลักอยู่ 3-4 ปี หันหาแต่เหล้าและการพนัน จนกู้หนี้ยืมสิน ห่างไกลความฝันวัยเยาว์ที่อยากสร้างชีวิตที่มีความสุขพร้อมครอบครัวที่อบอุ่น

จากคนบาปสู่นักบุญ "ขนมปังเทวดา" พ่อค้าผู้เอื้ออาทรแห่งโรงพยาบาลสงฆ์

พลิกชีวิตเพราะ "ธรรมะ" ให้สติ

นอกจากวุฒิการศึกษาที่ทำให้อ่านออกเขียนได้ กองศักดิ์เชื่อว่า สิ่งดีๆในนิสัยของเขาที่ทำให้รอดพ้นจากช่วงชีวิตที่ตกต่ำได้ก็คือ "ความมานะ" และที่สำคัญที่สุดก็คือการได้พบ "ธรรมะ" ที่ให้สติในการใช้ชีวิต

"อาจเป็นโชควาสนา หรือ ผีพ่อ ผีบรรพบุรุษก็ไม่รู้จะพูดอธิบายเหตุผลอย่างไร คือทั้งๆ ที่ผมเป็นคริสต์ศาสนิกชน แต่บังเอิญวันหนึ่งขณะที่นั่งดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้านแฟนคนใหม่ จู่ๆ ก็บังเอิญไปเจอรายการธรรมะ จำได้เลยว่าเป็นคำสอนของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม วัดอัมพวัน"

กองศักดิ์ เล่าว่า นับแต่นั้นชีวิตเปลี่ยนไปในบัดดล หยุดดื่มเหล้า เมาการพนัน มั่วกาเม รักษาศีล 5 ได้ครบหมดทุกข้อ พลิกตัวกลับมาตั้งหน้าตั้งตาทำงานสารพัดพร้อมกับเดินหน้าศึกษาธรรมะจากพระอาจารย์บ้าง สำนักปฏิบัติธรรมบ้าง จนเกิดสติตื่นปัญญามองรู้หนทางแก่นสารของชีวิตตัวเอง 

"ถ้ามีใครสักคนในเวลานั้นบอกผมในเรื่องการฝึกสติตื่นรู้ สอนเรื่องจิตที่ตื่นจากการหลง ผมก็คงไม่หลงทางไกลทำร้ายตัวเองและคนรอบข้างที่ผ่านๆ มาในชีวิต ดังนั้นพอผมคิดได้ ผมจึงเลือกที่จะมอบโอกาสเหล่านี้ให้กับคนอื่นบ้างถ้ามีโอกาส"

จากคนบาปสู่นักบุญ "ขนมปังเทวดา" พ่อค้าผู้เอื้ออาทรแห่งโรงพยาบาลสงฆ์

รุ่งอรุณแห่ง "ขนมปังเทวดา"

ปี 2557 กองศักดิ์หันกลับมาโฟกัสที่การขายขนมปังอีกครั้ง จากคำแนะนำของรุ่นพี่ที่นับถือซึ่งบอกแก่เขาว่า "จงทำอะไรที่ตัวเองถนัดแล้วสิ่งนั้นจะออกมาดี"

เขาเริ่มต้นขายขนมปังพร้อมความตั้งใจที่จะมอบสิ่งดีๆและการแบ่งปันให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นในสังคมจึงตัดสินใจเขียนป้ายติดหน้ารถเข็นว่า "คนท้องกินฟรี เด็ก คนยากไร้ คนพิการ ผู้ป่วยไข้ทุกโรค กินฟรี ไม่เสียเงิน" และออกขายย่านโรงพยาบาลสงฆ์

"แรกๆ ก็ทำได้น้อย เพราะต้นทุนเรามีน้อย แต่หลังๆ พอเราทำแจกคนผ่านไปผ่านมาหรือคนที่แวะมาทำธุระ เขาเห็นที่เราทำ เขาก็ค่อยๆ ร่วมสมทบทุน เกิดเป็นโครงการขนมปังฝาก จำนวนแจกก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยที่ยอดในแต่ละวันก็จะไม่เหมือนเดิม วันนี้แจก 300 ชิ้น พรุ่งนี้อาจจะเพิ่มขึ้นมาอีก 500 ชิ้น หักลบจากที่แจกยอดมันก็ขึ้นเป็น 1,000 ชิ้น 10,000 ชิ้น"

ชายหนุ่มบอกว่า แม้รายได้จะไม่ได้มากมาย แต่เทียบไม่ได้เลยกับความสุขใจที่มีเพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ล้ำค่าต่อชีวิตอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ 

"การเป็นพ่อค้ายิ่งต้องให้ทานบ่อยๆ ถ้าเราให้ทานบ่อยๆ ทีนี้เวลาเราขายของไม่ได้กำไร เราก็จะคิดได้ว่าเวลาเราให้ไปฟรีๆ เรายังให้ได้ แล้วนับประสาอะไรถ้าเราขายของกำไรได้น้อย ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้"กองศักดิ์กล่าว

"ผมขายทุกวันเพราะคนป่วยไข้จากการทำงานมีทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ บางทีเขาท้อเขาทุกข์เขาจะได้กำลังใจ ได้คำพระจากเรากลับไปช่วยให้เขามีกำลังใจต่อสู้ปัญหา ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ งดขายเนื่องจากผมเปิดสอนทำขนมปังด้วย ผมก็จะพาคนที่สนใจทำขนมปังขายไปซื้ออุปกรณ์เพื่อให้เขาเลี้ยงชีพและถ้าไม่มากเกินไปก็นำไปช่วยกันทำแบบผมให้สังคมนั้นดีขึ้น"

จากคนบาปสู่นักบุญ "ขนมปังเทวดา" พ่อค้าผู้เอื้ออาทรแห่งโรงพยาบาลสงฆ์

อย่ามัวช้า รอชาติหน้า

"ชาติหน้ามาก่อนพรุ่งนี้" เป็นประโยคที่ กองศักดิ์ ยึดถือเสมือนเป็นเครื่องเตือนใจ ให้ระลึกถึง "การให้" ที่เขาทำอยู่ในทุกๆวัน

กองศักดิ์เล่าว่า ปัจจุบันโครงการร้านขนมปังเทวดายังต่อยอดแจกผลไม้อย่างกล้วย, ส้ม, และกำลังคิดหาสิ่งดีๆ มามอบให้กับกลุ่มเยาวชน เนื่องจากเด็กๆ กำลังให้ความสนใจเข้ามาพูดคุยถามถึงเหตุผลว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร ซึ่งเขามักจะตอบว่า "ความสุขและรอยยิ้มของหนูที่ลุงได้"

เจ้าตัวหวังว่าการกระทำของเขาจะเป็นแนวทางชี้นำให้ผู้คนได้ตระหนักนึกถึง "การให้" และไม่หลงผิดในชีวิตเหมือนตัวเขาอย่างที่ผ่านมา 

“ชีวิตเรามันสั้น ผมก็ไม่รู้จะอยู่จนถึงความฝันผมสำเร็จหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว หนึ่งในนั้นคือชีวิตผม ชีวิตครอบครัวผม ลูกศิษย์ที่ฝึกอาชีพ โครงการขนมปังฝากที่ผู้ใจบุญช่วยเหลือกันลงทุน"

"ผมจึงอยากทำทุกๆ วัน คิดอะไรดีๆ ได้ ก็ทำ และยิ่งถ้าเราร่วมมือช่วยกัน ชีวิตสั้นๆจะเต็มไปด้วยความงามยาวต่อไปและส่งต่อไปให้แก่กันเรื่อยๆ" 
 

จากคนบาปสู่นักบุญ "ขนมปังเทวดา" พ่อค้าผู้เอื้ออาทรแห่งโรงพยาบาลสงฆ์